ท่ามกลางความตึงเครียดระหว่างอินเดียกับปากีสถานกรณีกลุ่มติดอาวุธสังหารนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวอินเดียเสียชีวิต 26 คนในแคว้นแคชเมียร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ตอนนี้ความสนใจของชาวโลกกำลังมุ่งไปที่คำถามว่า ความขัดแย้งทางทหารมีแนวโน้มจะเกิดขึ้นระหว่างเพื่อนบ้านที่ต่างก็มีอาวุธนิวเคลียร์หรือไม่
แม้ว่าเจ้าหน้าที่จะไม่ต้องการให้อินเดียกับปากีสถานเปิดฉากโจมตีกันในระดับใหญ่กว่านี้ แต่รัฐบาลของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมดี กำลังถูกกดดันให้ตอบโต้คณะกรรมการที่ปรึกษาสภาความมั่นคงแห่งชาติอินเดียเรียกร้องให้อินเดียตอบโต้อย่างแข็งกร้าวต่อความโหดร้ายดังกล่าว โดยบอกว่าการประณามเพียงอย่างเดียวไม่เพียงพอ
ความตึงเครียดในแคชเมียร์ทวีขึ้น
ในทางทฤษฎี อินเดียมีกองทัพที่ใหญ่กว่าของปากีสถาน สถาบันศึกษายุทธศาสตร์นานาชาติระบุว่า อินเดียมีกองกำลังประมาณ 1,475,000 นายในกองทัพ มากกว่ากองกำลังของปากีสถาน 2 เท่า อินเดียยังทุ่มงบประมาณมหาศาลให้กองทัพ ปีที่แล้วจ่ายไปราว 86,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็น 1 ใน 5 ประเทศที่ใช้งบประมาณด้านกลาโหมมากที่สุดในโลก ซึ่งมากกว่าของปากีสถาน 8 เท่า
แม้จะเป็นอย่างนั้น แต่ภูมิศาสตร์ของแคชเมียร์ทำให้ทางเลือกทางการทหารของทั้งสองฝ่ายมีจำกัด อินเดียต้องแบ่งกองกำลังส่วนหนึ่งไปป้องกันชายแดนทางตอนเหนือที่ติดกับจีนซึ่งมีกรณีพิพาทเหนือดินแดนหิมาลัยด้วย ส่วนปากีสถานก็ต้องให้ความสำคัญกับพรมแดนติดอัฟกานิสถานซึ่งกลุ่มติดอาวุธมักจะข้ามพรมแดนมาโจมตี
การเสริมกำลังด้วยโดรนและทรัพยากรด้านการเฝ้าระวังถือเป็นเรื่องสำคัญสำหรับทั้งสองประเทศ กองทัพปากีสถานกล่าวเมื่อสัปดาห์นี้ว่ากองกำลังของปากีสถานยิงโดรนสอดแนมของอินเดียตกตามแนวชายแดนที่เป็นข้อพิพาท
ฮาร์ช แพนท์ รองประธาน Observer Research Foundation ซึ่งเป็นสถาบันคลังสมองในนิวเดลีเผยว่า สำหรับอินเดีย การต้องรับมือกับทั้งปากีสถานและจีนซึ่งบางครั้งก็หันมาจับมือกัน กลายเป็นข้อเสียเปรียบอีกหนึ่งจุด “กองทัพอินเดียใหญ่กว่า แต่ต้องเผชิญกับความท้าทายเชิงยุทธศาสตร์ในการปกป้องพรมแดนทั้งสองแห่ง”

อาวุธนิวเคลียร์
การเผชิญหน้ากันของอินเดียกับปากีสถานมีเดิมพันสูงมาก การประเมินของสมาคมควบคุมอาวุธพบว่า แต่ละประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์อยู่ราว 170 หัวรบ สำหรับปากีสถาน คลังอาวุธนี้ถูกมองว่าเป็นหนทางในการห้ามปรามอินเดีย ซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจใหญ่กว่ามาก ไม่ให้ดำเนินการทางทหาร
นอกจากทั้งสองประเทศยังคงยุ่งอยู่กับการผลิตอาวุธนิวเคลียร์แล้ว อินเดียกับปากีสถานยังแข่งขันกันปรับปรุงระบบการยิงหัวรบนิวเคลียร์ ซึ่งรวมถึงขีปนาวุธสำหรับโจมตีเข้าไปลึกขึ้นภายในดินแดนของศัตรูด้วย
อย่างไรก็ดี อินเดียยึดหลัก “ไม่เป็นฝ่ายเริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน” และไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธีซึ่งมีประสิทธิภาพต่ำและสำหรับใช้งานในสนามรบเท่านั้น แต่ปากีสถานพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เชิงยุทธวิธี นั่นก็คือ ขีปนาวุธ Nasr (Hatf-9) ซึ่งมีพิสัย 70 กิโลเมตร และปากีสถานมีสิทธิ “เริ่มใช้อาวุธนิวเคลียร์ก่อน”
ทั้งอินเดียและปากีสถานต่างก็กำลังมองหาการสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถยิงหัวรบนิวเคลียร์ได้ทั้งทางบก ทางทะเล หรือทางอากาศ อินเดียได้เปรียบกว่าในเรื่องของพิสัย ขีปนาวุธ Agni-V ที่ยิงจากพื้นดินขออินเดียมีพิสัยราว 5,000-8,000 กิโลเมตร ส่วนขีปนาวุธ Shaheen 3 ของปาสีกสถานซึ่งกำลังพัฒนามีพิสัยราว 2,750 กิโลเมตร ซึ่งเพียงพอจะส่งผลกระทบต่ออินเดียทั้งประเทศ ขึ้นอยู่กับว่ายิงมาจากส่วนไหนของปากีสถาน
นอกจากนี้ ทั้งสองประเทศยังเป็นผู้ซื้ออาวุธจากต่างประเทศรายใหญ่ โดยส่วนใหญ่มาจากรัสเซียและจีน
จากข้อมูลของสถาบันวิจัยสันติภาพนานาชาติสต็อกโฮล์ม (SIPRI) พบว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ อินเดียหันไปหาผู้ผลิตอาวุธในสหรัฐฯ ฝรั่งเศส และประเทศอื่นๆ จนขยับขึ้นเป็นผู้นำเข้าอาวุธรายใหญ่ที่สุดในโลก การพึ่งพาอาวุธจากรัสเซียของอินเดียลดลงจาก 76% ของการนำเข้าอาวุธทั้งหมดในปี 2009-2013 เหลือ 36% ในปี 2019-2023 เนื่องจากอินเดียต้องการยกเครื่องกองทัพให้ทันสมัยด้วยอาวุธจากบริษัทด้านการป้องกันประเทศชั้นนำในสหรัฐฯ และยุโรป
ปากีสถานพยายามตามให้ทันอินเดียด้วยการซื้ออาวุธจากจีน การนำเข้าอาวุธจากจีนคิดเป็น 82% ของอาวุธทั้งหมดของปากีสถานระหว่างปี 2019-2023 ขณะที่ปี 2009-2012 อยู่ที่ 51%
ซาร์ดาร์ จาฮานซาอิบ กาหลิบ เขียนไว้ในบทความเมื่อเดือนธันวาคมของสถาบันยุทธศาสตร์ศึกษาอิสลามาบัดว่า “ความเหลื่อมล้ำทางอำนาจในภูมิภาค ซึ่งเน้นย้ำโดยเครื่องจักรทางทหารที่ขยายตัวของอินเดีย บีบให้ปากีสถานต้องสำรวจกลยุทธ์เพื่อลดอิทธิพลทางทหารแบบเดิมของฝ่ายตรงข้าม”

โอกาสเกิดสงคราม
มานาลี กุมาร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเซนต์กัลเลนเผยว่า ความสัมพันธ์ของอินเดียกับปากีสถานเดินมาถึงจุดต่ำสุดในรอบหลายสิบปี เพียงแต่ยังไม่ทำสงครามกันเท่านั้น
แต่การโจมตีทางทหารอย่างโจ่งแจ้งก็มีแนวโน้มจะได้รับการตอบโต้อย่างรุนแรงจากปากีสถาน ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่มีราคาที่ต้องจ่ายสูง และผลักดันให้ทั้งสองฝ่ายไปสู่จุดที่ไม่สามารถกลับคืนได้อย่างรวดเร็ว
แม้ขุมกำลังจะต่างกัน แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านการทหารเตือนว่า ศักยภาพของกองทัพปากีสถานมีไม่น้อยไปกว่าอินเดีย และแข็งแกร่งเพียงพอที่จะ “สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงและทำให้มีการสูญเสียครั้งใหญ่” ได้
ผลกระทบถ้าเกิดสงคราม
การปะทะทางทหารครั้งใหญ่ระหว่างอินเดียและปากีสถานจะเกิดขึ้นพร้อมกับภัยคุกคามจากอาวุธนิวเคลียร์ที่อาจเกิดขึ้น
นักวิจัยเผยแพร่บทความไว้ใน Bulletin of the Atomic Scientists ปี 2019 ว่า ความขัดแย้งทางนิวเคลียร์ในพื้นที่ประชากรหนาแน่นอาจส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตราว 125 ล้านคนภายในเวลาไม่กี่วัน และจะสร้างผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมมากมาย จนนำมาสู่ความอดอยากที่ส่งผลกระทบต่อผู้คนนับล้าน หรือพันล้านคนทั่วโลก
“ผลกระทบโดยตรงของการปะทะกันด้วยอาวุธนิวเคลียร์จะเลวร้ายมาก ผู้เขียนคาดว่าจะมีผู้เสียชีวิตราว 50-125 ล้านคน ขึ้นอยู่กับว่าอาวุธที่ใช้มีพลังทำลายล้าง 15 หรือ 50 หรือ 100 กิโลตัน…ผลกระทบต่อสังคมอินเดียและปากีสถานจะรุนแรงและยาวนาน เมืองใหญ่หลายแห่งถูกทำลายเป็นส่วนใหญ่และไม่สามารถอยู่อาศัยได้”
— บทความใน Bulletin of the Atomic Scientists ปี 2019 ระบุ
อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์อินเดียชี้ว่า อินเดียต้องพิจารณาถึงผลที่อาจเกิดขึ้นจากการตอบโต้ด้วยอาวุธเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กว้างขึ้นบนเวทีระหว่างประเทศ นั่นก็คือ การตอกย้ำสถานะของอินเดียในฐานะมหาอำนาจที่มีอิทธิพลในระดับโลก และผู้นำที่มีความรับผิดชอบและมั่นคงในเอเชียใต้ตามนโยบาย “Neighbourhood First”
แฮปปีมอน จาค็อบ ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศชาวอินเดียเผยว่า “ในสถานการณ์ปฏิบัติการตอบโต้ทางการทหารแบบดั้งเดิม แม้แต่กองทัพที่แข็งแกร่งกว่าก็ยังยากที่จะกลายเป็นผู้ชนะที่ชัดเจน การดำเนินการตอบโต้ทางทหารกับปากีสถานซึ่งเต็มไปด้วยศักยภาพที่จะทำให้เกิดความรุนแรงขึ้นได้ จะทำให้เดลีหันเหความสนใจทางการเมืองและการทูตออกไปจากเป้าหมายในระดับโลก”
แม้ตอนนี้จะยังไม่มีการเผชิญหน้ากันทางทหารที่รุนแรง แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เตรียมพร้อมกองกำลังของตัวเองอย่างเต็มที่ท่ามกลางการปะทะรายวันทั่วเขตควบคุมซึ่งเป็นเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างอินเดียกับปากีสถาน และยังใช้การลงโทษทางการทูตมากมายอีกด้วย
Photo by Tauseef MUSTAFA / AFP