ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า จากปัญหาการแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำธรรมชาติบริเวณชายฝั่งทะเลอ่าวไทยและพื้นที่ใกล้เคียง ที่ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพและวิถีชีวิตของชาวประมงและเกษตรกรในพื้นที่ กรมพัฒนาที่ดินจับมือ 5 หน่วยงานของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการความร่วมมือในการดำเนินโครงการแก้ไขปัญหาเพื่อขจัดภัยจากการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำ เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกรรมและสิ่งแวดล้อม
โดยกรมพัฒนาที่ดิน มีหน้าที่นำปลาหมอคางดำจากการรับซื้อของกรมประมงมาผลิตน้ำหมักชีวภาพ โดยนำปลาหมอคางดำหมักร่วมกับผลิตภัณฑ์จุลินทรีย์สารเร่งซุปเปอร์พด. 2 กากน้ำตาล และสับปะรด ผ่านกระบวนการย่อยสลายที่รวดเร็ว ได้สารอาหารครบถ้วน ทั้งธาตุหลัก ธาตุรอง จุลธาตุ และกรดฮิวมิค ซึ่งช่วยเสริมการเจริญเติบโตของพืช เพิ่มจุลินทรีย์ในดิน และลดการใช้ปุ๋ยเคมี

สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 10 โดยสถานีพัฒนาที่ดิน ทั้ง 6 แห่ง ได้มีการรณรงค์และสาธิตการทำน้ำหมักชีวภาพสูตรปลาหมอคางดำ และได้สนับสนุนให้กลุ่มหมอดินอาสา กลุ่มเกษตรกรปลูกผักปลอดภัย กลุ่มเครือข่ายเกษตรกรที่ ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) รวมทั้งเกษตรกร และประชาชนทั่วไป ขยายผลการใช้น้ำหมักชีวภาพนี้ในพื้นที่มากกว่า 1,500 ไร่ กับพืชที่หลากหลายชนิด เช่น พืชผัก ฝรั่ง ลำไย มะพร้าวน้ำหอม พลู ส้มโอ ลิ้นจี่ เป็นต้น โดยเกษตรกรรายหนึ่งในอำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร ใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำกับต้นลำไย โดยฉีดพ่นทางดิน ทุก ๆ 20 วัน และฉีดพ่นทางใบและลำต้น ทุกๆ 60 วัน ในช่วงเช้า พบว่าผลผลิตมีขนาดใหญ่ขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง 20% ขณะที่เกษตรกรอำเภอกระทุ่มแบน จ.สมุทรสาคร ใช้น้ำหมักปลาหมอคางดำกับต้นฝรั่ง โดยฉีดพ่นทางดิน ทุกๆ 30 วัน และฉีดพ่นทางใบและลำต้น ทุกๆ 10 วัน ในช่วงบ่าย-เย็น พบว่าฝรั่งมีความหวานเพิ่มขึ้น ต้นฟื้นตัวไวหลังเก็บเกี่ยว และแตกตาดอกได้มากขึ้นถึง 30% นอกจากนี้ การยางแห่งประเทศไทย ยังได้นำน้ำหมักสูตรนี้ไปใช้ในแปลงยางพาราทั่วประเทศ โดยมีการผลิตแล้วกว่า 295,000 ลิตร เพื่อสนับสนุนเกษตรกรชาวสวนยางในพื้นที่ที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ


ด้านจังหวัดสงขลา ถึงแม้การระบาดของปลาหมอคางดำจะน้อยกว่าภาคกลาง แต่สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 12 โดยสถานีพัฒนาที่ดินสงขลา ได้ตั้งเป้ากำจัดปลาหมอคางดำกว่า 10,000 กิโลกรัมในปีงบประมาณ 2568 พร้อมผลิตน้ำหมักชีวภาพไปแล้ว จำนวน 1,500 กิโลกรัมในช่วงเดือนพฤษภาคม–มิถุนายนที่ผ่านมา และส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่นำไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่เกษตร การดำเนินงานทั้งหมดนี้อยู่ภายใต้ความร่วมมือของ 6 หน่วยงานในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำ พ.ศ. 2567–2570 อย่างเป็นระบบ ทั้งด้านการควบคุม การใช้ประโยชน์ และการฟื้นฟูระบบนิเวศให้กลับคืนสู่สมดุล การผลิตน้ำหมักชีวภาพจากปลาหมอคางดำไม่เพียงช่วยลดต้นทุนการผลิตพืช แต่ยังเป็นการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน ช่วยควบคุมปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำ และส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ลดการพึ่งพาสารเคมี เป็นอีกหนึ่งก้าวของเกษตรกรรมเพื่อความยั่งยืนที่เกิดจากปัญหา แต่สามารถพลิกวิกฤตให้กลายเป็นโอกาสได้