มหากาพย์รัฐสภา ‘พันล้าน’ ใครได้ประโยชน์?

6 พ.ค. 2568 - 08:11

  • มหากาพย์รัฐสภา ‘ไม่เคยจบ’ ลงง่ายๆ แม้จะใช้งบประมาณมากถึง ‘หมื่นล้าน’ กว่าจะก่อสร้างจนแล้วเสร็จ แต่หลังจากใช้งานมาแล้ว 6 ปี ก็ต้องขอ ‘งบใหม่’ เพื่อปรับปรุงอีกแล้ว

parliament_epic_sequel_6may2025_SPACEBAR_Hero_c005c4e5c3.jpg

คงไม่มีอะไรฮอตเท่านี้แล้ว สำหรับการขอ ‘งบประมาณ’ เพื่อ ‘ปรับปรุงรัฐสภา’ ที่แม้จะใช้งบประมาณในการก่อสร้างมากถึง 1.2 หมื่นล้านบาท แต่ใช้งานได้เพียง 6 ปี ก็จะของบประมาณใหม่เพื่อปรับปรุงรวมทั้งสิ้นเป็นหลัก ‘พันล้าน’ บาท นับว่า เป็นเงินจำนวนไม่น้อยที่ทำให้หลายฝ่ายต่างวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักว่า ใช้งานได้ไม่นาน จะใช้เงินมหาศาลปรับปรุงเพื่ออะไร?

แน่นอนว่า ‘วิลาศ จันทร์พิทักษ์’ อดีต สส.พรรคประชาธิปัตย์ ผู้ซึ่ง ‘กัดไม่ปล่อย’ กับการก่อสร้างอาคาร ‘รัฐสภา’ แห่งนี้ ย่อมไม่เห็นด้วยกับการของบประมาณอันล้ำค่าสุดๆ ไม่รู้ว่า ใครจะเป็นผู้ได้ประโยชน์กันแน่

‘มือปราบการสร้างรัฐสภา’ ขอเอ่ยเจาะจงเฉพาะเรื่องที่เคยติดตามและร้องต่อ ป.ป.ช.ไปแล้ว ซึ่งที่เห็นชัดเจนคือ ‘ศาลาแก้ว’ โดยรัฐสภาขอ ‘งบปรับปรุง 123 ล้านบาท’ ซึ่ง ‘เจ้าตัว’ ได้ไปร้องเรียนกับ ป.ป.ช.ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่ 

  1. หินที่ปูทางเท้าเพื่อเดินไปศาลาแก้ว ในสเปกกำหนดไว้ว่า หินขนาด 60x60 ซม. แต่ปูจริงใช้หินขนาด 40x40 ซม. คำถามคือ ตรวจรับงานได้อย่างไร? 
  2. ทางเดินเท้าแผ่นขอบทั้งสองด้าน ใช้วิธีปูยื่นออกจากคานแล้วไปทำแขนรองรับ ปรากฏว่าแขนรองรับไม่ได้ติดกับตัวหิน แล้วก็เอาซีเมนต์ไปเทให้สูงขึ้นมาเสมอรับหิน ซึ่งเดี๋ยวเหยียบ มันก็พัง 
  3. มีน้ำซึมจากสระน้ำรอบศาลาแก้วลงไปที่ชั้น B2 เมื่อน้ำซึมก็สูบน้ำออก และหินที่ปูก้นบ่อ มันลอยตัว ไม่ได้ติดอยู่กับซีเมนต์ เพราะฉะนั้น น้ำก็ซึมเข้าไปได้ แต่ก็ลอกเฉพาะส่วนที่ลอย ดังนั้นที่เหลือเดี๋ยวก็ลอยทั้งหมด ซึ่งควรจะรื้อทั้งหมด ไม่ใช่รื้อแค่เฉพาะที่ลอย วันนี้อาจจะไม่ซึม แต่อีกระยะก็จะซึม ทั้งนี้ ได้มีการส่งงานในวันที่ 4 ก.ย.2566 งานเสร็จ 100% แต่เรื่องแก้ไขสระน้ำรอบศาลาแก้ว ไปทำเดือน ม.ค.2567 แล้วไหนคือเสร็จสมบูรณ์? เรื่องนี้จึงได้ร้องกับ ป.ป.ช.ไปแล้ว

“วันนี้คุณไปตั้งงบฯ มาปรับปรุง โดยอ้างว่า มันร้อน ก็ศาลาเนี่ย ถามว่า ตั้งแต่ก่อสร้างมา ยังไม่เคยใช้ แล้วผมถามว่า คุณจะทำพิธีอะไรเนี่ย หน้าร้อนปีหนึ่งถึงครึ่งครั้งไหม แล้วคุณไปอ้างว่า คุณจะสร้างห้องแอร์ ถามว่า มันคุ้มกับงานไหม แต่ข้อเสียคือ พอสร้างปั๊บ คุณก็จะไปกลบงานที่คุณเสียหายอยู่ ซึ่งในสัญญามันค้ำประกัน 2 ปี ทำผิดแบบ คุณก็ต้องไปจี้ เรื่องพวกนี้ คุณจะบอกว่าคุณไม่รู้ไม่ได้ ผมไปร้อง ป.ป.ช.แล้วก็ออกข่าว แต่อยู่ดีๆ คุณไปตั้งงบฯ ทำตรงนี้ โดยอ้างแค่เหตุผลว่า มันร้อน ปัญหาคือว่า ตอนที่เขาออกแบบศาลาแก้ว มีคณะกรรมการพิจารณาเลือกแบบมาอย่างดี คุณได้ดูไหมว่าเหตุผลคืออะไร ผมถามมา เขาบอกว่า ศาลานี้ไว้สำหรับงานรัฐพิธี วันนี้เลขาฯ มาอ้างว่า ที่ทำงบใหม่ เพราะประธาน รองประธานคณะกรรมการกิจการสภาและหัวหน้าหน่วยงานในสภาพิจารณา แล้วไปตั้งงบฯ ถามว่า พวกนี้เป็นสถาปนิกหรือวิศวกรหรือเปล่า มีความชำนาญมากน้อยแค่ไหนที่อยู่ดีๆ ไปเปลี่ยนแบบเขา”

วิลาศ กล่าว

2_42daed2474.jpg

“พระราชพิธีที่สนามหลวง เขาก็ไม่ได้เลือกจัดว่า หน้าหนาวหรือหน้าร้อนผมถามหน่อยเหอะ จัดหน้าร้อน เขาติดแอร์ไหม แล้วทำไมต้องติดแอร์ตรงนี้”

‘วิลาศ’ ยังตั้งข้อสังเกตว่า สภาฯ เป็นองค์กรที่มีอำนาจ เพราะเป็นองค์กรที่พิจารณางบฯ หน่วยงานต่างๆ เพราะฉะนั้นวันนี้ของบฯ ไปเอง เขาก็ไม่อยากขัดข้อง เขาให้มา ป.ป.ช. สตง. ก็ไม่อยากตรวจสอบ เดี๋ยวงอแงไปตัดงบฯ เขา

นอกจาก ‘ศาลาแก้ว’ ที่ ‘วิลาศ’ กำลังจับตาดู ก็คือ การประกวดราคาจ้างผู้ออกแบบที่จอดรถใต้ดิน 106 ล้านบาท ส่วนการก่อสร้างอีก 4,000-5,000 ล้าน ตัวเลขยังไม่นิ่ง แต่หากไปดูชั้น B2 จะเห็นน้ำใต้ดินขึ้นเป็นร้อยจุด ซึ่งหากไปขยายทำที่จอดรถใต้ดิน ก็อาจจะ ‘ถือโอกาส’ เอางบฯ สร้างที่จอดรถมาซ่อมปัญหาน้ำใต้ดินผุด ก็เท่ากับว่า สบายไปเลย ‘ไม่ต้องซ่อม’

1_a31b6c52ba.jpg

แบบนี้เอื้อประโยชน์ไหม? คนที่ก่อสร้างตั้งแต่แรกไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย? 

ทั้งที่ในสัญญา ระบุ ว่าหลังส่งมอบงานค้ำประกัน 2 ปี ในระหว่าง 2 ปีนี้ หากเจอจุดบกพร่อง ทำผิดแบบ หรือมีการก่อสร้างที่เสียหายก็ให้ผู้รับจ้างมาแก้ไขภายใน 15 วัน แต่วันนี้ไม่เห็นมีแจ้งเลย หรือแจ้งแล้วเขาไม่มาทำ?

“แต่มีข้อมูลว่า การก่อสร้างในประเทศประเทศไทย มันจะมีการฮั้วกัน ระหว่างผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง คือมีข้อบกพร่องก็ไม่แจ้ง หรือแจ้งก็ไม่ต้องทำ ไปทำใกล้ๆ จะครบ 2 ปี พอทำเสร็จก็ครบ 2 ปี ก็ไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว หลังจากนี้ผู้ว่าจ้างเป็นคนทำต่อแล้ว เพราะฉะนั้น ผมจะซ่อมเฮงซวยยังไงก็ได้ ก็เลยเกิดว่าในวันนี้มันไม่บริสุทธิ์ไง ถ้ามันบริสุทธิ์ คุณต้องแจ้งให้เขามาทยอยทำเรื่อยๆ ที่ร้องไปทั้งหมด 56 เรื่อง มี 25 เรื่องที่หลังจากตรวจรับงาน มีรูปถ่ายอะไรทั้งหมด ยังไม่มีแก้ไขแม้แต่เรื่องเดียว มันก็เลยเห็นแนวทางว่า มีโอกาสเป็นอย่างที่ผมพูดเยอะ เพราะที่คุณจะไปรื้อ มันไม่มีเหตุผลพอเพียง”

วิลาศ กล่าว

หากใช้งบปรับปรุง ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องแก้ไขหรือรับผิดชอบอะไรเลย?

‘วิลาศ’ ยอมรับว่า ของใหม่ดันไปรื้อของเขาแล้ว ก็ไม่ต้องรับผิดชอบแล้ว ดังนั้น คนที่ได้ประโยชน์จากการปรับปรุง ที่เห็นก็คือ ‘ผู้รับจ้างรายเดิม’ แต่ปัญหาคือว่า ผู้รับจ้างรายเดิม ไม่รู้ว่าเป็นใคร เพราะโครงการก่อสร้างที่นี่ เป็น ‘โครงการเทวดา’ ในสัญญาระบุว่า ห้ามมี ‘ผู้รับเหมาช่วง’ แต่ไปดูในสภาฯ มี ‘ผู้รับเหมาช่วง’ เป็นร้อย 

“ถ้ามีตึกถล่ม ไม่รู้ว่าเสาต้นนี้ใครเป็นคนตอก เพราะผู้รับเหมาช่วงเต็มไปหมด”

“แล้วร้องไปก็ไม่เห็นสภาจะทำอะไร ก็เลยเห็นว่าการก่อสร้างนี้ มันเละเทะที่สุด คุณไม่ได้ทำตามสัญญากัน เพราะฉะนั้นพอคุณมาเสนอโครงการใหม่ ผมก็มองแล้วว่า โอกาสที่มันจะไปเอื้อประโยชน์ มันสูงมาก”

วิลาศ กล่าว

4_ad5cf9fd92.jpg

‘สระมรกต’ เหตุผลเริ่มต้นก็ ‘ใช้ไม่ได้’

‘วิลาศ’ เล่าว่า มีการอ้างว่า สภาฯ มี ‘ยุงลาย’ เยอะ เพราะน้ำในสระมรกตเน่า! แต่คนพูด ‘ซี้ซั้ว’ เพราะยุงลายจะไข่ในน้ำใส ไม่ใช่ ‘น้ำเน่า’ ส่วนเหตุผลที่จะเปลี่ยน ‘สระมรกต’ เป็น ‘ห้องสมุดประชาชน’ โดยย้ายจากชั้น 8-9 ลงมาเพื่อความปลอดภัยของสมาชิกนั้น คำถามก็คือ ถ้าย้าย ‘ห้องสมุด’ มาชั้นล่าง ประชาชนก็ต้องถูกแลกบัตรประชาชนอยู่ดี ดังนั้น จึงไม่ใช่เหตุผลเพื่อความปลอดภัย แต่ประโยชน์ที่ทำก็คือ จะเอาไว้สร้างห้องอาหารดีๆ ห้องกาแฟดีๆ ให้กับสมาชิก

“สมาชิกกินอาหารดี แล้วจะฉลาดขึ้นไหมครับ ถ้าโง่ ก็โง่เหมือนเดิม มันก็ไม่ใช่เหตุผลอีกแหละ”

‘วิลาศ’ ย้อนถามอีกว่า การที่สร้างสระมรกตตรงกลาง แล้วมีต้นไม้ล้อมรอบอีกชั้นหนึ่ง เนื่องจากสภาฯ มีพื้นที่ที่ใหญ่มาก หากติดแอร์ทั้งหมด จะใช้ไฟเท่ากับหนึ่งจังหวัด ดังนั้นบริเวณนี้จึงไม่มีแอร์ โดยอาศัย ‘สระน้ำมรกต’ เพื่อให้ความชื้นยกความร้อนลอยขึ้นไป แต่ถ้าไปทำ ‘ห้องสมุด’ ก็ต้องติดแอร์ ค่าไฟก็มหาศาล

แล้วคุณจะทำเพื่ออะไร?

_f26d145cf0.jpg

‘วิลาศ’ พยายามหาสาเหตุของการปรับปรุงสระมรกต แล้วพบว่า บริเวณโดยรอบสระมรกต จะปูไม้เป็น 10,000 แผ่น ในสเปกระบุให้ปูด้วยไม้ตะเคียนทอง ซึ่งได้ให้ผู้เชี่ยวชาญไปตรวจสอบหลายทีม และได้รับการยืนยันว่ามี ‘ไม้ปลอม’ จึงได้ร้อง ป.ป.ช.ไป แต่ถ้าต้องรื้อเพื่อสร้างห้องสมุด แล้ว ‘ไม้’ จะปลอมหรือไม่ปลอม ก็คงไม่ต้องทำแล้ว ถูกหรือไม่?

3_0ada3c3a5c.jpg

ตกลงจะเอื้อประโยชน์กันหรือเปล่า? อย่างน้อยต้องมีการก่อสร้างอีกเป็น ‘พันล้าน‘ มีใครได้เปอร์เซ็นต์ เหมือนกับที่เคยได้กันก่อนหน้านี้ไหม?

เป็นคำถามทิ้งท้ายจาก ‘วิลาศ’ ที่เชื่อว่า คงตรงใจกับ ‘ประชาชน’ ที่รู้สึกหวั่นใจกับประเด็นนี้ไม่ใช่น้อย

มหากาพย์ ‘รัฐสภา’ กว่าจะสร้างกันจนเสร็จ ก็เจออุปสรรคไปเยอะ แม้ตอนนี้จะรับมอบจนใช้งานไปดิบดีไปแล้ว ก็ดันมี ‘ภาคต่อ’ ให้ ‘คนที่เกาะติด’ ได้ปวดหัวกันอีกรอบ งานนี้คงต้อง ‘ลุ้น’ กันแล้วว่า ‘งบพันล้าน’ ก้อนใหญ่ก้อนนี้ จะได้รับความเห็นชอบสักเท่าไหร่? ส่วน ‘ประชาชน’ ตาดำๆ ก็ได้แต่หวังว่า ‘ภาษีของพวกเขา’ มันจะสร้างประโยชน์กลับมาได้จริง ไม่ใช่เพื่อเอาไป ‘เข้ากระเป๋าใคร’

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์