ชมปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ ‘ดาวศุกร์สว่างที่สุด’ 24 เม.ย. ครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้

22 เม.ย. 2568 - 01:00

  • สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ ชวนชมปรากฏการณ์ ‘ดาวประกายพรึก’ ดาวศุกร์สว่างที่สุดครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้

  • รุ่งเช้า 24 เม.ย.ปรากฏเด่นทางทิศตะวันออก ตาเปล่าเห็นชัด

Invite_to_see_the_astronomical_phenomenon_Venus_at_its_brightest_for_the_last_time_this_year_on_24_April_SPACEBAR_Hero_7274dcc900.jpg

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร. หรือ NARIT) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) ชวนชม “ดาวศุกร์สว่างที่สุด”รุ่งเช้า 24 เมษายน 2568 ปรากฏสว่างเด่นทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น หากฟ้าใส ไร้ฝน สังเกตได้ด้วยตาเปล่าทั่วประเทศ หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์

เพจเฟซบุ๊กสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติฯ เปิดเผยว่า ในวันที่ 24 เมษายน 2568 ‘ดาวศุกร์’ จะปรากฏสว่างที่สุดเป็นครั้งสุดท้ายในรอบปีนี้ เห็นชัดด้วยตาเปล่าทางทิศตะวันออก ตั้งแต่เวลาประมาณ 04.00 น. เป็นต้นไป จนกระทั่งดวงอาทิตย์ขึ้นจากขอบฟ้า

หากดูผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวคล้ายดวงจันทร์ นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าวยังสามารถสังเกตเห็นดาวเสาร์ปรากฏถัดลงมาใกล้ขอบฟ้า อีกทั้งยังมีดวงจันทร์เสี้ยวปรากฏสว่างถัดขึ้นไปอีกด้วย หากทัศนวิสัยท้องฟ้าดีสามารถชมความสวยงามของดาวศุกร์และวัตถุท้องฟ้าต่างๆ ได้ด้วยตาเปล่าอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ หากดาวศุกร์ปรากฏบนท้องฟ้าในช่วงหัวค่ำทางทิศตะวันตก หลังดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า คนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประจำเมือง’ แต่หากดาวศุกร์ปรากฏในช่วงเช้ามืดทางทิศตะวันออก ก่อนดวงอาทิตย์ขึ้น คนไทยจะเรียกว่า ‘ดาวประกายพรึก’

‘ดาวศุกร์สว่างที่สุด’ คือช่วงที่ดาวศุกร์ปรากฏเป็นเสี้ยวที่มีขนาดใหญ่จากมุมมองบนโลก แม้จะไม่เต็มดวง แต่เนื่องจากอยู่ใกล้โลกและมีพื้นที่ผิวที่สะท้อนแสงอาทิตย์ได้มาก จึงทำให้ดาวศุกร์ดูสว่างจ้ามากกว่าช่วงอื่นๆ แม้ดาวศุกร์จะมีเสี้ยวที่หนากว่า แต่ด้วยตำแหน่งที่อยู่ห่างจากโลกมาก ความสว่างจึงลดลงตามไปด้วย

Invite_to_see_the_astronomical_phenomenon_Venus_at_its_brightest_for_the_last_time_this_year_on_24_April_SPACEBAR_Photo_37dfff2acd.jpg
อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์