วินัย227 VS ไร่ขิง888 ‘สงฆ์’ เตือนยาก-ไร้ตรวจสอบ

16 พ.ค. 2568 - 11:49

  • เมื่อ ‘ผีพนัน’ ไม่เข้าใครออกใคร แม้แต่ ‘พระ’ ก็ไม่กลัว ชวนอ่านปรากฏการณ์ ‘เจ้าคุณแย้ม’ แห่งวัดไร่ขิง สู่ ‘ทิดแย้ม’ ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์ และเมื่อคำว่า ‘เจ้าอาวาส’ ไม่ได้การันตีว่าจะหลุดพ้นจากกิเลส ร่วมแลกเปลี่ยนความเห็นประเด็นนี้กับ ‘ธนากร คมกฤส’ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

  • ขณะที่งานวิจัยพบว่า วัดไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 959,495 บาท แต่ยังขาดระบบการจัดการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้จริง

จาก ‘เจ้าคุณแย้ม’ สู่ ‘ทิดแย้ม’ ผู้ต้องหาคดียักยอกทรัพย์

กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวในวงการสงฆ์อีกครั้ง เมื่อ พระธรรมวชิรานุวัตร (แย้ม กิตฺตินฺธโร) เจ้าอาวาสวัดไร่ขิง พระอารามหลวง จังหวัดนครปฐม และเจ้าคณะภาค 14 วัย 69 ปี อดีตกรรมการขับเคลื่อนโครงการฯ หมู่บ้านรักษาศีล 5 ส่วนกลาง ถูกออกหมายจับในคดียักยอกเงินวัดรวมมูลค่ากว่า 300 ล้านบาท

ภายหลังการออกหมายจับ พระธรรมวชิรานุวัตร ได้ลาสิกขาด้วยตนเอง ต่อหน้าพระพุทธรูป ภายในห้องสอบสวนของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง และได้ให้การที่เป็นประโยชน์ต่อรูปคดี

เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งการตั้งคำถามจากสังคม เพราะเงินที่ ทิดแย้ม หรือ แย้ม อินทร์กรุงเก่า อดีตเจ้าอาวาสวัดไร่ขิง ยักยอกออกมาจากวัด มีเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับเว็บพนันออนไลน์ ผ่านบัญชีธนาคารของสาวคนสนิท วัย 28 ปี ซึ่งเป็นนายหน้าเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์

โดย หญิงสาวรายนี้ เคยถูกตำรวจไซเบอร์ (บช.สอท.) จับเมื่อปี 2567 ในข้อหาพัวพันกับเครือข่ายเว็บพนันออนไลน์ LAGALAXY911 และต่อมาได้รับการประกันตัวออกมาสู้คดี ก่อนกลับมาเป็นข่าวอีกครั้งเมื่อถูกพบว่ามีความเชื่อมโยงทางการเงินกับอดีตเจ้าอาวาสรูปนี้

นอกจาก ความเชื่อมโยงทางการเงิน ตำรวจยังตรวจพบพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวระหว่างอดีตเจ้าอาวาสกับหญิงสาวรายดังกล่าว ทั้งการวิดีโอคอลบ่อยครั้ง และการส่งคลิปส่วนตัวในลักษณะล่อแหลม


เมื่อคำว่า ‘เจ้าอาวาส’ ไม่ได้การันตีว่าภายในจะหลุดพ้นจาก โลภะ โทสะ และราคะ

แม้จะเป็น พระผู้ใหญ่ หรือ มีพรรษายาวนาน แต่อัตตาหรือกิเลสอาจไม่ได้ลดลง หากการบวชกลายเป็นเพียงสถานะทางสังคมหรือเส้นทางอำนาจ มากกว่าการปฏิบัติธรรมอย่างแท้จริง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เรามักจะเห็นข่าวฉาวในวงการผ้าเหลือง ตั้งแต่ระดับพระลูกวัดไปจนถึงพระชั้นผู้ใหญ่ประพฤติตนผิดศีลอยู่เป็นว่าเล่น ชนิดที่เรียกว่าแค่ศีล 5 ยังพึงปฏิบัติไม่ได้ คงไม่ต้องพูดพระวินัย 227 ข้อ ที่พระพึงละเว้น

“การพนันไม่ปราณีใครอยู่แล้วจะเป็นพระ เป็นเด็ก เป็นคนแก่ เป็นใครก็ตาม เป็นพ่อเป็นแม่ การพนันไม่สนใจใครอยู่แล้ว มันทำงานกับมนุษย์ทุกคน ใครที่มีภูมิคุ้มกันไม่เพียงพอ หรือมีแนวโน้มเห็นดีเห็นงามกับเรื่องพนันก็มีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ทั้งหมด”

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

เป็นความเห็นของ ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ที่มองว่า ไม่ว่าจะฆราวาสหรือพระสงฆ์ ล้วนมีโอกาสลุ่มหลงไปกับการพนันได้ทุกคน หากไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีพอ เพราะในยุคนี้ผู้คนสามารถเข้าถึงพนันออนไลน์ได้ง่าย และเข้าถึงได้ทุกเวลา แม้มูลนิธิฯ จะไม่มีข้อมูลแยกจำเพาะว่ามีพระสงฆ์เข้าไปพัวพันกับเว็บพนันมากน้อยแค่ไหน แต่ในภาพรวมจำนวนผู้เข้าถึงพนันออนไลน์มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น


‘ผีพนันมันร้าย’ อะไรก็ปราบไม่อยู่?

แต่ไม่ว่าจะเป็นพระหรือฆราวาส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มองว่า สิ่งสำคัญกว่าคือการกีดกั้นไม่ให้คนเข้าถึงพนันออนไลน์ และส่วนตัวเขาไม่คิดโทษการทำงานของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการปราบปรามเว็บพนัน เพราะเชื่อว่าเจ้าหน้าที่คงทำเต็มที่แล้ว แต่ที่มีปัญหาจริงๆ คือ ประเทศไทยยังมีโครงสร้างการจัดการแก้ปัญหาพนันที่อ่อนแอเกินไป เพราะ ยังไม่มีหน่วยงานที่เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดการเรื่องนี้ ยังฝากภารกิจไว้ที่ตำรวจและกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทั้งสองหน่วยงานนี้มีหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบเยอะมากจนอาจดูแลไม่ทั่วถึง

“หลายประเทศเขามีหน่วยงานเฉพาะด้านที่มาดูแลปัญหาการพนันตั้งแต่ระดับนโยบายลงไปถึงภาคปฏิบัติ ของเราไม่มี เรื่องสำคัญคือพอมันไม่จริงจัง มันก็ทำให้เจ้าหน้าที่บางส่วนก็เข้าไปหากินกับกิจการพนัน รับส่วย หรือเป็นหุ้นส่วนหรืออะไรก็ตาม ทำไปทำมาเจ้าหน้าที่บางส่วนที่น่าจะเป็นฝ่ายปราบปรามการพนัน กลับกลายเป็นผู้เกี่ยวข้องกับธุรกิจพนันเสียเอง”

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

20250516_190553_0000.jpg
ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ยังมองว่า ที่ผ่านมาไม่เคยมีรัฐบาลไหนให้ความสำคัญในการปราบปรามพนันอย่างจริงจังจนถึงปัจจุบัน ขณะที่กฎหมาย พ.ร.บ.การพนัน ของไทยกำลังล้าหลังลงไปทุกที เพราะถูกใช้มา 80-90 ปีแล้ว ก็ยังไม่มีใครคิดจะเปลี่ยนแปลง มีแต่คิดจะแก้กฎหมายเพื่อให้การพนันกลายเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย ซึ่งการทำแบบนี้เป็นการสะท้อนว่ารัฐบาลไม่คิดจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจังซ้ำยังเป็นการเพิ่มปัญหาให้สังคมอีก

“รัฐบาลคิดจะแก้กฎหมายการพนัน แต่แทนที่จะทำให้กฎหมายมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีหน่วยงานที่เข้ามาดูแลเป็นเจ้าภาพหลัก รัฐบาลกลับไปแก้กฎหมายเพียงนิดเดียวเพื่อทำให้การพนันถูกกฎหมายได้ อันนี้มันก็เห็นภาพว่าเราปล่อยปละละเลย เราไม่จริงจังที่จะทำให้การพนันมันลดน้อยลงอย่างจริงจัง”

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน

เมื่อคุยมาถึงจุดนี้ ผู้เขียนจึงอดไม่ได้ที่จะถามต่อว่า นอกจากปัจจัยเรื่องโครงสร้างนโยบายที่เรากล่าวมาข้างต้นแล้ว ปัญหาด้านการเมืองก็มีส่วนทำให้ปัญหาเหล่านี้ไม่หมดไปง่ายๆ ใช่หรือไม่

เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน มองว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจทางการเมืองกับการกระทำผิดกฎหมายมักมีความโยงใยต่อกัน คนมีอำนาจก็ใช้อำนาจในการกระทำผิด คนทำผิดก็พยายามเข้าสู่การมีอำนาจ เพราะฉะนั้นเราจึงต้องการระบบการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจที่แข็งแรงขึ้นกว่าเดิม

“ถ้าไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุลผู้มีอำนาจที่ดีพอ มันจะทำให้เกิดการสมประโยชน์กันระหว่างผู้มีอำนาจและผู้ที่มาอิงแอบกับอำนาจให้ทำประโยชน์ซึ่งกันและกัน มันก็ไม่แปลกที่เราจะเห็นภาพการสมประโยชน์กันระหว่างผู้มีอำนาจทางการเมืองกับผู้ที่ทำผิดกฎหมาย เขาไม่กระทำเอง เขาก็เป็นผู้ปกป้องผลประโยชน์ของผู้ทำผิดกฎหมาย”

ธนากร คมกฤส เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน


เปิดงานวิจัย วัดไทยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีราว 959,495 บาท แต่ยังขาดระบบการจัดการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้จริง

หนึ่งในงานศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างนี้ คือ งานวิจัยเรื่อง ‘เศรษฐศาสตร์การระดมทุนของวัดไทย’ โดย ณัชชนน ไพรรุณ นักศึกษาปริญญาโท คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ผลพิรุฬห์ ผู้อำนวยการ ศูนย์ศึกษาพัฒนาการเศรษฐกิจ นิด้า ได้วิเคราะห์ข้อมูลเรื่องรายได้ของวัด ผ่านกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นวัดจำนวน 9,940 แห่ง

โดยพบว่า โดยเฉลี่ยวัดในประเทศไทยมีรายได้จากเงินบริจาคจำนวน ทั้งสิ้น 427,114 บาท/วัด/ปี และมีรายได้จากแหล่งอื่นๆ (เช่นงานบวชหรืองานศพ) ทั้งสิ้น 509,987 บาทต่อปี นอกจากนี้ ยังได้รับเงินอุดหนุนจากภาครัฐอีก 22,394 บาท รวมแล้วโดยเฉลี่ย วัดจะมีรายได้ต่อปีอยู่ที่ประมาณ 959,495 บาทต่อปี (มูลค่าดังกล่าวแตกต่างกันตามขนาดของวัดที่มีขนาดใหญ่ในเมืองกับวัดขนาดเล็กในชนบท)

ขณะที่งานวิจัยของ ผศ.ดร.ณดา จันทร์สม วารสารพัฒนบริหารศาสตร์ นิด้า เรื่อง การบริหารการเงินของวัดในประเทศไทย: ความสอดคล้องตามหลักธรรมาภิบาล ที่ตีพิมพ์เมื่อปี 2557 พบว่าการบริการเงินของวัดเต็มไปด้วยช่องโหว่ และสะท้อนถึงการขาดระบบการจัดการที่โปร่งใสและตรวจสอบได้จริง โดย ผลจากการศึกษา พบว่า กฎหมายและระเบียบข้อบังคับที่มีอยู่เพื่อการบริหารวัดไม่เพียงพอที่จะทำให้วัดมีแนวปฏิบัติในการบริหารที่สอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล เห็นได้จากโดยส่วนมากยังไม่มีโครงสร้างในการบริหารการเงินของวัดที่เป็นระบบ การจัดทำรายงานทางการเงินของวัดไม่เป็นไปตามหลักมาตรฐานบัญชีทีรับรองกันโดยทั่วไป

รวมถึงยังไม่มีการตรวจสอบจากผู้สอบบัญชีรับอนุญาต การเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินของวัดให้สาธารณะรับทราบยังอยู่ในวงจำกัด หน่วยงานของรัฐที่มีหน้าที่ในการกำกับดูแลการบริหารการเงินของวัดยังขาดการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ

โดยเฉพาะ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ยังขาดบทบาทในการกำหนดกรอบในการกำกับดูแลให้การบริหารจัดการทางการเงินของวัดสอดคล้องกับหลักธรรมาภิบาล อีกทั้งบุคลากรยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับการบริหารจัดการที่ดี และหลักการบริหารการเงินของผู้มีอำนาจหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการภายในวัด

สอดคล้องกับความเห็นของ จตุรงค์ จงอาษา นักวิชาการด้านพระพุทธศาสนา ที่กล่าวในรายการ TODAY LIVE ซึ่งเป็นเทปที่พูดถึงการออกหมายจับเจ้าอาวาสวัดไร่ขิงในตอนหนึ่งว่า เรื่องที่เกิดขึ้นยิ่งซ้ำเติมให้ศาสนาพุทธเสื่อมโทรมลงกว่าเดิม และจากข้อมูลที่เขามีพบว่าปัจจุบันมีคนบวชน้อยลง ขณะที่จำนวนการสึกของพระเพิ่มมากขึ้น ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คนเสื่อมศรัทธาในศาสนาพุทธ เป็นเพราะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของพระบางรูป และประเด็นเรื่องเงินของวัดที่ตรวจสอบได้ยาก ซึ่งจุดนี้ทำให้คนรู้สึกว่าวัดไม่มีความโปร่งใส่ในการจัดการเงินที่ญาติโยมให้มา


‘พุทธจักร’ ความท้าทายด้านศีลธรรม กับดักที่ทำให้การตรวจสอบต้องสะดุด

สุดท้ายแล้วการตรวจสอบ ‘วัด’ และ ‘พระสงฆ์’ ในแง่มุมหนึ่ง ยังคงเป็นเรื่องท้าทาย ‘ขนบและความเชื่อ’ ของสังคมไทย เมื่อการตั้งคำถามเหล่านี้กลายเป็นเรื่องเปราะบางต่อชาวพุทธ และอาจทำให้วัดยังคงเป็นเหมือน ‘ดินแดนสนธยา’ ต่อไป


เรื่องเด่นประจำสัปดาห์