สถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ยังอยู่ในระยะเฝ้าระวัง หลังพบชาวบ้านร่วมกันชำแหละและกินเนื้อวัวดิบเสียชีวิต 1 รายที่บ้านโคกสว่าง ต.เหล่าหมี อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร และยังมีผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงอีกหลายร้อยคนต้องเฝ้าดูอาการ
นพ.ณรงค์ จันทร์แก้ว นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยความคืบหน้าล่าสุดสถานการณ์โรคแอนแทรกซ์ในพื้นที่ อ.ดอนตาล จ.มุกดาหาร ว่า สถานการณ์ผู้ป่วยดีขึ้น จากข้อมูลวันที่ 5 พฤษภาคม 2568ไม่มีผู้ป่วยยืนยันรายใหม่ รวมถึงผู้ป่วยเข้าข่ายสงสัยติดเชื้อเพิ่มเติม ถือว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้
นพ.ณรงค์ กล่าวว่า จากกรณีที่เกิดขึ้นมียอดผู้ป่วยสะสม 3 ราย ในจำนวนนี้เสียชีวิต 1 ราย รักษาในโรงพยาบาล 2 ราย ทั้งนี้ มีผู้ป่วยและผู้สัมผัสที่ต้องเฝ้าระวังโรคทั้งหมด 636 ราย ในจำนวนนี้พ้นระยะการเฝ้าระวังโรคแล้ว 538 ราย เหลือผู้ที่ต้องเฝ้าระวังอีก 98 ราย จะสิ้นสุดการเฝ้าระวังโรคในวันที่ 7 พ.ค.นี้
“ทั้งหมดเป็นผู้สัมผัสจากระบบผิวหนังและระบบทางเดินอาหารที่มีระยะฟักตัวของเชื้อ 7 วัน ส่วนการสัมผัสผ่านการสูดดมเอาสปอร์เชื้อเข้าสู่ร่างกายต้องเฝ้าระวัง 60 วัน แต่ไม่มีผู้เข้าข่ายสงสัยจากกรณีนี้ หลังจากนี้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ควรงดกินเนื้อดิบหรือกินเนื้อวัวปรุงสุกที่ใช้ความร้อนไม่น้อยกว่า 120 องศาเซลเซียส หรือต้มในน้ำนาน 30 นาที จึงจะฆ่าเชื้อโรคแอนแทรกซ์ได้”
นพ.ณรงค์ กล่าวต่อว่า สิ่งสำคัญที่ต้องทำอย่างเข้มข้นจากนี้คือ การหาที่มาของเชื้อโรคแอนแทรกซ์ จากการทำงานร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร สอบสวนโรคพบว่ามีการชำแหละเนื้อวัว 2 วง วงแรก ชำแหละวันที่ 12 เม.ย. เป็นวงที่พบผู้เสียชีวิตและผู้ป่วยยืนยัน
จากการตรวจหาเชื้อสปอร์ที่ดินบริเวณชำแหละเนื้อวัวไม่พบสปอร์ แต่กลับไปพบเชื้อสปอร์ที่เขียงและมีดของผู้เสียชีวิต ทั้งวัวที่ถูกเชือดเมื่อวันที่ 12 เม.ย. ตรวจไม่พบเชื้อแอนแทรกซ์ ต้องค้นหากันต่อไปว่าต้นตอของเชื้อแอนแทรกซ์วงที่ 1 มาจากที่ใด
ส่วนวงชำแหละที่ 2 ชำแหละวันที่ 28 เม.ย. พบเชื้อสปอร์ที่ดินบริเวณชำแหละ แต่ตรวจพบเชื้อแอนแทรกซ์ในกระดูกวัวที่ถูกเชือดในวงที่ 2 แต่ก็ไม่พบผู้ป่วยจากวงนี้ และผู้เสียชีวิตก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับวงที่ 2 ด้วยเช่นกัน โดยวงที่ 2 นี้มีการแจกเนื้อวัวให้กับ 22 ครัวเรือน ทั้ง 22 ครัวเรือนมีเจ้าหน้าที่ไปทำการฆ่าเชื้อโรคในตู้เย็น ห้องครัว เรียบร้อยแล้ว นำมีดและเขียงมาฆ่าเชื้อกลบฝัง และแจกมีดและเขียงชุดใหม่ให้
ส่วนบริเวณที่ชำแหละวัวทั้ง 2 วง เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ฆ่าเชื้อด้วยโซดาไฟและนำดินมากลบ คิดว่าคงไม่มีปัญหา แต่จะเฝ้าระวังดินบริเวณนั้นก่อน นอกจากนี้ยังเก็บตรวจสภาพดินบริเวณริมแม่น้ำโขง เพื่อหาเชื้อ เพราะอาจมีน้ำท่วมขังและมีวัวตายลอยน้ำมาเพื่อเป็นการเฝ้าระวังจะทราบผลจากห้องปฏิบัติการในอีก 4 วัน
นพ.ณรงค์ กล่าวอีกว่า เรื่องที่เป็นโจทย์ใหญ่คือจะต้องหาที่มาของเชื้อว่า ขนวัวมาจากที่อื่นหรือไม่ เพราะวัวที่นำมาชำแหละเป็นวัวที่ยืนยันว่าเลี้ยงในพื้นที่ 1 เดือนก่อนนำมาชำแหละ เบื้องต้นสันนิษฐานว่า เชื้ออาจจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมในดินเพราะสปอร์ของเชื้อแอนแทรกซ์อยู่ได้นาน 10-20 ปี อาจจะไหลมาตามน้ำ และบริเวณที่ชำแหละเป็นบริเวณที่มีน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน สปอร์ของแอนแทรกซ์มาตกและฝังตัวในดิน ก็ต้องรอการพิสูจน์ก่อน




ด้าน นายสัตวแพทย์ ต่อพงศ์ ประเสริฐสังข์ ปศุสัตว์จังหวัดมุกดาหาร เปิดเผยว่า เพื่อความมั่นใจสำหรับเกษตรกรกับประชาชน โรคแอนแทรกซ์เป็นโรคสัตว์สู่คน โรคจากสิ่งแวดล้อมสู่คน หากเกิดจากสัตว์เองต้องควบคุมโรคให้อยู่ในวงที่จำกัด โดยได้ดำเนินการตามมาตรการ ดังนี้
1.กักฝูงโคที่เสียง 123 ตัว ในเกษตรกร 21 คน ที่สงสัยว่าเป็นต้นเหตุการติดเชื้อในคนฉีดยาปฏิชีวนะ penicilin 7 วันและกักสังเกต อาการอย่างน้อย 20 วัน
2.ไม่ให้ มีการนำวัวไปเลี้ยงในพื้นที่แปลงหญ้า หรือแหล่งน้ำในบริเวณที่มีความเสี่ยงการปนเปื้อนเชื้อ
3.ฉีดวัคซีนป้องกันโรคแอนแทรกซ์ในโค กระบือ ที่เลี้ยง ในพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กม จำนวน 1,222 ตัว
4.ทำลายเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงด้วยโซดาไฟ โดยเฉพาะจุดเสี่ยงที่สำคัญ เช่น ที่เชือด สิ่งแวดล้อม
5.ประชาส้มพันธ์ แจ้งเกษตรกร หากทพบสัตว์ ป่วย ตาย ให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ ห้ามชำแหละ หรือนำไปบริโภค และไม่ให้บริโภคเนื้อดิบ
6.สอบสวนโรค และค้นหาสัตว์ป่วย รวมถึงเฝ้าระวังโรคในพื้นที่ เก็บตัวอย่างสิ่งแวดล้อม น้ำ ดิน ในพื้นที่เสี่ยง ส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการ
7.ตั้งจุดตรวจโดยจนท.ด่านกักกันสัตว์ เพื่อควบคุมการเคลื่อนย้ายสัตว์ ไม่ให้นำสัตว์ในพื้นพื้นที่เสียงออกนอกพื้นที่
ทั้งนี้ จังหวัดมุกดาหารได้ตั้งศูนย์ประสานงานร่วมฯทั้ง ปกครอง สาธารณสุข ปศุสัตว์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่วัดโพนสว่าง บ้านโคกสว่าง หมู่ 6 ต.เหล่าหมี อ.ตอนตาล จ.มุกดาหาร


