ช่วงเวลาของการนับถอยหลังสิ้นสุดการใช้ใบอนุญาตโทรทัศน์ดิจิทัลที่จะจบลงในปี2572 และคพถาม ความกังวล ทิศทางในอนาคตหลังจากครบกำหนดแล้ว จะไปอย่างไรต่อ จะเหลือสถานีโทรทัศน์ดิจิทัลกี่ช่อง แล้วแพลตฟอร์มใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น จะทำได้อย่างไร ใครจะควบคุม ดูแล
ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ ตอบคำถามที่หลายฝ่ายต้องการคำตอบโดยเฉพาะคนในอุตสาหกรรมทีวีดิจิทัล อนาคตของทีวีจะเป็นอย่างไร
1.นโยบายเกี่ยวกับอนาคตของโทรทัศน์ในประเทศไทยช่วงต่อไป
ดร.พิรงรอง กล่าวว่า การวางนโยบายเกี่ยวกับอนาคตของโทรทัศน์ในประเทศไทย ก่อนอื่นต้องขอเกริ่นถึงกรอบแนวทางการขับเคลื่อนนโยบายของ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ซึ่งจะแบ่งออกได้เป็นด้านการส่งเสริมและด้านการกำกับดูแลสื่อ
ในขณะเดียวกัน ในการทำงานก็มีทั้งการขับเคลื่อนตามอำนาจหน้าที่และภารกิจ กสทช. ซึ่งหมายถึงงานระยะยาวที่ต้องทำอยู่ตลอด เช่น การดูแลเรื่องการใช้คลื่นความถี่ หรือผังและเนื้อหารายการ กับการขับเคลื่อนตามนโยบายรัฐและสถานการณ์สื่อ ซึ่งมี Concept หลักคือ Trusted and Sustainable Media Landscape คือภูมิทัศน์สื่อที่เชื่อถือได้และมีความยั่งยืน
หากจะจำแนกถึงเนื้องานที่ทำ ก็จะแบ่งได้เป็น 5 กลุ่มที่ต้องสอดประสานกันคือ
- การจัดสรรทรัพยากรคลื่นความถี่
- การสร้างการเข้าถึงบริการโทรทัศน์พื้นฐานผ่านแพลตฟอร์มทางเทคโนโลยีต่างๆ
- การส่งเสริมความเป็นพื้นที่สาธารณะของโทรทัศน์
- การกำกับดูแล OTT ด้วยกรอบที่ยืดหยุ่นและทำได้จริง
- การส่งเสริมอุตสาหกรรมเนื้อหาของไทยผ่าน TV sector การส่งเสริม Soft power ผ่าน Content Creation, Transmedia Strategy เพื่อสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง
2.อนาคตของทีวีดิจิทัล
ดร.พิรงรอง กล่าวว่า กิจการโทรทัศน์จะไม่ใช่แค่กิจการที่ใช้คลื่นความถี่อย่างใน Paradigm เดิม คือ ไม่ใช่เพียงดิจิทัลทีวีอีกต่อไปแล้ว
แต่ใน Paradigm ใหม่ กิจการโทรทัศน์ครอบคลุมถึงอุตสาหกรรมเนื้อหาในภาพใหญ่ ซึ่งด้วยเทคโนโลยี การเผยแพร่เนื้อหาก็เกิดขึ้นได้ในหลาย Platform อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการจัดสรรคลื่นความถี่ที่อาจมีความเปลี่ยนแปลงก็กำลังมีการพิจารณาอยู่
ตามแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ และ IMT Spectrum Roadmap ได้กำหนดให้คลื่น 3.3-3.7 GHz เป็นคลื่นความถี่ที่อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมในการจัดสรรสำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (IMT) ซึ่งในปัจจุบันคลื่นในย่านนี้ถูกใช้งานสำหรับการเผยแพร่เนื้อหาของทีวีดิจิทัลผ่านทีวีดาวเทียม C-band จึงต้องพิจารณาในหลายด้านด้วยกัน เช่น ผลกระทบต่อการดำเนินการตามประกาศ Must Carry แนวทางการให้บริการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียม และความต้องการ (demand) ตลอดจนทางเลือกอื่นๆ ในการใช้คลื่นฯ
ซึ่งที่ผ่านมา เราได้ร่วมกับทางสำนักงาน กสทช. และทีมงานในฝั่งกิจการโทรคมนาคมในการจัด Workshop เพื่อสรุปข้อมูลล่าสุด รวมถึงข้อพิจารณา ความคิดเห็นและข้อเสนอแนะ โดยในขณะนี้ ทีมงานในฝั่งกิจการโทรทัศน์กำลังสรุปแนวทาง และจะมีการปรึกษาหารือกับฝั่งกิจการโทรคมนาคมอีกครั้ง ก่อนนำไปพัฒนาต่อใน Roadmap ของทีวีดิจิทัลต่อไป

3.การเข้าถึงทีวีด้วยแพลตฟอร์มใหม่ ๆ จะเป็นอย่างไร
จากความเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการจัดสรรคลื่น และเทคโนโลยีดังที่กล่าวมาแล้ว ทำให้เราต้องหันมามองทางเลือกต่างๆ ให้ผู้ชมสามารถเข้าถึงบริการโทรทัศน์พื้นฐานได้ผ่านช่องทางที่หลากหลาย สะดวกสบาย สอดคล้องกับวิถีชีวิตทุกวันนี้ ตามกฎ Must Carry ผู้ชมสามารถรับชมได้ผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน เคเบิลทีวี ทีวีดาวเทียม และตอนนี้ก็มี OTT ทั้งแพลตฟอร์มของผู้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นของไทย และแพลตฟอร์มต่างชาติที่เป็นระดับโลก
เป็นที่มาของแนวคิดการศึกษาความเป็นไปได้ในการทำแพลตฟอร์มแห่งชาติ ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์กลางที่สามารถถ่ายทอดเนื้อหาของทีวีดิจิทัลไปพร้อมๆ กับการออกอากาศภาคพื้นดิน ไปสู่ผู้ชมผ่านอุปกรณ์ออนไลน์ที่ผู้ชมเลือกใช้
เราหวังว่านอกจากผู้ชมจะสามารถมีช่องทางรับชมทีวีดิจิทัลที่สะดวกสบาย เหมาะกับยุคสมัยมากขึ้น และผู้ประกอบการมีช่องทางการนำเสนอเนื้อหาที่หลากหลายมากขึ้นแล้ว ระบบยังสามารถผนึกรวมข้อมูลทั้งเนื้อหารายการ โฆษณา และข้อมูลการใช้งานของผู้บริโภคเอาไว้ด้วยกัน เอื้ออำนวยให้ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์เข้าถึงข้อมูลและวางแผนธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
โดยไม่ต้องพึ่งพิงเอเยนซีโฆษณาแบบเดิมๆ รวมถึงสามารถพัฒนาเนื้อหาและบริการให้มีคุณภาพและมีความสามารถในการแข่งขันยิ่งขึ้น ด้วยเม็ดเงินที่ไม่ต้องแบ่งกับแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลในตลาด
เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา คณะทำงานได้มีการสรุปและจัดทำรายงานผลการศึกษาแนวทางที่เป็นไปได้และเหมาะสมในการจัดให้มีช่องทางการเข้าถึงกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดินบนแพลตฟอร์มดิจิทัลซึ่งได้ผ่านการศึกษาข้อมูลและปรึกษาหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ให้บริการโทรคมนาคมด้วย
ซึ่งคณะทำงานก็มีข้อเสนอและประเมินค่าใช้จ่ายสำหรับแนวทางต่างๆ ซึ่งทางสำนักงานฯ และ กสทช. ก็ยังจะต้องพิจารณาปัจจัยหลายๆ อย่างเช่น ปัจจัยความต้องการใช้และการจัดสรรคลื่นความถี่ในอนาคต พฤติกรรมของผู้ชม ไปจนถึงแนวทางในการปฏิบัติ การมีส่วนร่วมของผู้รับใบอนุญาตและผู้เกี่ยวข้องทั้งหมด และเราไม่ได้หยุดเพียงเท่านี้ เราก็ยังคงศึกษาเทคโนโลยีและ business model ทางเลือกอื่นๆ ไปด้วย และมองภาพทั้งหมดประกอบกัน
4.การควบคุมกำกับดูแลมาตรฐานวิชาชีพสื่อและจรรยาบรรณ
การส่งเสริมความเป็นพื้นที่สาธารณะของโทรทัศน์ คือความจำเป็นของสังคมที่ดีและมีความยั่งยืน ทำอย่างไรให้สื่อมีความรับผิดชอบและสอบทานได้ (Accountability) ต่อสาธารณะ
ผลกระทบของสื่อมวลชนที่มีต่อผู้ชมและสังคม เราก็เห็นกันอยู่แล้ว นั่นคือความจำเป็นของการกำกับดูแล และอีกคำถามหนึ่งที่สำคัญมากๆ เลยก็คือ ทำไมเราต้องรักษาและส่งเสริมกิจการโทรทัศน์ด้วย นั่นก็เพราะในยุคที่มีทางเลือกเยอะและผู้ชมจำนวนมากเลือกรับเนื้อหาผ่านอุปกรณ์ส่วนตัวของตัวเอง ดูเฉพาะเรื่องที่ตัวเองสนใจ
หากเป็นเช่นนั้นแล้ว อะไรจะเป็นพื้นที่สาธารณะที่ยึดโยงสังคมเอาไว้ด้วยกัน จะมีสื่ออะไรที่เป็นพื้นที่กลางในการสื่อสารและอภิปรายเกี่ยวกับประเด็นสำคัญๆ ในสังคมร่วมกัน โทรทัศน์ ควรจะเป็นพื้นที่นั้น
ในขณะเดียวกัน ด้วยบทบาทของสื่อมวลชน เราจะต้องมีระบบเพื่อให้มั่นใจว่าสื่อจะมีความรับผิดรับชอบต่อสังคม
เราได้มีการจัดทำร่างประกาศฯ มาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการ และผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการส่งเสริม สนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ
ซึ่งหากจะสรุปง่ายๆ ก็คือกุญแจส่งเสริมสนับสนุนกลไกการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ส่งเสริมให้สื่อสารมวลชนมีการจัดทำมาตรฐานทางจริยธรรม จัดตั้งคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมเพื่อเป็นกลไกในการกำกับดูแลกันเอง โดย กสทช. รับจดแจ้งการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพ และสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการดำเนินการขององค์กรที่เข้าเงื่อนไข เช่นมีระบบ ขั้นตอน มีมาตรฐานในการรับเรื่องร้องเรียน สามารถติดตามได้ ซึ่งประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับก็คือทำให้สื่อมวลชนของไทยมีการดำเนินงานที่มีคุณภาพตามหลักจริยธรรม ลดผลกระทบเชิงลบและส่งผลดีต่อสังคมโดยรวม
ตอนนี้ ร่างประกาศฯ ฉบับนี้ผ่านมติที่ประชุม
กสทช.เรียบร้อย และเพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ทั้งนี้ ทางสำนักงานกำลังเตรียมการในการรับจดแจ้งองค์กรวิชาชีพ และขั้นตอนในการเปิดให้องค์กรวิชาชีพที่มีคุณสมบัติครบถ้วนมาขอรับการสนับสนุนค่าใช้จ่าย
นอกจากนี้ เราก็กำลังทำงานเพื่อวางระบบการให้คะแนนประเมินคุณภาพของเนื้อหารายการซึ่งเราเรียกด้วยชื่อเล่นว่า Social Credit ด้วย เมื่อวันที่ 12 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการ วาระ เรื่อง เกณฑ์/แนวทางสำหรับการประเมินคุณภาพเนื้อหาและได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำเกณฑ์หรือแนวทางสำหรับการประเมินซึ่งจัดทำโดยคณะทำงานที่ประกอบด้วยคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒและผู้เชี่ยวชาญจากกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไปหารือร่วมกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ เพื่อจัดทำหลักเกณฑ์และเครื่องมือการประเมินคุณภาพเนื้อหารายการต่อไป
ระบบ Social Credit เป็นระบบประเมินคุณภาพเนื้อหารายการที่จะใช้คู่ขนานกับระบบวัดเรตติ้งในปัจจุบันที่เน้นจำนวนผู้ชม(eyeballs/views) เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ผู้ที่เข้าร่วมและมีผลการประเมินดีจะได้รับเครื่องหมายรับรองคุณภาพเนื้อหา (trustmark) จาก กสทช. ซึ่งจะต้องมีการขับเคลื่อนทางนโยบายและประสานกับภาครัฐและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องในฐานะผู้ลงโฆษณาต่อไป นอกจากนี้ ยังจะได้สิทธิประโยชน์อื่นๆ เช่น ได้ส่วนลดค่าธรรมเนียมรายปี ได้โควตาพิเศษในการพิจารณาสนับสนุนการผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เป็นต้น
อันที่จริงก็มีอีกกรณีหนึ่งที่เกิดขึ้นไม่นานมานี้และย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของบทบาทของสื่อโทรทัศน์ในฐานะพื้นที่สาธารณะที่มีความรับผิดชอบและสอบทานได้ ในการเตือนภัย ให้ข่าว และให้ข้อมูลเกี่ยวกับภัยพิบัติ นั่นก็คือเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มีนาคมที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ก็ได้คุยกันมาตั้งแต่ปี 2566 ทั้งในเรื่องของระบบ EWS (Emergency Warning System) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัล โดยเชื่อมโยงกับระบบ cell broadcast รวมถึงการศึกษาความเป็นไปได้ของการใช้ช่องหมายเลข 1 เป็นช่องสื่อสารเรื่องภัยพิบัติ
ทั้งนี้ กสทช.เคยอนุญาตให้โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยใช้คลื่นเป็นการชั่วคราวเพื่อทดลองทดสอบด้วย และได้มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ทำ MOU กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แม้ว่าด้วยปัจจัยหลายอย่างจะทำให้ยังไปไม่ถึงจุดนั้น แต่ล่าสุดก็มีการพูดคุยและประสานงานเพื่อให้ทุกอย่างคืบหน้าไปจนเกิดผลเป็นรูปธรรมโดยเร็วที่สุด
ตัวอย่าง เช่น เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา มีการแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและเตรียมการพัฒนาระบบแจ้งเตือนภัยพิบัติหรือเหตุฉุกเฉิน(EWS) ผ่านโครงข่ายโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิทัลขึ้น โดยมีรองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ เป็นหัวหน้าคณะทำงาน คณะทำงานนี้ได้ประชุมกันครั้งแรกไปเมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา และมีเป้าหมายว่าจะทำภารกิจให้เสร็จภายในเดือนกันยายนที่จะถึง ซึ่งระบบการเตือนภัยและให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ตรวจสอบได้นี้จะต้องบูรณาการ มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน ไม่ว่าจะไปออกทางช่องทางใดก็ตาม
5.การกำกับดูแล OTT ด้วยกรอบที่ยืดหยุ่นและทำได้จริงหรือ ?
ความจำเป็นในการสร้างพื้นที่การแข่งขันที่เท่าเทียม (Level playing field) ระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นบริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติกับผู้ประกอบการภายในประเทศและการพยายามจัดการกับข่าวปลอม และเนื้อหาที่ขับเคลื่อนด้วย AI แบบที่ขัดต่อจริยธรรม โดยมีการกำหนดภาระรับผิดทางกฎหมายและระบบเพื่อความโปร่งใสที่สามารถสอบทานได้ให้แพลตฟอร์ม
ทุกวันนี้เราก็เห็นแล้วว่า ไม่สามารถที่จะละเลยเรื่องการกำกับดูแล OTT ได้ ในปีที่ผ่านมา (พฤษภาคม 2567) ในอังกฤษก็มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับเนื้อหาใน Netflix (มีฉากเปิดเผยอวัยวะเพศชายในซีรีส์ A Man in Full) และในประเทศไทยเองก็เคยมีฉากที่มีปัญหาใน Version ที่ออกทางแพลตฟอร์ม ซึ่งแตกต่างจาก Version ที่ออกทางทีวีดิจิทัล (ฉากแมวกินน้ำผสมยาพิษใน “แม่หยัว”)
เราได้จัดทำร่างประกาศฯ หลักเกณฑ์ว่าด้วยการแพร่เสียงแพร่ภาพผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีหลักการให้เป็นการกำกับดูแลแบบ Light touch คือกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น สร้างมาตรฐานที่เท่าเทียมให้มีหลักประกันความโปร่งใส ความเป็นธรรม และมาตรฐานการประกอบธุรกิจ รวมถึงคุ้มครองผู้บริโภคเพื่อบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัย ตลอดจนส่งเสริมการแข่งขันให้มีความเป็นธรรมและเอื้ออำนวยให้เกิดการพัฒนา
ร่างประกาศฯ ดังกล่าวจัดทำขึ้นตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการควบคุมดูแลการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2565 และพัฒนาขึ้นตามมติบอร์ด กสทช.เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2560