พิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เผยถึงการพบหารือกับ อู๋ จื้ออู่ อัครราชทูต สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย พร้อม จาง เซียวเซียว อุปทูตด้านเศรษฐกิจและการค้าประจำสถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย วานนี้ (18 เมษายน 2568) ว่า ได้มีโอกาสนำทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งได้รับความนิยมอย่างมากในจีน ไปให้ท่านเอกอัครทูตจีนได้ชิม ซึ่งได้รับคำชื่นชมว่าอร่อยมาก สมกับเป็นที่รับรู้กันว่า ทุเรียนไทยมีรสชาติที่พิเศษ อยากเห็นยอดการนำเข้าทุเรียนไทยไปจีนเติบโตต่อเนื่อง พร้อมทั้งอยากเห็นการนำเข้าเป็นไปอย่างราบรื่นตลอดฤดูกาลที่ทุเรียนออกมาก
ทั้งนี้ รมว.พิชัย ได้เน้นย้ำให้ทางการจีนผ่อนปรนมาตรการตรวจสอบสารปนเปื้อน พร้อมทั้งขอให้เพิ่มความรวดเร็วในการตรวจผ่านด่าน เพิ่มเครื่องมือและอุปกรณ์การตรวจ รวมทั้งเพิ่มจำนวนเจ้าหน้าที่ เพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่จะส่งออกไปยังตลาดจีนในช่วงฤดูผลไม้
พร้อมทั้งได้รับคำแนะนำจากทางการจีนว่า ควรจัดเกรด ควบคุมคุณภาพของล้งในพื้นที่ต่างๆ ซึ่งหากล้งใด มีสินค้าคุณภาพสูง ไม่ตรวจพบสารอย่างต่อเนื่อง ก็จะสามารถใช้วิธีการสุ่มตรวจบางส่วน หรือตรวจน้อยลง ซึ่งจะได้ประสานคำแนะนำนี้ไปยังกรมวิชาการเกษตรต่อไป
“ผมและนายอู๋ จื้ออู่ ได้พบหารือกันต่อเนื่อง ได้แลกเปลี่ยนสถานการณ์การส่งออกทุเรียนกันโดยตลอด เพื่อให้มั่นใจว่า การส่งออกทุเรียนในปีนี้ จะเป็นไปอย่างราบรื่น กระจายสินค้าเข้าสู่จีนได้รวดเร็ว วันนี้ก็ได้แกะทุเรียนชิมกัน เพื่อสร้างความมั่นใจว่า ทุเรียนไทย เป็นทุเรียนคุณภาพสูง รสชาติชั้นเยี่ยม”
— พิชัย กล่าว

พิชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปี 2567 ไทยส่งออกทุเรียนไปยังจีนคิดเป็นมูลค่าประมาณ 3,700 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 833,000 ตัน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 97.4 ของการส่งออกทุเรียนทั้งหมดของไทย กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ จึงมีแคมเปญเพื่อสร้างภาพลักษณ์ และส่งเสริมการขายทุเรียนไทยในตลาดจีน ด้วยกลยุทธ์ครบวงจร มุ่งสร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพ ขยายช่องทางการค้าผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล และจัดกิจกรรมกระตุ้นการบริโภค หวังขยายตลาดในจีนได้อย่างต่อเนื่อง
1\. สร้างความเชื่อมั่นในคุณภาพทุเรียนไทย โดยสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศทำงานร่วมกับพาณิชย์จังหวัด เน้นจุดเด่นด้านรสชาติ คุณภาพ และความแตกต่างจากคู่แข่งและประสานงานกับด่านศุลกากรและผู้นำเข้า อำนวยความสะดวกด้านการค้าผ่านการอัปเดตข้อมูลแบบเรียลไทม์
2. ขยายตลาดออนไลน์ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล โดยร่วมมือกับอินฟลูเอนเซอร์ (KOLs) และไลฟ์สตรีมเมอร์ บน Douyin (TikTok), Weibo และ Xiaohongshu สร้างคอนเทนต์โปรโมตทุเรียนไทยให้เข้าถึงผู้บริโภคยุคใหม่ และจับมือแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซชั้นนำ เช่น ทีมอล (Tmall) และเจดีดอตคอมป์ เปิดตัวแคมเปญ “Thai Fruit Golden Month Online” กำหนดวันที่ 5 เดือน 5 เป็นวันทุเรียนไทย สร้างจุดขายให้ตรงกับช่วงเวลาที่ดีที่สุดของผลผลิต

3\. ดันยอดขายผ่านงานแสดงสินค้านานาชาติโดยนำทุเรียนไทยเข้าร่วม งานแสดงสินค้านำเข้าในเมืองใหญ่ เช่น งานแสดงสินค้าอาเซียน-จีน และเชิญผู้นำเข้าจีนมาร่วมงานแสดงสินค้าในไทย เช่น THAIFEX เพื่อเปิดโอกาสทางธุรกิจโดยตรง
4. กระตุ้นการบริโภคผ่านกิจกรรมพิเศษ โดยร้านอาหารไทยและคาเฟ่ในจีน นำเสนอเมนูพิเศษ เช่น ข้าวเหนียวทุเรียน ไอศกรีมหมอนทอง และเครื่องดื่มจากทุเรียน รวมถึงการกิจกรรม ‘ทุเรียนทัวร์’ ในซูเปอร์มาร์เก็ตและศูนย์การค้า พร้อมบุฟเฟ่ต์ทุเรียนในงานเทศกาลไทย
