ยอมถอย ‘ร่างกฎหมายสถานบันเทิงฯ’ เพราะคุมเสียง ‘พรรคร่วมฯ’ ไม่ได้ใช่หรือไม่?

8 เม.ย. 2568 - 09:57

  • ‘หัวหน้าเท้ง’ ถาม ‘นายกฯ อิ๊ง-เพื่อไทย’ ปมยอมถอย ‘ร่างกฎหมายสถานบันเทิงครบวงจร’

  • เพราะคุมเสียง ‘พรรคร่วมรัฐบาล’ ไม่ได้ใช่หรือไม่? แนะกลับไปศึกษาผลกระทบให้ชัวร์

  • หากทำรอบคอบมากพอ-ทุกภาคส่วนยอมรับ ‘ฝ่ายค้าน’ ไร้ปัญหา

Natthaphong_on_government_delay_in_considering_draft_entertainment_complex_business_act_SPACEBAR_Hero_8697e95467.jpg

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ สส.บัญชีรายชื่อ หัวหน้าพรรคประชาชน ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ให้ความเห็นกรณี นายกรัฐมนตรีแถลงเลื่อนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร หรือเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ ในวาระแรกของสภาผู้แทนราษฎร ออกไปเป็นสมัยการประชุมฯ หน้า ว่า เห็นด้วยกับรัฐบาลที่จะมีการพิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าวออกไปก่อน

และในระหว่างการปิดสมัยประชุมนี้ เป็นช่วงเวลาที่ดีที่รัฐบาลสามารถศึกษาความเป็นไปได้ให้ชัดเจน และพิจารณามาตรการผลกระทบทางสังคม ทั้งการป้องกันการติดการพนันและป้องกันการฟอกเงิน รวมถึงการเปิดรับฟังเสียงประชาชนมากขึ้น ตามที่ฝ่ายค้านได้เรียกร้อง พร้อมยังสนับสนุนที่สภาผู้แทนราษฎรจะมีการพิจารณาญัตติด่วนจากกรณีที่สหรัฐอเมริกามีมาตรการทางภาษีกับประเทศไทย จึงอยากให้รัฐบาลมีความชัดเจนในเรื่องนี้เช่นกัน

ผมยังหวังเห็นความชัดเจนของรัฐบาล ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่รัฐบาลได้เสนอเลื่อนขึ้นมาพิจารณาพร้อม ๆ กับร่างกฎหมายเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์ว่า รัฐบาลจะมีความชัดเจนอย่างไร ทั้งจะเลื่อนออกไปพร้อมกัน หรือจะคงไว้ในวาระการประชุม

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

เมื่อถามถึงมุมมองของฝ่ายค้านต่อการมีสถานบันเทิงครบวงจร, ณัฐพงษ์ เชื่อว่า หากมีการศึกษาอย่างรอบคอบรัดกุม ก็อาจจะเป็นทางออกในการแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมาย และไม่ได้เพียงการสร้างสถานบันเทิงครบวงจรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

แต่หากมีการศึกษาระบบกฎหมายที่รอบคอบและรัดกุมเพียงพอ ก็เชื่อว่าจะเป็นช่องทางการแก้ไขปัญหาสังคมในเรื่องดังกล่าวนี้ได้ แต่ที่ผ่านมา รัฐบาลอาจศึกษาเรื่องดังกล่าวอย่างเร่งรีบมากเกินไป ไม่รัดกุมมากเพียงพอ

ส่วนกรณีที่มีเสียงสะท้อนจากสังคมให้ดำเนินการจัดการออกเสียงประชามติ เพื่อหาฉันทามติของสังคมต่อปัญหาดังกล่าวนั้น

ณัฐพงษ์ ระบุว่า ถือเป็นทางออกหนึ่ง แต่มองว่าไม่ใช่ทุกเรื่องที่สภาผู้แทนราษฎรจะพิจารณาร่างกฎหมายแล้วจะต้องไปจัดการออกเสียงประชามติสอบถามประชาชน เพราะมิเช่นนั้น ก็อาจไม่จำเป็นจะต้องมี สส. ก็ได้ และก็ไม่สามารถนำทุกปัญหาในสังคมไปสอบถามประชามติจากสังคมได้ เพราะต้องใช้งบประมาณมาก 

แต่ปัญหาการพนันนั้น เห็นด้วยว่าเป็นปัญหาที่มีข้อถกเถียงในสังคม จึงอยู่ที่จังหวะเวลามากกว่าว่า ควรจะจัดช่วงใด

เช่น หากรัฐบาลดำเนินการศึกษาความเป็นไปได้เรียบร้อยแล้ว หรือเปิดกว้างรับฟังความเห็นประชาชนมากเพียงพอแล้ว และต้องการความชัดเจนจากสังคมเพิ่มมากขึ้นในการแก้ไขปัญหาการพนันผิดกฎหมาย โดยเปิดให้มีการพนันถูกกฎหมายบางส่วน ก็สามารถจัดการออกเสียงประชามติพร้อมจัดการเลือกตั้งในครั้งถัดไปก็ได้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณแผ่นดิน

ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ

เมื่อถามถึงมุมมองกรณีที่รัฐบาลยอมชะลอการพิจารณาร่างกฎหมายฉบับนี้ เป็นเพราะพรรคร่วมรัฐบาลไม่เห็นด้วย และมี ‘สว.สีน้ำเงิน’ ที่ถูกมองอิงกับ ‘พรรคสีน้ำเงิน’ ออกมาคัดค้าน เพื่อป้องกันไม่ให้พรรคร่วมรัฐบาลแตกหรือไม่?

ณัฐพงษ์ ระบุว่า “จะต้องโยนคำถามกลับไปที่นายกรัฐมนตรี และพรรคเพื่อไทย ว่า ในตอนแรกออกตัวแรงผลักดันร่างกฎหมาย แต่สุดท้ายกลับต้องเลื่อนการพิจารณาออกไป เป็นเพราะไม่สามารถควบคุมเสียงพรรคร่วมรัฐบาลได้ใช่หรือไม่ ซึ่งน่าจะเป็นคำถามที่ไม่มีใครสามารถตอบแทนนายกรัฐมนตรีได้”

ส่วนเมื่อถามถึงขั้นตอนต่อจากนี้ ภายหลังรัฐบาลเลื่อนวาระออกไป? ณัฐพงษ์ ระบุว่า จะต้องมีการเสนอเลื่อนญัตติวาระการประชุมออกไป ซึ่งจุดยืนของพรรคประชาชน ย้ำมาตลอดว่า พรรคฯ ต้องการให้รัฐบาลศึกษาในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ หากจะมีการเลื่อนการพิจารณาจริง พรรคประชาชนไม่ติดขัด 

ส่วนในช่วงระหว่างการปิดสมัยประชุมฯ หากรัฐบาลได้ศึกษามาอย่างครบถ้วนเพียงพอแล้ว ฝ่ายค้านจะสนับสนุนหรือไม่นั้น จะต้องมีการศึกษาอย่างรอบคอบมากเพียงพอแล้ว และภาคประชาสังคมทุกภาคส่วนให้การยอมรับ ฝ่ายค้านก็ไม่ติดขัด แต่จะต้องมีการรับฟังเสียงอย่างรอบด้านก่อน

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์