พรรคประชาชน นำโดย ‘ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ’ หัวหน้าพรรค แถลงข่าวยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญประเด็นศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยกล่าวว่า พรรคประชาชนเข้าใจดีว่าวิกฤตเฉพาะหน้าของประเทศ คือวิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังถูกซ้ำเติมจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา และวิกฤตความมั่นคงที่เราต้องเฝ้าติดตามต่อไปเกี่ยวกับสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา แต่พรรคประชาชนเชื่อว่าวิกฤตต่างๆ ทั้งในปัจจุบันและอนาคต จะถูกแก้ไขได้ง่ายขึ้น หากเรามีระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ จัดสรรอำนาจอย่างสมดุล และมีกลไกตรวจสอบที่เข้มแข็ง โดยยึดโยงและเคารพเจตนารมณ์ของประชาชนที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง
"หลายเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา อาทิการยุบพรรคตัดสิทธินักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ความล้มเหลวในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน คำถามต่อการตรวจสอบคดีการโกงการเลือก สว. หรือการขาดความรับผิดรับชอบจากกรณีตึก สตง. ถล่ม ล้วนมีต้นตอมาจากการออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ถูกขยายขอบเขตอำนาจในการตรวจสอบสถาบันทางการเมืองอื่น แต่กลับมีที่มาที่ไม่ยึดโยงกับประชาชน รวมถึงขาดกลไกที่จะถูกประชาชนตรวจสอบได้โดยตรง"
— หัวหน้าพรรคประชาชน กล่าว
แม้บทสนทนาและข้อถกเถียงเรื่องการออกแบบศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เป็นโจทย์ใหญ่ที่ควรมีการหารือร่วมกันทุกฝ่ายในสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่จะมาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่พรรคประชาชนเห็นว่ารัฐสภาสามารถเดินหน้าแก้ไขบางปัญหาได้ทันที โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในบางประเด็น

ขณะที่ ‘พริษฐ์ วัชรสินธุ’ สส.บัญชีรายชื่อ และโฆษกพรรคคประชาชน กล่าวถึงรายละเอียดว่า ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรายื่นในวันนี้ มุ่งสู่การสร้างศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่เป็นอิสระจากประชาชนโดยแบ่งออกเป็น 3 ร่าง
ร่างที่ 1 เป็นการ ‘เปลี่ยนระบบ’ ที่ครอบคลุม 3 ประเด็นหลัก (1) ที่มาหลากหลาย - ทำให้เรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่มีความหลากหลายทางความคิด วิชาชีพ และประสบการณ์ โดยการเพิ่มช่องทางในการสรรหา-เสนอชื่อ จากเดิมที่เป็นการเสนอชื่อผ่านคณะกรรมการสรรหาช่องทางเดียว มาเป็นการเสนอชื่อหลายสายจากหลากหลายช่องทาง เช่น ศาล, สส. รัฐบาล, สส. ฝ่ายค้าน, สว.
(2) ไม่ผูกขาดโดย สว. - ทำให้เรามีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระที่ยึดโยงกับประชาชนและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย โดยการเปลี่ยนการคัดเลือกรับรองจากเดิมที่ สว. มีอำนาจชี้ขาด คือต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1/2 ของ สว. มาเป็นการพิจารณาร่วมกันของสองสภา โดยต้องได้รับฉันทามติจากหลายฝ่าย กล่าวคือ ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1/2 ของ สมาชิกรัฐสภา, 1/2 ของ สส. รัฐบาล, และ 1/2 ของ สส. ฝ่ายค้าน

(3) ประชาชนตรวจสอบได้ - ทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ไม่อยู่เหนือการตรวจสอบ โดยการคืนสิทธิให้ผู้แทนราษฎร และประชาชน 20,000 คน ในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอน ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ ที่ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ผ่านกลไกขององค์คณะพิจารณาถอดถอนที่มีตัวแทนจากหลายฝ่าย
ร่างที่ 2 และร่างที่ 3 เป็นการ ‘ปรับเฉพาะจุด’ ที่เราหวังว่าจะเป็นข้อเสนอขั้นต่ำที่ทุกพรรคการเมืองและ สว. จะรับได้ โดยร่าง 2 จะเป็นเฉพาะการเปลี่ยนการคัดเลือกรับรองจากเดิมที่ สว. มีอำนาจชี้ขาด (ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1/2 ของ สว.) มาเป็นการพิจารณาร่วมกันของสองสภา (ต้องได้รับความเห็นชอบจาก 1/2 ของ สมาชิกรัฐสภา) และร่าง 3 จะเป็นเฉพาะการคืนสิทธิให้ผู้แทนราษฎรและประชาชน 20,000 คน ในการเข้าชื่อเพื่อริเริ่มกระบวนการพิจารณาถอดถอนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระ
"พรรคประชาชนหวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกคน จะเห็นตรงกันว่าศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระไม่ควรเป็นอิสระจากประชาชน แต่ควรเป็นอิสระจากการถูกครอบงำโดยกลุ่มก้อนทางการเมืองเพียงกลุ่มเดียว และพรรคประชาชนหวังว่าทุกพรรคการเมืองและสมาชิกรัฐสภาทุกคนจะเห็นตรงกันว่าการแก้ไขปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ 'เรื่องเล็ก' แต่เป็น 'ระเบิดเวลาลูกใหญ่' ที่เราควรร่วมกันปลดชนวน โดยการบรรจุและผลักดันร่างดังกล่าวในรัฐสภาโดยเร็ว"
— พริษฐ์ กล่าว
ยืนยันว่า เป้าหมายปลายทางของเราคือจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ถูกจัดทำโดยสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน แต่ในเมื่อกระบวนการดังกล่าวอาจใช้เวลา เราเห็นว่ามีปัญหาบางประเด็นที่สามารถดำเนินการคู่ขนานได้เลยผ่านการแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตรา
ขณะที่ ‘วันมูหะมัดนอร์ มะทา’ ประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา โดย กล่าวว่า เป็นหน้าที่ของสำนักงานเลขาธิการสภาฯ จะตรวจสอบรายชื่อ จำนวนตามรัฐธรรมนูญ และมาตราที่แก้ไขทั้งหมด หากครบถ้วนและสมบูรณ์ แล้ว ตามขั้นต้อน ต้องเชิญ คณะกรรมการประสานงาน (วิป) 3 ฝ่าย คือ สว. รัฐบาล และ ผู้นำฝ่ายค้าน หารือว่าจะพิจารณาตามที่ทุกฝ่ายมีความพร้อม
