อดีต ผบ.กกล.สุรนารี ย้อนอดีต ‘ตาเมือนธม’ 17 ปีก่อน
ภายหลัง พล.ท.กนก เนตระคะเวสนะ อดีตผู้บัญชาการกองกำลังสุรนารี ได้โพสต์ข้อความเมื่อ 7 ก.ค.68 ยืนยันว่า 3 ปราสาท ได้แก่ ปราสาทตาเมือนธม ปราสาทตาเมือนโต๊ด ปราสาทตาควาย อยู่ในเขตประเทศไทย โดยยึดตามแผนที่ของกองทัพไทย คือ แผนที่ 1 ต่อ 50,000 ซึ่งมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายชัดเจน
ในช่วงปี 2551 ได้มีรั้วกั้นแนวชายแดน โดยทหารไทยเป็นผู้ถือกุญแจเปิด-ปิดตามเวลา หากนักท่องเที่ยวชาวกัมพูชาจะขึ้นมาเที่ยวที่ปราสาทตามเมืองธม จ.สุรินทร์ จะต้องมารับบัตรคิว ก่อนผ่านขึ้นไปเที่ยวบนปราสาท
พล.ท.กนก กล่าวอีกว่า ได้ถ่ายภาพร่วมกับ รมช.กลาโหมกัมพูชา และผู้บัญชาการภูมิภาคทหารที่ 4 ในสมัยนั้น ซึ่งได้ถ่ายภาพนี้ไว้ในวันที่ 13ส.ค.51 ซึ่งยืนอยู่ที่รั้วทางขึ้นปราสาทตาเมือนธม ฝั่งประเทศไทย มีภาพของ พล.ท.เจีย มอญ ผบ.ภูมิภาคทหารที่ 4 พล.ต.กนก ผบ.กกล.สุรนารี (ยศในขณะนั้น) ,พล.อ.เนียง พาด รมช.กลาโหม และ พล.ต.สลัยดึ๊ก (ยศในขณะนั้น) ไว้เป็นหลักฐาน

ทบ. แจงเป็น ‘ประตู’ ไม่ใช่ ‘รั้ว’ โยนระดับนโยบาย พิจารณาฟื้นสร้าง ‘ประตู’
พล.ต.วินธัย สุวารี โฆษกกองทัพบก ลงพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม อ.พนมดงรัก จ.สุรินทร์ สถานการณ์ภาพรวมในพื้นที่กองกำลังสุรนารี ว่า หน่วยทหารในพื้นที่ที่อยู่แนวหน้า มีภาระงานอย่างหนึ่ง ส่วนทหารแนวหลังก็จะมีแนวทางอีกส่วนหนึ่ง ซึ่งงานด้านกิจการพลเรือนที่ทำร่วมกับฝ่ายปกครอง เน้นเรื่องการทำความเข้าใจกับประชาชน หรือมีเหตุที่ไม่ปกติ ก็จะใช้ช่องทางสื่อสารไม่ให้ประชาชนเกิดความตื่นตระหนก รวมถึงดูแลรักษาความปลอดภัย
สำหรับแนวโน้มนักท่องเที่ยวในพื้นที่ปราสาทเมืองธมที่เพิ่มสูงขึ้น พล.ต.วินธัย กล่าวว่า การที่มีนักท่องเที่ยวมาเพิ่มมากขึ้นอย่างน้อยมีผลเชิงบวกกับเศรษฐกิจในพื้นที่ ซึ่งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ประชาชนเกิดความสนใจ โดยเฉพาะการเยี่ยมชมโบราณสถาน ซึ่งกรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนไว้ร่วม 100 ปีแล้ว แต่คนไทยในภูมิภาคอื่น อาจไม่ค่อยให้ความสนใจ จากสถิติจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาเที่ยวกลุ่มปราสาทตาเมือนธม เพิ่มขึ้นกว่าปีที่ผ่านมาจำนวนมาก
“เชื่อว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความเชื่อมั่นในการทำงานของทหารในการดูแลความเรียบร้อยในพื้นที่ และสถานการณ์ ก็ไม่ได้อยู่ในความน่ากังวล ส่วนประเทศเพื่อนบ้านฝั่งกัมพูชา สามารถปฏิบัติหน้าที่และอำนวยความสะดวกให้กับนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี” พล.ต.วินธัย กล่าว

ส่วนแนวคิดการสร้างรั้วพื้นที่ปราสาทตาเมือนธม เป็นอย่างไร พล.ต.วินธัย กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องดูในรายละเอียดต่อไป แต่มีการพูดถึงในอดีต ที่มีการสร้างในลักษณะที่ไม่เชิงเป็นรั้ว แต่เป็นประตูผ่านเข้า-ออก อาจจะทำเพื่อความปลอดภัย เพราะในอดีตสภาพเป็นป่ามากกว่านี้
ในขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลว่าจะสร้างใหม่หรือไม่ เพราะการจะสร้างอะไรในพื้นที่ละเอียดอ่อน อาจจะต้องให้ระดับนโยบาย ระดับผู้บังคับบัญชาหรือผู้บริหาร ซึ่งกองทัพบกในฐานะ ผู้รับผิดชอบในพื้นที่ ก็จะต้องทำอยู่ภายในกรอบ ของผู้บังคับบัญชา ซึ่งในวันนี้ ก็จะทำให้พื้นที่ที่รับผิดชอบมีระเบียบและเรียบร้อยมากที่สุด

ย้อนที่มา ‘ประตู’ เพื่อ ‘จัดระเบียบ’ วันสงกรานต์-พบญาติ 2 ประเทศ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การสร้างประตูที่ประสาทตาเมือนธม ระหว่าง ‘ไทย-กัมพูชา’ เกิดขึ้นปี 2551 โดยเริ่มจากการจัดงาน ‘วันสงกรานต์’ 13 เม.ย. ที่ จ.สุรินทร์ เป็นเจ้าภาพ และได้เชิญประเทศกัมพูชาร่วมงาน โดยการสร้างประตูเพื่อเป็นการจัดระเบียบคน เพราะมีผู้มาร่วมงานจำนวนมาก จึงไม่ใช่รั้วแบ่งแยกประเทศแต่อย่างใด อีกทั้งคน 2 ประเทศ ตามแนวชายแดนต่างเป็นญาติกัน การจัดงานวันสงกรานต์ในขณะนั้นจึงเสมือนวันพบญาติไปด้วย
อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2554 ประตูที่ปราสาทตาเมือนธมได้ถูกทำลาย จากนั้นมีการการเจรจา 2 ฝ่าย ในระดับพื้นที่ เพื่อคลี่คลายเหตุการณ์ จึงมีมาตรการอนุโลมต่างๆ ออกมา ที่เป็น ‘ข้อตกลง’ ร่วมกัน
