การประชุมระหว่างอินโดนีเซียกับผู้แทนสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตันเกี่ยวกับการเก็บภาษีนำเข้าสินค้า 32% ที่สหรัฐฯ จะเริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคมนั้น ‘เป็นไปในทางบวก’ โดยทั้งสองประเทศกำลังพิจารณาขยายความร่วมมือในภาค ‘แร่ธาตุสำคัญ’
แอร์ลังกา ฮาร์ตาร์โต หัวหน้าคณะเจรจาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจ กล่าวกับสำนักข่าว Reuters ว่า เขาได้พบกับ โฮเวิร์ด ลุตนิก รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และเจมีสัน กรีเออร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันพุธ (9 ก.ค.) ที่ผ่านมา เพื่อหารือเรื่องภาษีศุลกากร อุปสรรคทางการค้า และความร่วมมือทางธุรกิจ โดยทั้งสองฝ่ายจะเร่งเจรจาต่อไปในอีก 3 สัปดาห์ข้างหน้า
อินโดนีเซียได้ยื่นเอกสารครบถ้วนตามที่สหรัฐฯ ร้องขอ และเสนอความร่วมมือด้านการลงทุนและการนำเข้าสินค้า รวมถึงข้อตกลงทางธุรกิจมูลค่ารวม 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 1.1 ล้านล้านบาท) ซึ่งครอบคลุมการซื้อสินค้าในภาคพลังงานและสินค้าเกษตร รวมถึงการลงทุนผ่านกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติของอินโดนีเซีย
“เรามีความเข้าใจในแนวทางการเจรจาที่คล้ายคลึงกับสหรัฐฯ และในอนาคตเราจะพยายามสรุปการเจรจาเหล่านี้โดยยึดหลักผลประโยชน์ร่วมกัน” ฮาร์ตาร์โต กล่าวในแถลงการณ์
อินโดนีเซียและสหรัฐฯ กำลังมองหาความร่วมมือที่กว้างขึ้นในภาคแร่ธาตุสำคัญของอินโดนีเซีย ซึ่งมีแหล่งสำรองโลหะอย่างนิกเกิล ทองแดง และโคบอลต์ จำนวนมาก โดยกระทรวงเศรษฐกิจอินโดนีเซียระบุว่า ความมั่งคั่งด้านแร่ธาตุเหล่านี้เป็นจุดแข็งที่สำคัญในการเจรจาการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ
อินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดในอาเซียนและเป็นสมาชิกกลุ่ม G20 รวมถึงเป็นเป็นผู้ผลิตโลหะรายใหญ่ เช่น นิกเกิล ดีบุก และทองแดง อีกทั้งยังเป็นผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่ที่สุดของโลกด้วย
ในการเจรจาภาษีศุลกากร อินโดนีเซียได้เสนอที่จะลดอัตราภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ ลงเกือบศูนย์ และเสนอเพิ่มการซื้อสินค้าและการลงทุนจากสหรัฐฯ คิดเป็นมูลค่าประมาณ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทอินโดนีเซียหลายแห่งได้ลงนามในข้อตกลงเบื้องต้นกับบริษัทสหรัฐฯ เพื่อเพิ่มการซื้อสินค้าในกลุ่มพลังงาน ข้าวสาลี ข้าวโพด และฝ้าย เป็นต้น
(Photo by Yasuyoshi CHIBA / AFP)