ประเทศในอาเซียน-เอเชีย ตอบโต้มาตรการภาษีทรัมป์ยังไงบ้าง

8 เม.ย. 2568 - 09:47

  • ขณะนี้ ประเทศในอาเซียน และเอเชียต่างตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีทรัมป์ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการมีส่วนร่วมทางการทูตมากกว่าการตอบโต้ด้วยมาตรการที่เข้มงวด

  • SPACEBAR พาไปสำรวจว่าแต่ละประเทศตอบโต้ต่อการประกาศขึ้นภาษีของทรัมป์อย่างไรบ้าง

how_asean_asia_are_responding_to_trump_tariffs_SPACEBAR_Hero_b482a16aa7.jpg

หลังประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศปลดแอกอเมริกาเมื่อวันพุธ (2 เม.ย.) ด้วยมาตรการภาษีศุลกากรตอบโต้ (reciprocal tariffs) ครั้งใหญ่ สร้างความตกตะลึงไปทั่วโลกโดยเฉพาะประเทศแถบเอเชียที่โดนขึ้นภาษีสูงไปตามๆ กัน โดยกัมพูชาโดนเรียกเก็บสูงสุดในอาเซียนถึง 49% 

ขณะนี้ ประเทศในอาเซียน และเอเชียต่างก็ตอบโต้ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งส่วนใหญ่เน้นการมีส่วนร่วมทางการทูตมากกว่าการตอบโต้ด้วยมาตรการที่เข้มงวด 

กัมพูชา / โดนเรียกเก็บ 49%

รัฐบาลกัมพูชาเผยว่าจะสามารถจัดการกับผลที่ตามมาจากภาษีศุลกากรของสหรัฐฯ ได้ แม้จะมีข้อกังวล “การขึ้นภาษีศุลกากรไม่ได้มีแรงจูงใจทางการเมือง หรือตั้งใจให้เป็นการคว่ำบาตรกัมพูชา” เฮง ซัวร์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและฝึกอบรมอาชีวศึกษาของกัมพูชากล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) 

เขากล่าวอีกว่า “ประเทศอื่นๆ ในเอเชียอีกหลายประเทศก็ถูกเรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงเช่นเดียวกัน ดังนั้น ผลกระทบจากภาษีศุลกากรต่อต้นทุนการผลิตของกัมพูชาจึงไม่รุนแรงกว่าประเทศคู่แข่งอื่นๆ มากนัก”

เวียดนาม / โดนเรียกเก็บ 46%

เวียดนามเป็นประเทศแรกในภูมิภาคอาเซียนที่ตอบโต้ต่อภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ โดยทางด้าน โต ลัม หัวหน้าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้โทรศัพท์คุยกับทรัมป์เมื่อวันที่ 4 เมษายน และเรียกร้องให้ทรัมป์เลื่อนการเรียกเก็บภาษีนำเข้าออกไป 45 วันหลังจากวันที่ 9 เมษายน พร้อมเสนอที่จะ ‘ยกเลิกภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ทั้งหมด’ เพื่อใช้เป็นจุดเริ่มต้นของการเจรจา 

ในเวลาต่อมา ทรัมป์ได้พูดถึงข้อเสนอดังกล่าวว่า ‘มีประสิทธิผลมาก’ 

เมียนมา / โดนเรียกเก็บ 44%

รัฐบาลกำลังดำเนินการประเมินภายใน และเปิดช่องทางการสื่อสารกับสหรัฐฯ ขณะเดียวกัน การประกาศขึ้นภาษีเมียนมาที่สูงถึง 44% ท่ามกลางเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ของประเทศเมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ทำให้สมาคมผู้ผลิตเครื่องนุ่งห่มเมียนมา (MGMA) ออกมาเตือนว่า “ภาษีศุลกากรที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันพุธ (9 เม.ย.) นี้เป็นต้นไป ก่อให้เกิด ‘ความกังวลอย่างมาก’ ในอุตสาหกรรมที่มีพนักงานมากกว่า 500,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพนักงานวัยรุ่นหญิง” 

“ท่ามกลางสถานการณ์ที่ท้าทายของเมียนมาในปัจจุบัน ภาษีศุลกากรรอบใหม่นี้จะเพิ่มความเสี่ยงให้กับธุรกิจเมียนมาที่ต้องดิ้นรนเพื่อให้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้...แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้... จะยิ่งทำให้ความท้าทายต่างๆ ที่ธุรกิจและชุมชนในเมียนมาต้องเผชิญยิ่งเลวร้ายลงไปอีก” รายงานระบุ 

ไทย / โดนเรียกเก็บ 36%

นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร เผยว่า ประเทศไทยพร้อมที่จะเจรจากับสหรัฐฯ หลังโดนขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐ 36% ซึ่งสหรัฐถือเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของไทย  

“ประเทศไทยได้ส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะหารือกับรัฐบาลสหรัฐฯ ในโอกาสแรกเพื่อปรับดุลการค้าให้เป็นธรรมกับทั้งสองฝ่าย ประเทศไทยสามารถเป็น ‘มิตรประเทศ’ สำหรับสหรัฐฯ ได้โดยการนำเข้าผลิตภัณฑ์ทางการเกษตรเพื่อแปรรูปและส่งออกอีกครั้ง” อีกทั้งยังบอกอีกว่า “อัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ที่ไทยเรียกเก็บจริงอยู่ที่  9% โดยเฉลี่ย ไม่ใช่  72% ตามที่ทำเนียบขาวประกาศ” 

อินโดนีเซีย / โดนเรียกเก็บ 32%

เศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อย่างอินโดนีเซียประกาศว่าจะ ‘ไม่ตอบโต้’ การขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าของทรัมป์ 

“อินโดนีเซียจะดำเนินทางการทูตและเจรจาเพื่อหาทางออกที่เป็นประโยชน์ร่วมกัน หลังจากที่ทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีศุลกากรทั่วโลกครั้งใหญ่เมื่อวันพุธ” แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้ารัฐมนตรีเศรษฐกิจอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ 

“แนวทางดังกล่าวจะดำเนินการโดยคำนึงถึงผลประโยชน์ในระยะยาวของความสัมพันธ์ทางการค้าทวิภาคี ตลอดจนรักษาบรรยากาศการลงทุนและเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศ” แอร์ลังกา กล่าว พร้อมเสริมว่า “จาการ์ตาจะสนับสนุนภาคส่วนที่อาจได้รับผลกระทบ เช่น อุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า” 

มาเลเซีย / โดนเรียกเก็บ 24%

มาเลเซียเลือกที่จะ ‘ไม่ตอบโต้’ ภาษีศุลกากรดังกล่าว และพยายามหารือกับสหรัฐฯ แต่ปฏิเสธข้ออ้างของรัฐบาลทรัมป์ที่ว่ามาเลเซียเรียกเก็บภาษีศุลกากร 47% จากสินค้าของสหรัฐฯ  

“รัฐบาลได้จัดตั้งศูนย์บัญชาการด้านภูมิเศรษฐกิจขึ้น ขณะนี้กำลังดำเนินการหารือกับสหรัฐฯ เพื่อหาทางออกที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับได้ การตอบสนองของมาเลเซียจะเป็นไปอย่างสงบ มั่นคง และยึดถือผลประโยชน์ของชาติมาเลเซียเป็นแนวทาง...เราต้องยอมรับว่าการขึ้นภาษีครั้งใหญ่รอบนี้อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความท้าทายครั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจภายนอก” อันวาร์ อิบราฮิม นายกฯ มาเลเซียกล่าว 

ฟิลิปปินส์ / โดนเรียกเก็บ 17%

ฟิลิปปินส์กำลังดำเนินการเพื่อตอบสนองต่อภาษีศุลกากรตอบโต้ 17% สำหรับการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และขณะนี้ ฝ่ายบริหารกำลังวางแผนเพื่อรับมือกับภาษีดังกล่าว “ฉันรู้ว่าจะมีการดำเนินการบางอย่างที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศของเรา แต่ฉันไม่สามารถให้รายละเอียดได้จนกว่าการเจรจาจะเสร็จสิ้น” แคลร์ คาสโตร ปลัดกระทรวงสื่อสารของประธานาธิบดีกล่าวในแถลงการณ์ 

แต่ยังไม่ชัดเจนว่าแผนดังกล่าวนั้นจะรวมถึงการลดภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ หรือไม่   

สิงคโปร์ / โดนเรียกเก็บ 10%

เนื่องจากสิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากการที่ทรัมป์กำหนดภาษีนำเข้าสินค้า 10% ทั่วโลก จึงไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าที่เข้มงวดกว่าที่ประเทศเพื่อนบ้านหลายแห่งต้องเผชิญ อย่างไรก็ตาม เมื่อวันพฤหัสบดี (3 เม.ย.) ที่ผ่านมา สำนักงานการเงินของประเทศได้ออกประกาศว่า “พร้อมที่จะควบคุมความผันผวนค่าเงินดอลลาร์สิงคโปร์”  

“แม้ว่าสิงคโปร์จะได้รับการคุ้มครองบางส่วนจากข้อตกลงการค้าเสรีกับสหรัฐฯ และการขาดดุลการค้าทวิภาคี แต่ประเทศก็ยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะเงินฝืดอย่างหนักต่ออุปสงค์และการค้า การผลิตและการส่งออกมีแนวโน้มลดลงและหดตัวในไตรมาสต่อๆ ไป” ชัว ฮัก บิน หัวหน้าร่วมฝ่ายวิจัยมหภาคของธนาคารเมย์แบงก์กล่าว 

ส่วนลาว ซึ่งโดนเรียกเก็บ 48% และบรูไน โดนเรียกเก็บ 24% อยู่ในระหว่างดำเนินการทางการทูตเพื่อประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้น 

จีน / โดนเรียกเก็บเพิ่มอีก 34% (ประกาศก่อนหน้าอีก 20%)

จีนปฏิเสธที่จะยอมจำนนต่อสิ่งที่เรียกว่า ‘การแบล็กเมล์’ จากสหรัฐฯ ท่ามกลางสงครามการค้าโลกที่จุดชนวนขึ้นด้วยการขึ้นภาษีศุลกากรครั้งใหญ่ของทรัมป์นั้นยังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายในวันอังคาร (8 เม.ย.) ในขณะที่หลายประเทศกำลังดิ้นรนเพื่อบรรลุข้อตกลงด้านภาษีศุลกากรกับทรัมป์ แต่จีนกลับยืนหยัดต่อสู้เพื่อหวังว่าจะเปลี่ยน ‘วิกฤตให้เป็นโอกาส’ 

“การคุกคามของฝ่ายสหรัฐฯ ที่จะเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรต่อจีนนั้นเป็นความผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า หากสหรัฐฯ ยืนกรานว่าจะทำ จีนก็จะสู้จนถึงที่สุด” กระทรวงพาณิชย์ของจีนกล่าว 

อย่างไรก็ดี ถ้อยคำตอบโต้ของจีนสะท้อนถึงการคำนวณเชิงกลยุทธ์ของผู้นำ สีจิ้นผิง ของจีนและคณะบริหาร ซึ่งก็คือ ทรัมป์ไม่ได้ใช้ภาษีศุลกากรเป็นเพียงกลยุทธ์ในการเจรจาเท่านั้น แต่การหยุดชะงักครั้งใหญ่ของการค้าโลกอาจส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ มากกว่าจีนเสียอีก 

เกาหลีใต้ / โดนเรียกเก็บ 25%

รัฐบาลเกาหลีใต้กำลังพิจารณามาตรการต่างๆ เพื่อเจรจาต่อรองกับสหรัฐฯ ขณะที่คณะรัฐมนตรีมีกำหนดพบกับ เจมี่สัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าของสหรัฐฯ เพื่อหารือเรื่องภาษีศุลกากร 

ขณะเดียวกัน รัฐบาลจะเตรียมมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินสำหรับอุตสาหกรรมและบริษัทที่ได้รับผลกระทบจากภาษีศุลกากร และสั่งให้รัฐมนตรีอุตสาหกรรมเจรจากับสหรัฐฯ เพื่อลดผลกระทบให้น้อยที่สุด 

“ถือเป็นข่าวดีก่อนการเยือนครั้งนี้ ที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์เปิดประตูสำหรับการเจรจาเรื่องภาษีศุลกากรกับประเทศอื่นๆ นอกเหนือจากจีน” ชอง อิน-คโย รัฐมนตรีกระทรวงการค้าของเกาหลีใต้กล่าวเมื่อวันอังคาร (8 เม.ย.) 

ญี่ปุ่น / โดนเรียกเก็บ 24%

นายกฯ ชิเงรุ อิชิบะ กล่าวเมื่อวันจันทร์ (7 เม.ย.) ว่าญี่ปุ่นจะนำเสนอ ‘แพ็คเกจ’ มาตรการแก่รัฐบาลทรัมป์ เพื่อขอลดภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ ในระหว่างการโทรศัพท์เมื่อวันจันทร์ แต่ยอมรับว่าข้อตกลง ‘จะไม่เกิดขึ้นชั่วข้ามคืน’ 

“ผมได้บอกกับประธานาธิบดีทรัมป์แล้วว่า ญี่ปุ่นเป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐฯ เป็นเวลา 5 ปีติดต่อกัน และนโยบายภาษีศุลกากรอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการลงทุนของบริษัทญี่ปุ่น” อิชิบะกล่าวกับผู้สื่อข่าวหลังจากโทรศัพท์คุยกับทรัมป์

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์