บริษัทน้ำมันและบริษัทเกษตรของอินโดนีเซียได้ลงนามข้อตกลงเพื่อเพิ่มปริมาณการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ เพื่อเตรียมรับมือและหลีกเลี่ยงผลกระทบรุนแรงจากภาษีศุลกากรของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ประเทศเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนได้ให้คำมั่นที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าเกษตร พลังงาน และสินค้าทั่วไปจากสหรัฐฯ เพื่อช่วยลดช่องว่างการค้ากับสหรัฐฯ โดยเมื่อต้นสัปดาห์นี้ อินโดนีเซียเพิ่งทำข้อตกลงมูลค่า 1.25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 4 หมื่นล้านบาท) ในการซื้อข้าวสาลีจากสหรัฐฯ
ทรัมป์ขู่จะเก็บภาษีศุลกากร 32% บวกกับภาษีพื้นฐาน 10% กับสินค้านำเข้าจากอินโดนีเซีย หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงการค้าใหม่ภายในวันที่ 1 สิงหาคมนี้
แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ ซึ่งเดินทางไปกรุงวอชิงตันเพื่อเจรจาการค้า เปิดเผยว่า เปอร์ตามีนา (Pertamina) บริษัทน้ำมันของรัฐได้ลงนามบันทึกความเข้าใจว่าจะซื้อสินค้าพลังงานจากสหรัฐฯ เพิ่ม แต่ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดเพิ่มเติม
ขณะที่บริษัทในภาคเกษตรกรรมของอินโดนีเซีย ได้แก่ Sorini Agro Asia Corporindo ซึ่งเป็นสมาชิกของสมาคมโรงสีข้าวโพดอินโดนีเซีย และกลุ่ม FKS ก็ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจเพื่อเพิ่มการสั่งซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ ด้วย
แม้จะยังไม่เปิดเผยมูลค่าของข้อตกลงที่ลงนามในกรุงวอชิงตัน แต่เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ฮาร์ตาร์โต เผยว่า ธุรกิจอินโดนีเซียจะมีการลงทุนและซื้อสินค้าจากสหรัฐฯ รวมมูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท)
สถานเอกอัครราชทูตอินโดนีเซียในกรุงวอชิงตันยืนยันว่าข้อตกลงเหล่านี้ได้ถูกลงนามในการประชุมระดับสูงที่จัดขึ้นในกรุงวอชิงตันเมื่อวันอังคาร (7 ก.ค.) ที่ผ่านมา
การประชุมดังกล่าวส่งผลให้เกิดข้อตกลงทางการค้าหลายรายการ โดยมีการลงนามบันทึกความเข้าใจ (MoU) หลายฉบับ ซึ่งเปิดทางสู่โอกาสความร่วมมือใหม่ๆ และเสริมความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทวิภาคีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
บริษัทอาหารสหรัฐฯ คาร์กิลล์ (Cargill) ยืนยันว่า ในข้อตกลงดังกล่าว ยังรวมถึงบันทึกความเข้าใจเกี่ยวกับการซื้อข้าวโพดด้วย
ข้อมูลจากสำนักงานผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ระบุว่า ในปี 2024 สหรัฐฯ มีการขาดดุลการค้ากับอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 1.79 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5.8 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 5.4% จากปีก่อนหน้า
(Photo by CHAIDEER MAHYUDDIN / AFP)