นักเศรษฐศาสตร์ KKP ชี้ 3 ทางเลือกไทย รับมือภาษีสหรัฐ

3 เม.ย. 2568 - 11:14

  • หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ฯ เกียรตินาคินภัทร มอง ไทยมี3ทางเลือก ‘สู้-หมอบ-ทน’

  • กรณี‘ทรัมป์’ ขึ้นภาษีนำเข้าไทย 36%

  • แนะไทยเร่งเจรจาต่อรองหลังสหรัฐฯ

kkp_research_trump_usa_reciprocal_tariffs_SPACEBAR_Hero_81966a97d6.jpg

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP) ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการที่ประธานาธิบดีสหรัฐฯ โดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยในอัตรา 36% โดยระบุว่ามาตรการดังกล่าวส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างมาก 

ทั้งนี้ ดร.พิพัฒน์ แสดงความคิดเห็น ผ่านการโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ... “งานแรกของรัฐบาลคือต้องไปหาก่อนเลยว่า 72% มาจากไหน?”

“Trump เล่นคิดว่าไทยเก็บภาษีสินค้าสหรัฐ (รวม nontariff barriers) 72%! ทั้งๆที่ค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าแค่ประมาณ 10% แปลว่าเขาคิด value ของ nontariff barrier เยอะมาก หรือไม่ก็ focus ตรงสินค้าที่เราคิดภาษีเขาเยอะๆ เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย หรือไม่ก็เขียนผิด” 

ดร.พิพัฒน์ ชี้ให้เห็นว่าการขึ้นภาษีครั้งนี้อาจทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของไทยเติบโตต่ำกว่า 2% ในปีนี้ เนื่องจากการส่งออกที่คิดเป็น 60% ของ GDP ไทย โดยการส่งออกไปสหรัฐฯ คิดเป็นเกือบ 20% ของการส่งออกทั้งหมด หากการส่งออกไปสหรัฐฯ ลดลง จะส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อเศรษฐกิจไทย

กรณีที่เกิดขึ้น ดร.พิพัฒน์ เสนอทางเลือก 3 ประการ ได้แก่​

1. ‘สู้’ โดยการตอบโต้เช่นเดียวกับที่ “แคนาดา ยุโรป หรือจีนทำ​” ซึ่งอาจจะไม่ใช่ทางเลือกที่ดี เพราะเราพึ่งพาเขาเยอะกว่าเขาพึ่งพาเราเยอะมาก สหรัฐเป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่ที่สุดของเรา เราเกินดุลสหรัฐปีนึงหลายหมื่นล้าน (แม้ว่ามูลค่าของการเกินดุลจำนวนมากเป็นสินค้านำเข้าจากจีนที่อาศัยไทยเป็นช่องหลบเลี่ยงก็ตาม)

2. ‘หมอบ’คือการเจรจาหาทางออกที่สหรัฐฯ พอใจ เช่น ปรับลดภาษี ยอมเปิดตลาด หรือนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น

3. ‘ทน’ หากไม่สามารถหาทางออกได้ ... หรือไม่ก็ต้องหาแนวร่วมจากเพื่อนหัวอกเดียวกันในการกดดันและเจรจากับสหรัฐ เพราะเกมนี้สหรัฐก็อาจจะเจ็บอยู่ไม่น้อย สุดท้ายอาจจะต้องลดภาษีลงมาถ้าแรงกดดันในประเทศเพียงพอ แต่การทนและได้แต่หวังแบบไม่มีแผนคงไม่ใช่กลยุทธ์ทางออกที่ดีนัก

อย่างไรก็ตาม ดร.พิพัฒน์ เน้นว่าการเจรจากับสหรัฐฯ เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในสถานการณ์นี้ ​นอกจากนี้ ดร.พิพัฒน์ ยังตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับการที่สหรัฐฯ อ้างว่าไทยเก็บภาษีสินค้าจากสหรัฐฯ สูงถึง 72% โดยระบุว่าค่าเฉลี่ยภาษีนำเข้าของไทยอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งอาจหมายความว่าสหรัฐฯ คำนวณมูลค่าของอุปสรรคทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Barriers) สูงมาก หรืออาจมุ่งเน้นไปที่สินค้าที่ไทยเก็บภาษีสูง เช่น สินค้าเกษตร

“เราเก็บเขาสูง ๆ ยอมเปิดตลาดที่เราปกป้องอยู่ (เช่นสินค้าเกษตรทั้งหลาย) ยกเลิก non-tariff barrier เช่น การห้ามการนำเข้าเนื้อหมู ค่าตรวจสินค้า และ แค่นี้อาจจะไม่พอ เราอาจจะต้องนำเสนอทางออกให้สหรัฐอีก เช่น การนำเข้าพลังงาน นำเข้าสินค้าเกษตรเพิ่มเติม นำเข้าสินค้าใหญ่ๆ อย่างเครื่องบิน อาวุธ เครื่องจักร หรือต้องหาทางเพิ่มการลงทุนในสหรัฐ เราอาจจะต้องเปิดเสรีด้านต่างๆ ที่สหรัฐบ่นมาตลอด เช่น บริการทางการเงิน การคุ้มครองสิทธิทางปัญญา ประเด็นสิทธิของแรงงาน”

“แต่แน่นอนว่าทางเลือกนี้ นอกจากการเจรจา ‘ภายนอก’ แล้วต้องการการเจรจา ‘ภายใน’ ที่มีประสิทธิภาพ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าเราควรจะยอมเปิดสินค้าเกษตรแลกกับภาคการส่งออก ใครจะยอมเสียประโยชน์ใครจะได้ประโยชน์ และเกมที่ยากที่สุดคือการหาว่าสหรัฐต้องการอะไรจริงๆ เพราะอาจจะไม่ใช่เกมการค้า แต่เป็นเรื่องอื่นอย่างการทหาร ความมั่นคง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ที่เราคงต้องอ่านเกมดีๆและประเมินผลได้ผลเสีย”

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์