ส่องก้าวย่าง ‘รัฐบาลอิ๊งค์’ กลางฉากทัศน์การเมืองไทย…ที่ไม่เหมือนเดิม EP.2

8 ก.ค. 2568 - 02:05

  • ย้อนปมชุมนุมทางการเมืองจนนำไปสู่การรัฐประหารและจัดตั้งรัฐบาลในอดีต

  • ฉากทัศน์การเมืองไทย 2568 เงื่อนไขปัจจัยสุกงอมพอจะเทียบเคียงอดีตได้หรือยัง

  • จับตา ใคร? ที่จะมาเป็นคนคลายปมร้อนรัฐบาลที่กำลังสั่นคลอน

ส่องก้าวย่าง ‘รัฐบาลอิ๊งค์’ กลางฉากทัศน์การเมืองไทย…ที่ไม่เหมือนเดิม EP.2

EP.ที่ผ่านมา ทิ้งท้ายคำถามและปริศนาการเมืองไทย ทั้งเรื่องฉากทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไป และเก้าอี้ปริศนาที่กระทรวงกลาโหม 

ทำไมทั้งสองประเด็นนี้ถึงสำคัญ และจะส่งผลต่อทุกก้าวย่างของการเมืองไทยและรัฐบาลอิ๊งค์2 

คำตอบข้อแรก เรื่องฉากทัศน์การเมืองไทย ทำไมถึงบอกว่า…ไม่เหมือนเดิม

ในเมื่อยังคงมีร่องรอย และความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่ไม่ต่างจากการเมืองไทยนับจาก ปี 2548 อันเป็นปีที่เป็นจุดเริ่มต้นของความเพลี่ยงพล้ำทางการเมืองของพรรคไทยรักไทย 

ปี 2548 อันเป็นปีที่เกิดการชุมนุมใหญ่ของภาคประชาชนเกิดขึ้น การชุมนุมใหญ่ที่ต่างจากการชุมนุมใหญ่ที่ผ่านมา เพราะครั้งนี้ เป็นการชุมนุมครั้งแรกที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลพลเรือน ต่างจากการชุมนุมใหญ่ของภาคประชาชนในปี 2516 ที่มีเป้าหมายในการต่อต้านรัฐบาลทหารของจอมพล ถนอม กิตติขจร 

และต่างจากการชุมนุมใหญ่ของภาคประชาชน ในปี 2535 ที่ครั้งนั้นถูกขนานนามว่า เป็นม็อบชนชั้นกลาง ที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลของ พล.อ.สุจินดา คราประยูร 

การชุมนุมใหญ่ทั้ง ปี 2516 และ 2535 เป็นชัยชนะของภาคประชาชนที่มีต่อรัฐบาลทหาร แม้ครั้งนั้นรัฐบาล พล.อ.สุจินดา จะแปลงร่างเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ภาพของ พล.อ.สุจินดา ก็คือ หัวหน้าคณะรัฐประหารในนามหัวหน้าคณะ รสช. ที่ถูกกล่าวหาว่า ตระบัดสัตย์ขึ้นมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ทั้งที่เคยประกาศว่า จะไม่รับตำแหน่งนี้

การต่อสู้ครั้งนั้น จึงยังเป็นการต่อสู้ระหว่างภาคประชาชน กับ รัฐบาลทหารซ่อนรูป 

แต่การชุมนุมในปี 2548 เป็นการชุมนุมที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ที่มี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ในขณะนั้นเป็นนายกรัฐมนตรี และเป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง และชนะการเลือกตั้งแบบถล่มทลายในการเลือกตั้งทั่วไป ทั้ง 2 ครั้ง ท้ายที่สุด รัฐบาลของพรรคไทยรักไทย ก็ถูกรัฐประหาร โดย พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ในวันที่ 19 กันยายน 2549 

ฉากทัศน์การเมืองนับจากปี 2548 จึงเป็นจุดเริ่มต้นของการต่อสู้ทางการเมือง ที่เปลี่ยนจากการต่อสู้ระหว่างประชาชนกับเผด็จการทหาร มาเป็นประชาชนต่อประชาชน โดยมีทหารเป็นกรรมการคอยออกมาเป็นผู้คุมเกม และชี้ขาดทิศทางอำนาจ 

ฉากทัศน์นี้ก็ยังเคลื่อนตัวต่อเนื่องมาจนถึงการชุมนุมใหญ่ในปี 2551 ที่เป็นการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลของ สมัคร สุนทรเวช และรัฐบาลของ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่เป็นการต่อสู้กันระหว่างกลุ่มการเมือง 

ปี 2551 แม้ไม่มีการรัฐประหารโดยกองทัพ แต่ก็ยังมีฉากทัศน์ที่กองทัพนำโดย พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก ออกมาแถลงกดดันให้รัฐบาลของสมชาย ลาออก 

การชุมนุมใหญ่ในปี 2557 ที่เปลี่ยนจากกลุ่มพันธมิตประชาชนเพื่อประชาธิปไตย มาเป็นกลุ่ม กปปส. หรือ คณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ก็ยังเป็นการชุมนุมใหญ่ที่พุ่งเป้าไปยังรัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร 

ท้ายที่สุด ฉากทัศน์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นจากผลของการชุมนุมใหญ่ครั้งนั้น ก็นำไปสู่การรัฐประหารในวันที่ 22 พฤษภาคม 2557

ดังนั้น ปี 2568 เมื่อเกิดการชุมนุมใหญ่ต่อต้านรัฐบาล ที่นำโดย นายกฯอิ๊งค์ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งเป็นหนึ่งในตระกูลชินวัตรและเป็นนายกรัฐมนตรีนามสกุลชินวัตร คนที่ 3 

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จึงมั่นใจ และฟันธงไปในทิศทางเดียวกันว่า จุดจบของรัฐบาลแพทองธาร ชินวัตร คงจบลงแบบที่ไม่แตกต่างไปฉากทัศน์การเมืองเดิมที่เคยเกิดขึ้นในปี 2549 ปี 2551 และปี 2557 

ไม่แปลก…ที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่จะมั่นใจเช่นนั้น 

ประการแรก คำสั่งของศาลรัฐธรรมนูญ ที่สั่งให้นายกรัฐมนตรีหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว ก็เป็นสัญญาณของนิติสงคราม ที่หลายฝ่ายเชื่อตรงกันว่า เริ่มทำงาน และจะหยุดรัฐบาลของนายกฯอิ๊งค์ลงได้ 

ประการที่สอง เมื่อเกิดสุญญากาศทางการเมือง หลังนายกรัฐมนตรีถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ เกมขับเคลื่อนเพื่อเปลี่ยนศูนย์อำนาจ จากรัฐบาลพรรคเพื่อไทย ให้เปลี่ยนมือไปยังรัฐบาลพรรคภูมิใจไทย ดังที่เคยเกิดขึ้นกับครั้งที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ในปี 2551 ก็จะเกิดขึ้นอีกครั้ง เพราะนักวิเคราะห์เชื่อว่า การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีรอบใหม่ จะเกิดการจับมือกันของพรรคการเมืองหลายพรรค ที่จะขับเคลื่อนทั้งทางตรงและทางลับ 

แม้กระทั่งการสร้างกลุ่มงูเห่า เพื่อสกัดการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย อันจะนำไปสู่การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีจากพรรคภูมิใจไทย ซึ่งมีชื่อของ อนุทิน ชาญวีรกูล ตั้งแท่นรออยู่ 

แต่...หากยังไม่ลืม และหากรื้อฟื้นข้อมูลความทรงจำให้ดี โดยเฉพาะครูใหญ่ เนวิน ชิดชอบ เจ้าของวาทะ“มันจบแล้วครับนาย” ต้องรู้ดีว่า เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เบื้องหลังการย้ายขั้วการเมือง เกิดขึ้นที่ไหน และใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังดีลครั้งนั้น 

ใครเป็นคนเจรจากับ ‘ครูใหญ่เน’ พร้อมเปิดข้อมูลบางส่วนให้ดู เพื่อให้ ‘ครูใหญ่เน’ ยอมมอบตัว และยอมเปลี่ยนขั้ว 

ฉากทัศน์การเมืองไทยก่อนปี 2568 ล้วนแต่มีอำนาจนอกการเมือง…เป็นคนกำหนดทั้งสิ้น 

ประการสำคัญ ท่าทีกองทัพ ยังต้องชัดเจนยิ่ง ชัดเจนว่า มิได้อยู่ฝ่ายเดียวและเป็นเนื้อเดียวกับรัฐบาล ดังเช่นปี 2549 ปี 2551 ปี 2557

แต่กองทัพในปี 2568 เป็นกองทัพที่ต่างไปจากกองทัพก่อนปี 2559 

กองทัพก่อนปี 2559 เป็นกองทัพที่มีอำนาจ มีอิสระในการตัดสินใจบางอย่าง 

การเคลื่อนกำลังหน่วยรบสำคัญในกรุงเทพฯ การเคลื่อนกำลังรบทั้งหมด ขึ้นอยู่กับ ผบ.หน่วย ที่จะตัดสินใจเข้าร่วมกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่ 

รัฐประหารแต่ละครั้ง ผู้บังคับกองพันแต่ละกองพัน ต้องเป็นคนสั่งการรวบรวมกำลัง และเคลื่อนพลเข้าสู่ที่หมาย หลังจากตัดสินใจแล้วว่า จะปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชาคนไหน หรือฝ่ายไหน

อดีตผู้บังคับกองพันรายหนึ่ง บอกว่า “คนที่ลำบากใจที่สุดและเสี่ยงที่สุดต่อการรัฐประหารทุกครั้งคือ นายทหารระดับผู้บังคับกองพัน เพราะเป็นคนคุมกำลังออกมาบนถนน ชนะ เสมอตัว แพ้เป็น กบฏ”

รัฐประหารปี 2549 ผู้บัญชาการกองพลหลายหน่วย ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หน่วยกำลังในสังกัด กำลังจะรัฐประหาร

แต่กองทัพในปี 2568 มีอิสระพอที่จะทำเช่นนั้นได้หรือไม่…

กองทัพในปี 2568 มีอิสระที่จะตัดสินใจออกมาแถลงข่าวกดดันรัฐบาล ดั่งที่พล.อ.อนุพงษ์ เคยทำในปี 2551 หรือไม่ 

กองทัพในปี 2568 มีอิสระเพียงพอจะทำแบบที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เคยทำในการเรียกแกนนำรัฐบาล และแกนนำ กปปส.มาประชุมร่วมกัน ก่อนจะตัดสินใจประกาศยึดอำนาจในปี 2557 หรือไม่ 

คำตอบ คือ “ไม่” 

แต่ทำไมถึง “ไม่”

คำตอบ คือ คนที่รู้ก็รู้…คนไม่รู้ ก็ไปศึกษาดูว่า วันนี้โครงสร้างกองทัพยังเป็นเหมือนเดิมก่อนปี 2559 หรือไม่ 

กำลังหลักภายใต้กองทัพภาคที่ 1 หน่วยสำคัญที่เคยใช้ในการรัฐประหารแต่ละครั้ง ปัจจุบันแปรสภาพไปเป็นอะไร

เมื่อกองทัพไม่สามารถเป็นตัวแปรสำคัญในการกำหนดเกม… 

คำถาม คือ แล้วฉากทัศน์การเมืองไทย ใครจะเป็นคนกำหนด? 

ม็อบ เมื่อเกิดขึ้น…นิติสงคราม เมื่อเกิดขึ้น เมื่อเกิดสุญญากาศและเกิดความวุ่นวายทางการเมือง ใครจะเป็นผู้ควบคุมทิศทางการเมืองไทยให้เป็นไปสู่ภาวะปกติ 

ฉากทัศน์การเมืองไทยในห้วงเวลานี้ จึงจำเป็นต้องมีคนคุมเกม!

จำเป็นต้องมีคนซึ่งมีบารมีเพียงพอที่จะเป็นคนกลางในการคุมโต๊ะเจรจา และกำหนดทิศทางการเมืองให้นิ่ง และมีเสถียรภาพเพียงพอ 

โดยเฉพาะท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ ทั้งด้านเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจภายในประเทศ วิกฤติด้านความมั่นคงในระดับภูมิภาคเพราะภูมิรัฐศาสตร์ที่เปลี่ยนไป 

สุดท้ายความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ที่กำลังตึงเครียด และพร้อมจะปะทุได้ตลอดเวลา จากการยั่วยุ ท่าทีที่เหิมเกริม ท่าทีที่แข็งกร้าว ของทหารฝ่ายกัมพูชา 

คลิปล่าสุด ที่สุ่มเสี่ยงที่สุดต่อการปะทะกัน เป็นคลิปทหารกัมพูชาพร้อมอาวุธครบมือ ที่ลาดตระเวนรุกล้ำเข้ามาในเขตไทย แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของกัมพูชาที่ทำให้เกิดการปะทะกันตามแนวชายแดน

เครื่องแบบทหารกัมพูชา และอาวุธประจำกายที่ปรากฏในคลิป ถูกวิเคราะห์ว่า ส่วนหนึ่งเป็นทหารสังกัดกองพัน BHQ ซึ่งเป็นกองกำลังพิเศษของกัมพูชาที่ขึ้นตรงสมเด็จฮุน เซน โดยตรง ซึ่งรายงานข่าวระบุว่า ถูกส่งลงมาประจำการในพื้นที่เกือบ 1,000 นาย 

ทั้งหมดทั้งมวล ล้วนต้องการใครสักคนที่มีบารมีและมีความสัมพันธ์ที่สามารถประสานได้กับทุกฝ่ายลงมาคุมเกม 

ใครคนนั้น จะเป็นใครก็ได้…แต่ต้องมาตามระบบ มาตามข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ

ใครคนนั้น ต้องมีพลังพอที่จะควบคุมสถานการณ์ทางการเมืองให้มีเสถียรภาพ ท่ามกลางฉากทัศน์การเมือง 2568 ที่เปลี่ยนไปจากฉากทัศน์ทางการเมืองก่อนปี 2559

ส่วนคนๆ นั้นจะเป็นใคร?

คุณสมบัติเช่นนี้ ใช่ ‘บิ๊กแก้ว’ พล.อ.เฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ อดีตผู้บัญชาการกองทัพไทย หรือไม่ 

ขอไปต่ออีกสัก EP. เพื่อเฉลย

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์