ปธ.หอการค้าไทย แนะแนวทางลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ

2 เม.ย. 2568 - 04:44

  • เพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ

  • นำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม

  • ช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง

economic_business_thai_trade_import_product_2_SPACEBAR_Hero_f007a1f9b6.jpg

ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ ประธานกรรมการหอการค้าไทย แถลงข่าวการเตรียมความพร้อมของไทยต่อนโยบายการค้าสหรัฐอเมริกา โดยกล่าวว่า หอการค้าไทยขอขอบคุณรัฐบาลไทยที่ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ภายใต้การบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ซึ่งมีความเสี่ยงที่จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยและโลกอย่างมีนัยสำคัญ 

หอการค้าฯ มีความกังวลเกี่ยวกับมาตรการภาษีของสหรัฐฯ กับทั่วโลก ซึ่งอาจทำให้มีสินค้าจากต่างประเทศทะลักเข้าสู่ตลาดอาเซียนรวมถึงไทย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกของไทยและผู้ประกอบการไทยในทุกระดับต้องเผชิญกับการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น

ที่ผ่านมา หอการค้าฯ ก็ได้มีการร่วมหารือแนวทางรับมือร่วมกำหนดจุดยืนของไทย รวมทั้งให้ข้อมูลและทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของภาครัฐและเอกชนของทั้งไทยและสหรัฐฯ

ปัจจุบันไทยและทั่วโลกยังคงจำเป็นต้องเฝ้าจับตาการประกาศนโยบายภาษีศุลกากรแบบตอบโต้ (Reciprocal Tariff Policy) ของสหรัฐฯ ในวันที่ 2 เมษายน 2568 นี้ ซึ่งมุ่งเน้นไปยังกลุ่ม 15 ประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลทางการค้าด้วยเป็นหลัก

economic_business_thai_trade_import_product_2_SPACEBAR_Photo01_c7997a00b9.jpg

หอการค้าฯ ยังมีความเป็นห่วงต่อภาพรวมและตัวเลขการค้าของไทยซึ่งได้ดุลการค้าจากสหรัฐสูง ไทยจึงมีความเสี่ยงที่จะถูกขึ้นภาษี เนื่องจากเป็นหนึ่งในประเทศที่สหรัฐฯ ขาดดุลการค้าลำดับที่ 11 เพื่อป้องกันผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว โดยไทยเองควรพิจารณาเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร อาหาร และพลังงาน เพื่อลดความกดดันด้านดุลการค้า รวมถึงพิจารณาปฏิรูปโควตาภาษีนำเข้าของไทยกับสหรัฐฯ ให้มีจุดยืนที่เป็นธรรมและสมดุล (Fair and Balance Position) ในการเจรจากับสหรัฐฯ

  • หนึ่งในแนวทางที่สำคัญในการลดแรงกดดันทางการค้าจากสหรัฐฯ คือ การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารที่จำเป็นจากสหรัฐฯ ซึ่งจะช่วยให้ไทยมีจุดยืนที่ดีขึ้นในการเจรจาต่อรอง หากพิจารณามูลค่าการค้าเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรและอาหารพบว่าไทยเกินดุลสหรัฐฯ เพียง 142,634 ล้านบาท โดยประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกเกษตรอาหารอันดับที่ 11 ของโลกและไทยยังมีศักยภาพในการเติบโตอีกมาก ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ให้มากขึ้นได้
  • คือการนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาที่เหมาะสม โดยหอการค้าฯ เสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาการนำเข้าสินค้ากลุ่มต่างๆ ที่จะไม่กระทบต่อผู้ค้าและเกษตรกรภายในประเทศของไทย
  1. พืชอาหารสัตว์ (ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และถั่วเหลือง) ที่ผ่านมาไทยผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ไม่เพียงพอสำหรับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ และปัจจุบันยังต้องนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งอาจเผชิญกับปัญหาสิ่งแวดล้อมและหมอกควัน การเปิดโควตานำเข้าข้าวโพดจากสหรัฐฯ ในช่วงนอกฤดูเก็บเกี่ยวของไทย จะช่วยให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ (โค สุกร ไก่) ไทยมีต้นทุนวัตถุดิบที่ดีและถูกลง ซึ่งจะช่วยให้การส่งออกเนื้อสัตว์ไปต่างประเทศดีขึ้น รวมทั้งจะช่วยผู้บริโภคในประเทศในประเภทเนื้อสัตว์ด้วย 
  2. สินค้าอาหารทะเล เช่น ปลาแซลมอนแช่แข็ง หอยเชลล์ และปลาทูน่าจากเรือชักธงสหรัฐฯ ซึ่งไทยสามารถนำเข้าวัตถุดิบเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมแปรรูปภายในประเทศ 
  3. สินค้าประเภทสุราและเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ (Whisky & Wine)
  4. เครื่องในสัตว์ เพื่อนำมาผลิตและแปรรูปในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยง ทำเป็นสินค้าเกรดพรีเมี่ยมเพื่อส่งออก

หอการค้าฯ มองว่านโยบายภาษีของสหรัฐฯ (Trump Tariff) จะทำให้ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ของโลกเปลี่ยนไปอย่างรุนแรง ซึ่งปัจจุบันประเทศจีน เกาหลีและญี่ปุ่นได้มีการร่วมมือกันทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคกันแล้ว อีกทั้งสหภาพยุโรปก็มีแนวโน้มที่จะร่วมมือกับแคนาดาในการเปิดตลาดกับประเทศต่างๆ ทั่วโลกด้วยเช่นกัน 

ดังนั้น ทางหอการค้าฯ เห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่รัฐบาลของไทยจำเป็นต้องเร่งเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง FTA ไทย-ยุโรป FTA อาเซียน-แคนาดา รวมถึงการปรับปรุง ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ให้สำเร็จภายในปี 2568 นี้ให้ได้ ซึ่งจะทำให้ GDP ของไทยเติบโตขึ้นได้ไม่ต่ำกว่า1 % รวมทั้งการส่งออกจะโตได้ไม่ต่ำกว่า 10 % ซึ่งจะลดผลกระทบจากนโยบาย Trump Tariff

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์