เมื่คนญี่ปุ่นหันมาซื้อบ้านมีประวัติผีสิงมากขึ้นหลังราคาที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
คาซุโตชิ โคดามะ ที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์และนักสืบผีออกสำรวจบ้านหลังหนึ่งเป็นประจำที่มีประวัติอันน่าสยดสยอง ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อน พบหญิงชรารายหนึ่งแขวนคอตายในห้องน้ำ และในปี 2024 ก็ยังพบว่าลูกชายของเธอเสียชีวิตอยู่ในบ้านหลังนั้นเพียงลำพัง โดยศพของเขาถูกพบหลังจากผ่านไปประมาณ 10 วัน
โคดามะเล่าว่า เขาพักในบ้านหลังนี้เกือบ 20 ครั้งตั้งแต่เวลา 22.00 น. ถึง 06.00 น. ซึ่งตั้งอยู่ในย่านที่อยู่อาศัยอันเงียบสงบในชิบะใกล้กับโตเกียว โดยติดตั้งกล้องวิดีโอ 4 ตัว, กล้องถ่ายภาพความร้อน, เครื่องวัดสนามแม่เหล็กไฟฟ้า, เครื่องวัดความดันอากาศ, เทอร์โมมิเตอร์, และเครื่องบันทึกเสียง พร้อมทั้งจดบันทึกค่าต่างๆ ทุกชั่วโมง
เมื่อเขามั่นใจว่าไม่มีปรากฏการณ์เหนือธรรมชาติ เช่น การรบกวนแม่เหล็กไฟฟ้าที่อธิบายไม่ได้ เขาจะออกใบรับรองยืนยันว่า “อสังหาริมทรัพย์หลังนี้ปลอดผี”
ในญี่ปุ่น บ้านที่เคยเกิดเหตุฆาตกรรม หรือการฆ่าตัวตาย จะถูกจัดประเภทเป็น ‘jiko bukken’ หรือ ‘อสังหาริมทรัพย์โชคร้าย’ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเครียดทางจิตใจแก่เจ้าของ หรือผู้เช่าใหม่ได้ นอกจากนี้ยังรวมไปถึงบ้านที่มีการเสียชีวิตอย่าง ‘โดดเดี่ยว’ (Socially isolated deaths / การเสียชีวิตจากการแยกตัวทางสังคม) ซึ่งเป็นประเภทอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายที่พบได้บ่อยที่สุด เพราะกว่าจะเจอศพ ก็ผ่านไประยะหนึ่งจนศพเน่าเปื่อย ถึงขั้นที่ต้องทำความสะอาดพิเศษ หรือเปลี่ยนพื้นและวอลเปเปอร์
แนวคิดสมัยใหม่เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายในญี่ปุ่นได้รับอิทธิพลจากศาสนาชินโตโบราณ ที่เชื่อว่าหากคนตายด้วยความเสียใจ วิญญาณของพวกเขาจะยังคงวนเวียนอยู่บนโลก โดยเฉพาะสถานที่เกิดเหตุการณ์นั้นๆ ที่เต็มไปด้วยความโกรธแค้น หรือเศร้าโศก
“การหาผู้เช่าในบ้านเหล่านี้เคยเป็นเรื่องแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่ด้วยราคาที่ดินและอสังหาริมทรัพย์ที่พุ่งสูงขึ้น ผู้คนจึงเริ่มพิจารณาอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง”
— โคดามะ ผู้ก่อตั้งบริษัท ‘Kachimode’ เมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งให้บริการสืบสวนผีสำหรับผู้ที่ต้องการซื้อ หรือเช่าบ้าน กล่าว
ราคาที่อยู่อาศัยในญี่ปุ่นพุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว เนื่องจากต้นทุนวัสดุก่อสร้างและค่าแรงที่เพิ่มขึ้น รวมถึงนักลงทุนต่างชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ซึ่งถูกดึงดูดด้วยค่าเงินเยนที่อ่อนตัวและราคาที่อยู่อาศัยในประเทศที่ยังถือว่า ‘มีราคาถูก’ เมื่อเทียบกับต่างประเทศ
ข้อมูลจากบริษัทวิจัยอสังหาริมทรัพย์ ‘Tokyo Kantei’ ระบุว่า ราคาเฉลี่ยของคอนโดมิเนียมขนาด 70 ตารางเมตรที่ขายต่อใน 23 เขตของโตเกียวพุ่งสูงขึ้นกว่า 1 ใน 3 ในเดือนพฤษภาคมจากปีก่อนเป็น 100.9 ล้านเยน (ราว 22 ล้านบาท)
จำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในญี่ปุ่นส่งผลให้เกิดการเสียชีวิตแบบสังคมโดดเดี่ยวมากขึ้น รายงานฉบับแรกของสำนักงานนโยบายแห่งชาติระบุว่า เกือบ 21,900 รายในปี 2024 ที่ถูกพบศพนั้น เสียชีวิตมาแล้ว 8 วันขึ้นไป แนวโน้มดังกล่าวทำให้ผู้สูงอายุไม่สามารถเช่าที่อยู่อาศัยได้ เนื่องจากเจ้าของกังวลว่าวันหนึ่งอสังหาริมทรัพย์ของตัวเองอาจถูกตราหน้าว่าเป็น ‘อสังหาริมทรัพย์โชคร้าย’ ในอนาคต
รัฐบาลกลางญี่ปุ่นจึงได้ออกแนวทางในปี 2021 เพื่อบรรเทาปัญหาอสังหาริมทรัพย์โชคร้าย โดยแนะนำว่า บ้านที่เคยเกิดเหตุการณ์เสียชีวิตแบบโชคร้ายสามารถปลดป้าย ‘อสังหาริมทรัพย์โชคร้าย’ ได้หลังจากผ่านไป 3 ปี ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของบ้านหาผู้เช่า หรือผู้ซื้อได้ง่ายขึ้น แต่เจ้าของบ้านและนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ยังคงต้องเปิดเผยประวัติของบ้านให้กับผู้ซื้อ หรือผู้เช่าที่สอบถามข้อมูล
แนวทางนี้ช่วยกระตุ้นความสนใจในตลาดอสังหาริมทรัพย์โชคร้าย แม้ว่าโคดามะ อาจเป็นคนแรกที่ให้บริการสืบสวนผีสำหรับผู้ซื้อและผู้เช่า แต่ก็มีนายหน้าอสังหาริมทรัพย์รายอื่นๆ ที่พยายามหาประโยชน์จากตลาดนี้เช่นกัน
พวกเขาระบุว่า คนรุ่นใหม่บางส่วนเริ่มเปิดใจยอมรับการอยู่อาศัยในอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายมากขึ้น ขณะที่นักลงทุนทั้งในประเทศและต่างชาติ รวมถึงนักลงทุนชาวจีนจำนวนมาก ก็มองเห็นโอกาสในการทำกำไรสูงจากอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้
“นักลงทุนไม่สนใจประวัติของอสังหาริมทรัพย์ เพราะพวกเขาไม่ได้อยู่อาศัยเอง เจ้าของบางรายขึ้นค่าเช่าหลังจากผ่านไป 3 ปีอีกด้วย” อากิระ โอคุมะ ผู้ก่อตั้งบริษัทนายหน้าอสังหาริมทรัพย์ ‘Happy Planning’ กล่าว
นายหน้าอสังหาริมทรัพย์ยังสังเกตว่าในขณะที่สถานที่เกิดเหตุฆาตกรรมอาจต้องขายในราคาต่ำกว่าราคาตลาดปกติ 80% หรืออาจขายไม่ได้เลย แต่สำหรับอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายประเภทอื่นๆ ราคาจะลดลงประมาณ 20% เท่านั้น
ตามการสำรวจของ ‘CBRE’ บริษัทที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์และบริการด้านการลงทุนระดับโลกระบุว่า บริการของบริษัทอย่าง ‘MarksLife’ ที่ดูแลอสังหาริมทรัพย์โชคร้าย รวมถึงจัดพิธีกรรมปล่อยวิญญาณโดยพระสงฆ์พุทธ มีผลตอบแทนการลงทุนเฉลี่ยสูงถึง 8.4% ในขณะที่อพาร์ตเมนต์สตูดิโอในใจกลางโตเกียวมีผลตอบแทนเพียง 3.55%
นายหน้าอสังหาริมทรัพย์คาดว่าอสังหาริมทรัพย์โชคร้ายในญี่ปุ่นจะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เนื่องจากประชากรผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวซึ่งปัจจุบันคิดเป็น 14% ของครัวเรือนทั้งหมด จะเพิ่มเป็น 1 ใน 5 ภายใน 20 ปีข้างหน้า
จนถึงตอนนี้ โคดามะ ก็ยังไม่ได้ออกใบรับรองว่าอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดชิบะ ซึ่งขณะนี้เขากำลังให้เช่าพร้อมแผนปล่อยเช่าช่วงนั้น ‘ไม่มีผี’ แต่เขากล่าวว่าได้ทำการสืบสวนมากกว่า 70 ครั้ง และมีเพียงส่วนน้อยเท่านั้นที่พบปรากฏการณ์ลี้ลับ เช่น การรบกวนของสนามแม่เหล็ก
สำหรับผู้ซื้อบางราย ใบรับรองของเขาอาจเพียงพอที่จะตัดสินใจซื้อ แต่สำหรับบางคนแล้ว บ้านที่มีประวัติไม่ดีแบบนี้ก็ยังเป็นเรื่องที่รับไม่ได้ “แม้จะมีส่วนลด ฉันก็จะเลี่ยง...ไม่ใช่แค่เรื่องผีเท่านั้น แต่ประวัติที่ผิดปกติและโชคร้ายก็ทำให้ฉันรู้สึกกลัว” มาริ ชิมามูระ พนักงานออฟฟิศ วัย 24 ปี กล่าว
Photo by : Shutterstock / JinFujiwara