ธัญญ์พิชชา เถระรัชชานนท์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 2 พิษณุโลก (สศท.2) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตทุเรียนภาคเหนือตอนล่าง ปี 2568 ในพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย แพร่ พิษณุโลก ตาก และน่าน (ข้อมูล ณ 4 มิถุนายน 2568) พบว่า มีเนื้อที่ยืนต้นรวม 100,559 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 92,474 ไร่ (เพิ่มขึ้น 8,085 ไร่ หรือร้อยละ 9) เนื้อที่ให้ผลรวม 71,513 ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 67,980 ไร่ (เพิ่มขึ้น 3,533 ไร่ หรือร้อยละ 5.20) ด้านผลผลิตรวม 54,486 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 48,447 ตัน (เพิ่มขึ้น 6,039 ตัน หรือร้อยละ 12.47) ผลผลิตเฉลี่ย 3,620 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่มีจำนวน 3,490 กิโลกรัม/ไร่ (เพิ่มขึ้น 130 กิโลกรัม หรือร้อยละ 3.72) ซึ่งขณะนี้ ผลผลิตทุเรียนทั้ง 6 จังหวัด ทยอยออกสู่ตลาดตั้งแต่เดือนปลายเดือนเมษายน - มิถุนายน 2568 แล้ว รวม 24,612 ตัน ในส่วนของเดือนกรกฎาคมออกมากถึง 20,755 ตัน และจะออกต่อเนื่องถึงเดือนตุลาคม 2568 อีก 9,119 ตัน โดยเกษตรกรทั้ง 6 จังหวัดนิยมปลูกทุเรียนพันธุ์หมอนทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ทางการค้าผู้บริโภคตลาดทั้งในและต่างประเทศ

ด้านสถานการณ์ราคาทั้ง 6 จังหวัด ที่เกษตรกรขายได้ (ราคา ณ 7 กรกฎาคม 2568) ผลผลิตส่วนใหญ่ร้อยละ 83 จำหน่ายแบบแบ่งเกรด ได้แก่ อุตรดิตถ์ และสุโขทัย จำหน่ายเกรด A – AB ราคา 75 - 80 บาท/กิโลกรัม เกรด C ราคา 50 - 70 บาท/กิโลกรัม และแบบตกเกรด (น้ำหนักต่อผลเกิน 5 กก. และผลไม่สวย) ราคา 35- 45 บาท/กิโลกรัม ส่วนจังหวัดพิษณุโลก ตาก และน่าน จำหน่ายแบบคละเกรด ราคา 70 - 85 บาท/กิโลกรัม
สำหรับความโดดเด่นของทุเรียนแต่ละพื้นที่
· อุตรดิตถ์ แหล่งผลิตทุเรียนที่ใหญ่ที่สุด มีเนื้อที่ยืนต้นมากถึงร้อยละ 57.89 ของเนื้อที่ยืนต้นทุเรียนภาคเหนือ สร้างรายได้ให้จังหวัดกว่า 5,300 กว่าล้านบาท เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทองเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาพันธุ์หลงลับแล และพันธุ์หลินลับแล ซึ่ง “ทุเรียนหลง - หลินลับแล” ได้รับการขึ้นทะเบียน GI เนื้อของทุเรียนเนียนละเอียด หอมอ่อน ๆ รสชาติหวานมัน
· สุโขทัย เกษตรกรปลูกพันธุ์หมอนทอง ภายใต้ชื่อ “หมอนพระร่วง สุโขทัย” ปลูกบนภูเขาและที่ราบเชิงเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีรสชาติดี เนื้อหนาเนียนละเอียด รสชาติเข้มข้นไม่หวานจัด ซึ่งหน่วยงานในพื้นที่ได้ส่งเสริมการผลิตและการจัดการแปลงให้ได้คุณภาพมาตรฐานอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุเรียนหมอนพระร่วงสุโขทัยเป็นที่รู้จักในวงกว้าง และก้าวขึ้นเป็นผลไม้เศรษฐกิจอันดับต้น ๆ ของจังหวัด สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่าปีละ 800 ล้านบาท
· พิษณุโลก จังหวัดมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงเกษตร (Agro-tourism) เชื่อมโยงแหล่งท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะทุเรียนในพื้นที่ตำบลบ้านแยง อำเภอนครไทย ภายใต้ชื่อ “ทุเรียนหมอนทอง บ้านแยงนครไทย พิษณุโลก” ปลูกในพื้นที่ภูเขา แร่ธาตุอุดมสมบูรณ์ ส่งผลให้ทุเรียนมีเนื้อสีเหลืองเข้ม เนื้อแน่นละเอียด รสชาติ หวานมันครีมมี่ และมีกลิ่นหอม ซึ่งจังหวัดตั้งเป้ากระตุ้นเศรษฐกิจในพื้นที่ และส่งเสริมการแปรรูปทุเรียนสร้างมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม การผลิตทุเรียนภาคเหนือบนพื้นที่ภูเขาและลาดเชิงเขายังมีข้อจำกัดต่อการบริหารจัดการตลอดช่วงอายุต้น ขณะที่การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ รวมถึงโรคและแมลงศัตรูพืช ยังกระทบต่อคุณภาพและปริมาณผลผลิต ดังนั้น การยกระดับคุณภาพการผลิตทุเรียนภาคเหนือ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ควรบูรณาการจัดทำโครงการพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม เน้นพื้นที่เป้าหมายในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดสำคัญการสร้างต้นแบบ “ฟาร์มทุเรียนอัจฉริยะ” สู่การขยายผลในแหล่งผลิตสำคัญอื่น ๆ ควบคุมมาตรฐานโรงรวบรวม คัดบรรจุ และล้งทุเรียน พร้อมการกำกับติดตามอย่างเคร่งครัด รวมถึงการประชาสัมพันธ์การผลิตทุเรียนคุณภาพ เพื่อลดความเสี่ยงจากการถูกยกเลิกคำสั่งซื้อ และเร่งผลักดันทุเรียน GI พร้อมคงคุณภาพผลผลิต เพื่อสร้างโอกาสซื้อซ้ำและความมั่นคงในรายได้ของเกษตรกร