ไฟเขียว! ‘สภาฯ’ รับหลักการ ‘ร่างกฎหมาย กอช.’ เปิดทาง ‘หวยเกษียณ’

2 เม.ย. 2568 - 08:28

  • ‘สภาฯ’ ไฟเขียว! รับหลักการ ‘ร่าง พ.ร.บ. กอช.’

  • เปิดทาง ‘หวยเกษียณ’ ล่อใจ ‘วัยทำงาน’ ลุ้นรางวัล-ออมเงินไว้ใช้ช่วงบั้นปลาย

House_of_Representatives_meeting_accepted_principle_of_draft_National_Savings_Fund_Act_SPACEBAR_Hero_b69ef1b1ea.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ที่มี พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม ซึ่งมีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ซึ่งแก้ไข พ.ร.บ. กอช. ปี 2554 วาระรับหลักการ เพื่อเปิดทางให้ กอช. ออกและจำหน่าย ‘สลาก กอช.’ หรือ ‘หวยเกษียณ’

โดยสาระสำคัญ เป็นการออมในภาคแรงจูงใจสำหรับประชาชนวัยทำงาน มีขั้นตอน คือ ซื้อสลากผ่านแอปพลิเคชัน กอช. ใบละ 50 บาท จับรางวัลหวยเกษียณทุกสัปดาห์ หากผู้ซื้อสลากฯ ถูกรางวัล จะได้รับเงินรางวัลทันทีโดยโอนเข้าบัญชีอัตโนมัติ

แต่หากไม่ถูกรางวัล สลากมูลค่า 50 บาทที่ซื้อผ่านแอปฯ กอช. จะถูกนำไปเป็นเงินออม เมื่ออายุครบ 60 ปี หรือเข้าสู่วัยเกษียณ จะได้รับเงินต้นคืน พร้อมผลตอบแทนที่ กอช. นำไปลงทุนทุกบาททุกสตางค์

ส่วนเงินรางวัลมาจากงบประมาณรัฐบาลปีละ 700 ล้านบาท จะช่วยจูงใจให้ประชาชนมีเงินออมได้ 13,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ ที่ประชุมส่วนใหญ่เห็นด้วยและสนับสนุนให้มีหวยเกษียณ ซึ่งสอดคล้องกับอุปนิสัยของคนไทยที่ชอบเสี่ยงดวง เสี่ยงโชคด้วยการซื้อหวยหรือสลากทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นจูงใจให้ประชาชนวัยทำงานออมเงินเพื่อนำไปใช้จ่ายยามเกษียณ

อย่างไรก็ดี ในการอภิปรายของ สส. ก่อนรับหลักการนั้น มีข้อเสนอแนะไปยังกรรมาธิการวิสามัญที่น่าสนใจ อาทิ การทบทวนให้การดำเนินการหวยเกษียณมีความยืดหยุ่น โดยเฉพาะการนำเงินออมจากหวยเกษียณออกมาใช้จ่ายก่อนครบกำหนดการจ่ายคืนที่อายุ 60 ปี เพื่อให้สอดคล้องกับปัจจัยการใช้ชีวิตของประชาชนที่มีสิทธิเข้าโครงการ เช่น การกู้เงินของตนเองออกมาใช้จ่ายตามความจำเป็นในการรักษาพยาบาลตนเอง หรือใช้จ่ายเพื่อความมั่นคงในชีวิต เพราะการกำหนดคุณสมบัติของผู้ที่สามารถเข้าโครงการหวยเกษียณตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป กว่าจะครบกำหนดรับเงินต้นและดอกผลคืนเมื่ออายุ 60 ปี ถือเป็นช่วงเวลาที่ยาวนาน

อีกทั้งควรพิจารณาเรื่องผลตอบแทน หรือเพิ่มเงินรางวัล และจำนวนรางวัลต่อรอบที่ต้องไม่น้อยกว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล รวมถึงพิจารณาการนำไปลดหย่อนภาษีได้ เป็นต้น

ขณะเดียวกันยังมีข้อเสนอแนะให้ปรับปรุงกฎหมายเพื่อกำหนดการการันตีผลตอบแทนขั้นต่ำของเงินที่ลงทุน เช่น อัตราดอกเบี้ยเงินฝากของสถาบันการเงิน เพื่อสร้างแรงจูงใจในการออมเพิ่มเติม และกำหนดให้มีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนเพื่อกำกับการนำเงินออมหวยเกษียณไปใช้ลงทุนในกองทุน ซึ่งทุกกองทุนมักมีความเสี่ยง หากไม่มีผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษา การนำเงินของประชาชนไปลงทุน แม้จะเป็นกองทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ แต่อาจส่งผลกระทบต่อเงินออมของประชาชนได้

ทั้งนี้ มีการคำนวณว่าเงินจากการซื้อหวยเกษียณจะอยู่ที่ปีละ 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก

นอกจากนี้ ยังมีความกังวลเกี่ยวกับการใช้เงินที่ไม่โปร่งใสหรือไม่คุ้มค่า โดยเปรียบเทียบกับการใช้เงินกองทุนประกันสังคมไปซื้อตึกมูลค่าสูง ทั้งนี้ มีการตั้งข้อสังเกตไปยังรัฐบาลว่า ควรจัดหลักสูตรการเงินและการออมให้กับคนไทยตั้งแต่ระดับประถมศึกษา รวมถึงการดำเนินการหวยเกษียณต้องควบคู่กับการให้ความรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายครัวเรือน เพื่อลดการเป็นหนี้และส่งเสริมให้รู้จักการออมเพื่อความมั่นคงในวัยเกษียณ นอกจากนี้ ต้องคำนึงถึงการป้องกันไม่ให้เกิดการมอมเมาประชาชนจากการพนันด้วย

ภายหลังจากที่ สส. อภิปรายแล้วเสร็จ, เผ่าภูมิ โรจนสกุล รมช.คลัง ชี้แจงว่า ในข้อสังเกตเกี่ยวกับการกำหนดระยะเวลาการถือครอง และการกำหนดหลักเกณฑ์ลดหย่อนภาษี จะนำไปพิจารณาในชั้นกรรมาธิการเพื่อให้ พ.ร.บ. กอช. มีประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลในการสร้างนวัตกรรมทางการเงิน เพื่อให้ประชาชนมีกิน มีใช้ และมีศักดิ์ศรี ตามนโยบายของแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

เผ่าภูมิ ยังชี้แจงเพิ่มเติมเกี่ยวกับการเพิ่มผลตอบแทนเมื่อมีความต้องการเพิ่มขึ้นว่า ในหลักการจะมีการพิมพ์สลาก 5 ล้านฉบับ โดยมีเงินรางวัลสัปดาห์ละ 15 ล้านบาท เมื่อรวม 4 สัปดาห์ เท่ากับ 60 ล้านบาท รางวัลต่อปีเท่ากับ 760 ล้านบาท โดยประมาณ ซึ่งคำนวณเป็นค่าตอบแทน 6-7% ต่อการระดมเงินออม

แต่หากมีความต้องการซื้อเกิน 5 ล้านฉบับ จะมีการพิมพ์สลากเพิ่มขึ้นและเพิ่มเงินรางวัล เช่น หากออก 10 ล้านฉบับ เงินรางวัลจะอยู่ที่ 1,500 ล้านบาท เพื่อรักษาผลตอบแทนที่ 6-7%

จากนั้น ที่ประชุมมีมติเป็นเอกฉันท์ รับหลักการ 401 ต่อ 0 เสียง และได้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญขึ้นมาพิจารณา

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์