หวังแก้อัตราเกิดต่ำ? รัฐบาลเกาหลีอัดฉีดเงิน 4 แสนบาทให้คู่รักที่ออกเดทจนแต่งงาน

26 พ.ค. 2568 - 10:08

  • เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศในอันดับต้นๆ ที่ยังคงเผชิญกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว มีอัตราการเกิดลดลงถึง 88%

  • ที่ผ่านมารัฐบาลท้องถิ่นต่างออกมาตรการทำโครงการจับคู่อัดฉีดเงินให้คู่รักที่คบกันจนแต่งงาน บางเขตจ่ายสูงถึง 20 ล้านวอน ขณะที่บางเขตจ่ายต่อเนื่องนาน 4 ปี

  • แต่คำถามก็คือ ‘มาตรการจ่ายเงินอัดฉีดคู่รัก’ มันช่วยแก้ปัญหาวิกฤตการเกิดต่ำได้จริงหรือ...?

หวังแก้อัตราเกิดต่ำ? รัฐบาลเกาหลีอัดฉีดเงิน 4 แสนบาทให้คู่รักที่ออกเดทจนแต่งงาน

เกาหลีใต้เป็นอีกหนึ่งประเทศในอันดับต้นๆ ที่ยังคงเผชิญกับอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างรวดเร็ว แม้แต่ไทยเราก็ยังติดหนึ่งในประเทศที่มีอัตราเกิดลดลงถึง 81% ในรอบ 74 ปีแซงหน้าญี่ปุ่น ขณะเดียวกันสังคมไทยก็กำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ 

 

จากการรวบรวมข้อมูลของหน่วยงานสังกัดสหประชาชาติ (United Nations Population Division) ตั้งแต่ปี 1950-2024 พบว่า :  

  • เกาหลีใต้มีอัตราการเกิดลดลงถึง 88% 
  • จีน 83%  
  • ไทย 81% 
  • ญี่ปุ่น 80% 
  • อิหร่าน 75% 

ทางการเกาหลีใต้แสดงความกังวลต่อการลดจำนวนประชากรในภูมิภาค รัฐบาลท้องถิ่นจึงพยายามขยายมาตรการสนับสนุนให้พลเมืองแต่งงาน โดยเริ่มมอบเงินสนับสนุนตั้งแต่การออกเดทครั้งแรก ไปจนถึงค่าใช้จ่ายในการหมั้นและฮันนีมูน เพื่อรับมือกับวิกฤตอัตราการเกิดที่ลดลง 

 

โครงการจับคู่ของรัฐบาล 

Shutterstock / metamorworks
Shutterstock / metamorworks

 

รัฐบาลกรุงโซลประกาศเปิดตัวรายการหาคู่ ‘Seolem, in Hangang Season 2’ ซีซั่นใหม่ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 21 มิถุนายน เพื่อเฟ้นหาคู่รักโรแมนติก โดยจะจัดขึ้นที่สวนสาธารณะบันโพฮันกัง และมีกิจกรรมนันทนาการต่างๆ เช่น การล่องเรือ การสนทนาแบบตัวต่อตัว การเล่นเกม และการให้คำแนะนำเรื่องการออกเดท 

 

ผู้ที่อาศัยอยู่ในกรุงโซลที่ไม่ได้แต่งงานและเกิดระหว่างปี 1980-2000 มีสิทธิ์ลงทะเบียนได้จนถึงเวลา 18.00 น. ของวันที่ 9 มิถุนายน โดยจะมีการคัดเลือกผู้ชาย 50 คนและผู้หญิง 50 คนเข้าร่วมงาน หากคู่ไหนจับคู่ได้สำเร็จ 1 วันหลังจบงานนี้ คู่รักจะได้รับคูปองสำหรับค่าใช้จ่ายในการออกเดท รวมเป็นเงิน 10 ล้านวอน (ราว 2 แสนบาท)

 

รัฐบาลโซลกล่าวเมื่อเดือนธันวาคมว่าโครงการจับคู่เป็นโครงการสำคัญที่จะกระตุ้นอัตราการเกิดที่ต่ำเรื้อรังนี้ อีกทั้งโครงการดังกล่าวยังเคยจัดขึ้นครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายน 2024 ด้วย ทั้งนี้พบว่า วัยรุ่นหนุ่มสาวต่างให้การตอบรับโครงการจับคู่แต่งงานของรัฐในเชิงบวก เมื่อปีที่แล้วมีผู้คนจำนวน 3,286 คนสมัครเข้าร่วมโครงการ ‘Seolem, in Hangang’ ซีซันที่ 1 และ 2,387 คนสมัครเข้าร่วมโครงการที่จัดขึ้นในวันวาเลนไทน์ในปีนี้ 

 

จากผลสำรวจเดือนเมษายนของสมาคมประชากร สุขภาพ และสวัสดิการของเกาหลี พบว่า ผู้หญิงโสดประมาณ 26.6% และผู้ชายโสด 18% ไม่ต้องการที่จะแต่งงาน 

 

เพื่อแก้ไขปัญหานี้ เมืองอินชอนซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 3 ของเกาหลีใต้ จึงได้ประกาศเมื่อเดือนมีนาคมว่าจะจัดงานหาคู่ 5 งานในช่วงเดือนมิถุนายนถึงพฤศจิกายน โดยแต่ละงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วน และทางการมีแผนที่จะเชิญผู้เข้าร่วมงานจำนวน 100 คนที่เกิดระหว่างปี 1986-2001 โดยคู่รักที่ได้รับการจับคู่จะได้รับคูปองหาคู่ และทางการกำลังพิจารณาให้เงินอุดหนุนเพิ่มเติมสำหรับค่าใช้จ่ายในการแต่งงานหากคู่รักวางแผนที่จะแต่งงานกัน 

 

ขณะที่เขตซาฮากูของเมืองปูซาน ซึ่งเป็นเมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของประเทศ ก็ได้จัดโครงการจับคู่ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ด้วยการคัดผู้เข้าร่วมโครงการ 20 คนมารวมตัวกันในสวนสาธารณะเพื่อปิกนิก หรือทำกิจกรรมนันทนาการร่วมกัน หากพวกเขาสานสัมพันธ์กันจะได้รับเงินอุดหนุน 500,000 วอน (ราว 1.1 หมื่นบาท) เพื่อใช้จ่ายสำหรับความสัมพันธ์ที่กำลังเริ่มต้น และจ่ายสูงถึง 20 ล้านวอน (ราว 4 แสนบาท) ให้กับคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันหลังจากเข้าร่วมงานจับคู่ดังกล่าว 

 

ภูมิภาคอื่นๆ ทั่วประเทศกำลังดำเนินโครงการที่คล้ายคลึงกัน ในเขตคอชาง จังหวัดคยองซังทางใต้ คู่บ่าวสาวอายุระหว่าง 19-45 ปีที่อาศัยอยู่ที่นั่นนานกว่า 3 เดือนจะได้รับเงิน 600,000 วอน (ราว 1.4 หมื่นบาท) ต่อปีเป็นเวลา 3 ปี  

  

ขณะเดียวกัน เขตซุนชางในจังหวัดชอลลาเหนือยังเสนอเงิน 10 ล้านวอนเป็นเวลา 4 ปีให้กับคู่บ่าวสาวที่อาศัยอยู่ที่นั่นอย่างน้อย 1 ปีอีกด้วย 

 

แต่มันจะแก้วิกฤตอัตราเกิดต่ำได้หรอ... 

(Photo by ANTHONY WALLACE / AFP)
(Photo by ANTHONY WALLACE / AFP)

 

นักวิจารณ์ออกมาโต้แย้งว่า

“แรงจูงใจทางการเงินเพียงครั้งเดียวเหล่านี้อาจไม่สามารถช่วยแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างเบื้องหลังอัตราการแต่งงานที่ล่าช้า หรือลดลงได้มากนัก” 

ในเขตซาฮา เมืองปูซาน หน่วยงานท้องถิ่นได้สัญญาว่าจะจ่ายเงินสูงถึง 20 ล้านวอนให้กับคู่สามีภรรยาที่แต่งงานกันหลังจากเข้าร่วมงานจับคู่ โดยมีสิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ได้แก่ ค่าใช้จ่ายในการออกเดท 500,000 วอน ค่าใช้จ่ายในการหมั้น 1 ล้านวอน และเงินช่วยเหลือการเดินทาง 10 ล้านวอนแต่เจ้าหน้าที่เขตกล่าวว่า “ยังไม่มีคู่สามีภรรยาคู่ใดได้รับเงินเต็มจำนวน” 

 

แม้จะมีโครงการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น แต่ประสิทธิภาพของโครงการต่างๆ ยังคง ‘ไม่แน่ชัด’ เมืองจินจูในจังหวัดคยองซังใต้ได้มอบเงินช่วยเหลือการแต่งงานมูลค่า 500,000 วอนให้กับคู่รักกว่า 4,000 คู่ตั้งแต่ปี 2021 เป็นต้นมา แต่สถิติการแต่งงานโดยโรมไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนัก 

 

ในเขตจังซู ซึ่งมีการอัดฉีดเงินให้คู่รัก 10 ล้านวอนมาเป็นเวลา 8 ปีแล้ว แต่ก็พบว่า อัตราการแต่งงานลดลง ยกเว้นในปี 2023 และ 2024 ที่เพิ่มขึ้น 

 

“จะมีใครแต่งงานเพียงเพื่อรับเงินแสดงความยินดีหรือ? แต่การทำอะไรบางอย่างก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย” เจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นคนหนึ่งกล่าว คำกล่าวนี้สะท้อนความกังวลว่ามาตรการจูงใจทางการเงินเพียงอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาการแต่งงานที่ลดลงอย่างยั่งยืนในเกาหลีใต้ 

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า “มาตรการจูงใจการแต่งงานเหล่านี้อาจทำซ้ำความผิดพลาดจากนโยบายช่วยเหลือการมีบุตรในอดีต ซึ่งแม้จะมีการช่วยจ่ายเงินช่วยเลี้ยงดูบุตร และบัตรสวัสดิการดูแลบุตรเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ไม่สามารถหยุดยั้งอัตราการเกิดที่ลดลงได้” 

 

ขณะที่ ดร.ฮง ซุกชอล อาจารย์เศรษฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล กล่าวว่า “นโยบายควรมุ่งเน้นการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำงานและครอบครัวสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสมดุล และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านที่อยู่อาศัย...มาตรการจูงใจที่เน้นแจกเงินในปัจจุบัน ซึ่งขับเคลื่อนโดยการแข่งขันระหว่างท้องถิ่นและการดำเนินการที่เร่งรีบ กำลังทำให้ภาพรวมของนโยบายบิดเบือน และจำเป็นต้องมีการปรับโครงสร้างใหม่” 

 

Photo by : Shutterstock / Zen S Prarom 

 

 

 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์