‘กรีนแลนด์’ อีกหนึ่งดินแดนที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต้องการผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงของสหรัฐฯ เนื่องจากดินแดนน้ำแข็งแห่งนี้มีทรัพยากรแร่ธาตุที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ และมีความสำคัญทางภูมิรัฐศาสตร์
“เราต้องมีมัน” ทรัมป์ย้ำเมื่อวันพุธ (26 มี.ค.) ก่อนที่รองประธานาธิบดี เจดี แวนซ์ จะไปเยือนฐานอวกาศพิทัฟฟิกของสหรัฐฯ ที่ชายฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของกรีนแลนด์ในวันศุกร์นี้ (28 มี.ค.)
กรีนแลนด์เป็นดินแดนปกครองตัวเองของเดนมาร์กแต่ยังคงขึ้นอยู่กับโคเปนเฮเกนในด้านการบังคับใช้กฎหมาย นโยบายการเงิน กิจการต่างประเทศ นโยบายการป้องกันประเทศและความมั่นคง อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเมืองหลวงอยู่ใกล้กับนิวยอร์กมากกว่าโคเปนเฮเกน กรีนแลนด์จึงอยู่ใน ‘เขตผลประโยชน์’ ของสหรัฐฯ
“ในช่วงสงคราม ขณะที่เดนมาร์กถูกเยอรมนียึดครอง สหรัฐฯ ได้เข้ายึดครองกรีนแลนด์ ในแง่หนึ่ง สหรัฐฯ ไม่เคยออกไปเลย” แอสทริด แอนเดอร์เซน นักประวัติศาสตร์จากสถาบันเดนมาร์กเพื่อการศึกษาระหว่างประเทศ กล่าวกับสำนักข่าว AFP
สหรัฐฯ มีฐานทัพทหารประจำการอยู่ที่นั่น ซึ่งใช้เป็นจุดเตือนภัยจากสหภาพโซเวียตในช่วงสงครามเย็น และยังคงเป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้านการป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ เนื่องจากกรีนแลนด์ตั้งอยู่ในตำแหน่งที่สั้นที่สุดสำหรับขีปนาวุธระหว่างรัสเซียและสหรัฐฯ
“สหรัฐฯ มีข้อร้องเรียนที่สมเหตุสมผลเกี่ยวกับการขาดการเฝ้าระวังน่านฟ้าและพื้นที่ใต้น้ำทางตะวันออกของกรีนแลนด์” อุลริก พรัม กาด จากสถาบันการศึกษาระหว่างประเทศของเดนมาร์ก กล่าว
ตั้งแต่ปี 2009 ชาวกรีนแลนด์เป็นผู้รับผิดชอบในการตัดสินใจว่าจะใช้ทรัพยากรธรรมชาติของตัวเองอย่างไร
ทรัมป์เคยเสนอแนวคิดการซื้อกรีนแลนด์ของสหรัฐฯ ในการดำรงตำแหน่งสมัยแรกเมื่อปี 2019 แต่ก็ถูกปฏิเสธ อย่างไรก็ดี การเข้าถึงทรัพยากรแร่ธาตุของกรีนแลนด์ถือเป็นสิ่งสำคัญยิ่งสำหรับสหรัฐฯ ซึ่งทรัมป์ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในภาคส่วนดังกล่าวในปี 2019 และ 4 ปีต่อมาสหภาพยุโรปก็ทำตามด้วยข้อตกลงของตัวเอง
ดินแดนของกรีนแลนด์ได้รับการสำรวจเป็นอย่างดีซึ่งทำให้สามารถจัดทำแผนที่ทรัพยากรโดยละเอียดได้ สหภาพยุโรปได้ระบุแร่ธาตุ 25 ชนิดจากทั้งหมด 34 ชนิดในรายชื่อวัตถุดิบที่สำคัญอย่างเป็นทางการของกรีนแลนด์ ซึ่งรวมถึงแร่ธาตุหายากด้วย
“เนื่องจากความต้องการแร่ธาตุเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องแสวงหาแหล่งทรัพยากรที่ยังไม่ได้ถูกใช้ประโยชน์...” ดิตเต บราสโซ โซเรนเซน นักวิเคราะห์จาก Think Tank Europa กล่าวพร้อมแสดงความกังวลว่าจีนจะเข้ามาครอบครองทรัพยากรแร่ด้วย
ในแง่เศรษฐกิจ พื้นที่ซึ่งกำลังแสวงหาอิสรภาพจากเดนมาร์กนั้นต้องพึ่งพาเงินอุดหนุนประจำปีจากโคเปนเฮเกน ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของ GDP และยังต้องพึ่งการประมงอีกด้วย นอกจากนี้ ความหวังส่วนหนึ่งยังอยู่ที่การเปิดสนามบินนานาชาติในเมืองนูคในเดือนพฤศจิกายนเพื่อช่วยพัฒนาการท่องเที่ยวในภูมิภาคอาร์กติก
โครงสร้างพื้นฐานยังเป็นประเด็นสำคัญต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมเหมืองแร่ “เมื่อพูดถึงอุตสาหกรรมการสกัดแร่ ทรัมป์กำลังวางกรีนแลนด์ไว้บนแผนที่การทำเหมืองแร่ แต่ยากที่จะบอกว่ากรีนแลนด์จะพัฒนาไปอย่างไรเนื่องจากขาดนักลงทุน” ลิลล์ ราสตัด บยอร์สต์ รองศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอัลบอร์กผู้เชี่ยวชาญด้านกรีนแลนด์ กล่าว
(Photo by Mandel NGAN / AFP)