‘หัวหน้าเท้ง’ เชื่อ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ ไปกันตลอดรอดฝั่ง ยกเว้น ‘นายกฯ อิ๊งค์’ จะยุบสภาฯ

17 เม.ย. 2568 - 07:11

  • ‘หัวหน้าเท้ง’ เชื่อ ‘เพื่อไทย-ภูมิใจไทย’ จับมือไปตลอดรอดฝั่งแน่

  • ยกเว้น ‘นายกฯ อิ๊งค์’ ตัดสินใจยุบสภาฯ

  • ชี้ ‘กฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร’ ไม่จำเป็นต้องเสร็จในรัฐบาลนี้

  • เผยไม่อยากให้ไทยเลือกข้าง ไม่ว่า ‘จีน’ หรือ ‘สหรัฐ’ ก็ได้รับผลกระทบ

  • ให้กำลังใจทีมเจรจา ‘กำแพงภาษี’ ชี้ความรับผิดชอบอยู่ที่ ‘แพทองธาร’ เป็นหลัก

  • แม้ ‘ทักษิณ’ พยายามดึงอาเซียนร่วมเจรจา

Natthaphong_believes_BP_and_PTP_will_continue_to_go_together_SPACEBAR_Hero_1f8f3b35ff.jpg

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรคประชาชน และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่วุฒิสภา ตั้งคณะทำงานศึกษาเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือ ‘เอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’ โดยใช้เวลา 180 วัน โดยในส่วนของ สส. คิดว่าควรต้องรอผลการศึกษาของวุฒิสภาก่อนหรือไม่?

ประเด็นนี้ ณัฐพงษ์ มองว่า เรื่องระยะเวลาคงไม่มีตัวเลขเฉพาะเจาะจง สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทำให้สังคมตกผลึกในเรื่องนี้กับการลงรายละเอียดและศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ รวมถึงความชัดเจนในมาตรการการฟอกเงินและการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน และถ้าเรื่องต่าง ๆ เหล่านี้มีความชัดเจนและสังคมให้การยอมรับมากยิ่งขึ้น โดยไม่ต่อต้านในเรื่องนี้ เนื่องจากมีการทำความเข้าใจอย่างเพียงพอแล้ว คิดว่าจังหวะนั้นเป็นจังหวะที่รัฐบาลจะมีความชอบธรรมในการเดินหน้าเรื่องนี้ต่อ

แต่สิ่งที่ขาดความชอบธรรมในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในส่วนของพรรคเพื่อไทย ที่อาจจะมีความเร่งรีบในการดำเนินการเรื่องนี้มากเกินไป

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

หากทำความเข้าใจกับประชาชนผ่าน ‘ประชามติ’ ทุกคนยอมรับ ก็เดินหน้าได้

เมื่อถามย้ำว่า จำเป็นต้องรอการศึกษาจากวุฒิสภาหรือไม่ ในเมื่อทางสภาผู้แทนราษฎรก็ศึกษามาแล้ว? ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ผลการศึกษาของคณะกรรมาธิการวิสามัญสภาผู้แทนราษฎร ยังลงรายละเอียดไม่มากเพียงพอ และใช้ระยะเวลาในการศึกษาน้อยเกินไป ดังนั้น การศึกษาของวุฒิสภาก็เป็นส่วนหนึ่งที่มาช่วยประกอบมากกว่า ซึ่งคิดว่าสิ่งสำคัญในเรื่องนี้นอกจากวุฒิสภาแล้ว คือการทำความเข้าใจในสังคม

ส่วนเมื่อถามว่า คิดว่าผลการศึกษาแค่ไหนที่เห็นว่าจะเป็นเกณฑ์สามารถนำเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ มาพิจารณาต่อได้? ณัฐพงษ์ มองว่าคำถามหลายคำถามก็เป็นสิ่งที่ประชาชนกำลังตั้งคำถามอยู่ ถ้ารัฐบาลสามารถตอบความชัดเจนในเรื่องเหล่านั้นได้ทั้งหมด ก็น่าจะสามารถดำเนินการเรื่องนี้ได้ต่อ

รวมถึงข้อเสนอของภาคประชาชนที่เสนอเข้ามา คือเรื่องการทำประชามติ คิดว่าไม่ใช่กฎหมายทุกเรื่องจะต้องทำประชามติก่อนเสนอเข้าสภาฯ แต่อย่างน้อย การทำประชามติก็จะเป็นเวทีในการเปิดพื้นที่รณรงค์ ทำความเข้าใจ ก่อนที่จะนำไปสู่คำถามในการทำประชามติ ซึ่งจังหวะที่เหมาะที่สุดเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณ เช่น อาจจะทำประชามติพร้อมการเลือกตั้งครั้งหน้า ก็เป็นไปได้ เพราะเรื่องเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ไม่ได้มีความจำเป็นเร่งด่วน

ผมคิดว่าไม่มีความจำเป็นที่กฎหมายฉบับนี้จะต้องผ่านในรัฐบาลชุดนี้ หรือรัฐบาลชุดหน้า ถ้าเราไม่ได้มองในเรื่องผลประโยชน์ที่เกี่ยวข้องกับผู้มีอำนาจรัฐเป็นหลัก ถ้าเรามองเรื่องของการแก้ไขปัญหาในสังคมเป็นหลัก การเปิดพื้นที่อย่างกว้างขวาง ทำความเข้าใจเต็มที่ ก่อนที่จะมีการออกเสียงประชามติ ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่ง และมีความเป็นไปได้ที่ผมคิดว่าจะเป็นทางออกของสังคมที่จะทำให้ทุกคนยอมรับ

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

เมื่อถามถึงการมองท่าทีระหว่าง ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และพรรคภูมิใจไทย เกี่ยวกับเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์? ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ออกมาพูดแล้วว่า อาจจะเป็นความคิดเห็นของ ไชยชนก ชิดชอบ สส.บุรีรัมย์ และเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย

แต่เรื่องนี้ ผมคิดว่าเป็นสิ่งที่พรรคเพื่อไทยต้องไตร่ตรองดูให้ดีก่อนที่จะเร่งผลักดันอะไร เพราะเห็นได้ชัดว่า พรรคร่วมรัฐบาลก็อาจจะไม่เห็นด้วยกับความรีบเร่งในการผลักดันร่างกฎหมายดังกล่าว เรื่องนี้จึงกลับมาที่จุดยืนเดิม คือ การสื่อสารทำความเข้าใจกับสังคมให้เป็นที่ยอมรับมากที่สุดก่อน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

เมื่อถามย้ำว่า หากเป็นเช่นนี้มองว่าพรรคภูมิใจไทยกับเพื่อไทยยังไปด้วยกันตลอดรอดฝั่งหรือไม่ เพราะสภาฯ ยังเหลือเวลาอีก 2 ปี? ผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวว่า ถ้าดูจากสมการทางการเมืองปัจจุบัน จำนวน สส. ของแต่ละพรรค ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างไรพรรคภูมิใจไทยกับพรรคเพื่อไทย ก็ยังจำเป็นต้องไปต่อด้วยกัน

เว้นแต่ว่าอาจจะมีการตัดสินใจจากพรรคเพื่อไทย คือนายกฯ ในการยุบสภาฯ ซึ่งตนอาจจะแสดงความคิดเห็นในเรื่องนี้ไม่ได้ เพราะอำนาจอยู่ที่ตัวนายกฯ เพียงผู้เดียว

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ให้กำลังใจทีมเจรจา ‘กำแพงภาษี’ ชี้ความรับผิดชอบอยู่ที่ ‘แพทองธาร’ เป็นหลัก

ส่วนประเด็นการเจรจากับสหรัฐอเมริกาเรื่องนโยบาย ‘กำแพงภาษี’ ซึ่งล่าสุด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี แสดงท่าทีหวังดึงอาเซียนมาร่วมเจรจานั้น

ผู้นำฝ่ายค้านฯ ให้ความเห็นว่า อยากให้กำลังใจรัฐบาลในการเจรจาทุกรอบ ทั้งเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ที่เป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุด แต่สิ่งสำคัญ คือ การเจรจาขึ้นอยู่กับความรับผิดชอบของนายกรัฐมนตรีเป็นหลัก

เมื่อถามว่า การที่นายกรัฐมนตรีเปิดทำเนียบรัฐบาลต้อนรับนายกฯ มาเลเซีย ในวันนี้ จะใช้โอกาสนี้ผนึกกำลังในการเจรจาอย่างไร? ณัฐพงษ์ กล่าวว่า ทิศทางใหญ่ ๆ คิดว่าเห็นตรงกัน จากทั้งตนเอง, นักเศรษฐศาสตร์, นักวิชาการ ก่อนที่ ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ จะรับตำแหน่งด้วยซ้ำ

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การสร้างอำนาจต่อรอง คือการร่วมมือกันในภูมิภาค เช่น เวทีอาเซียน แต่สิ่งสำคัญ คือ รายละเอียดว่าจะดำเนินการอย่างไร

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ไม่อยากให้ไทยเลือกข้าง ไม่ว่า ‘จีน’ หรือ ‘สหรัฐ’ ก็ได้รับผลกระทบ

เมื่อถามย้ำว่านายกรัฐมนตรีมาถูกทางแล้วใช่หรือไม่? ณัฐพงษ์ กล่าวว่า คิดว่าหลัก ๆ คือรายละเอียดที่จะพูดคุย พร้อมย้ำว่า การพูดคุยเรื่องความเป็นประชาธิปไตย และความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมของเมียนมาก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างความเป็นปึกแผ่นของอาเซียน ให้ได้รับการยอมรับมากขึ้นในเวทีสากล

ในเวทีระดับนานาชาติ เราไม่อยากให้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง ไม่ว่าเรื่องจีนหรือสหรัฐอเมริกา เราก็ได้รับผลกระทบ ดังนั้น ถ้าเรายึดหลักความเป็นประชาธิปไตย ยึดหลักสร้างความร่วมมือในอาเซียน จะทำให้เรามีอำนาจต่อรองมากขึ้นในการเจรจาการค้ากับสหรัฐอเมริกา

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ส่วนการที่วันนี้นายกรัฐมนตรีจะพบกับ พลเอกอาวุโส มิน อ่องลาย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา จะเกิดผลกระทบอะไรตามมาหรือไม่? ณัฐพงษ์ กล่าวว่า เรื่องนี้รัฐบาลก็ต้องระมัดระวังท่าที

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่าทีของไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการส่งตัวชาวอุยกูร์กลับประเทศจีน การที่เราจะเจรจากับ ‘มิน อ่องลาย’ ซึ่งเป็นรัฐบาลทหารเมียนมา ก็จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยเช่นเดียวกัน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ทั้งนี้ ผมอาจให้ความเห็นอะไรไม่ได้ เนื่องจากไม่ทราบรายละเอียด แต่ในหลักการ เมื่อได้คุยกันก็ต้องหนีไม่พ้นที่จะได้พูดคุยถึงการฟื้นฟูประชาธิปไตยในเมียนมา

มั่นใจ ‘เลือกตั้งซ่อม’ เมืองคอน ‘ผู้สมัคร ปชน.’ มีหวัง เหตุพรรคร่วมรัฐบาลตัดคะแนนกันเอง

หัวหน้าพรรคประชาชน ยังกล่าวถึงการเลือกตั้งซ่อม สส.เขต 8 นครศรีธรรมราช ว่า ได้ลงพื้นที่หาเสียงล่วงหน้าแล้ว ขณะเดียวกัน ในเวทีหาเสียงเลือกตั้งระดับเทศบาลยังมีอีกหลายที่ที่ต้องลงพื้นที่หาเสียง จึงยังไม่สามารถบอกตารางหาเสียงได้ชัดเจน แต่เชื่อว่าเป็นพื้นที่ที่พรรคประชาชนมีโอกาสมาก

ซึ่ง พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ที่ปรึกษาประธานคณะก้าวหน้า และ ศิริกัญญา ตันสกุล สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน รวมถึง รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ รองหัวหน้าพรรคประชาชน ก็ลงพื้นที่หาเสียงแล้ว พบว่ามีกระแสตอบรับค่อนข้างดี

พรรคร่วมรัฐบาลที่ลงแข่งขัน ก็ตัดคะแนนกันเองหลายพรรค มีผู้สมัครแข่งกันเอง 6 คน แต่ในมุมฝ่ายค้าน หากประชาชนในจังหวัดนครศรีธรรมราชมองว่าต้องการอีก 1 เสียง ในสภาผู้แทนราษฎรในการตรวจสอบการทำหน้าที่ของรัฐบาล เชื่อว่าพรรคประชาชนเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่เด่นชัดที่สุด มั่นใจว่ายังมีหวังทุกสนามเลือกตั้ง

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

ปลาย เม.ย. ‘พรรคประชาชน’ เตรียมประชุมใหญ่-เปิดนโยบายเศรษฐกิจ

ณัฐพงษ์ ยังกล่าวถึงการทำงาน สส.เขต ของพรรคประชาชนในช่วงปิดสมัยประชุม ว่า ในส่วนของพรรคไม่ได้กำชับอะไรเป็นพิเศษ เพราะที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเปิดหรือปิดสมัยประชุม สส.ของพรรคก็ทำหน้าที่อย่างเต็มที่อยู่แล้ว ซึ่งในช่วงปิดสมัยประชุมก็ทำให้ สส.มีเวลาทำงานในพื้นที่ได้มากขึ้น ในการเข้าหาประชาชน เพื่อรับฟังเสียงสะท้อน นำเข้าสู่กลไกแก้ไขปัญหาในสภาผู้แทนราษฎรในสมัยประชุมหน้า

ในช่วงปลายเดือนเมษายนนี้ พรรคประชาชนจะจัดประชุมใหญ่สามัญประจำปีในกรุงเทพฯ ซึ่งมีประเด็นที่เราเตรียมหารือร่วมกัน โดยเฉพาะโจทย์ปัญหาสำคัญของประเทศ คือ เรื่องเศรษฐกิจ การเมือง ระบบราชการ และน่าจะมีบทสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นในเรื่องเปิดนโยบายและทิศทางเศรษฐกิจของพรรคประชาชน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์