พิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เผย คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ...โดยเหตุผลและความจำเป็นที่ต้องออกร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ เนื่องจาก ตลาดหลักทรัพย์หากย้อนหลัง 1 ปีที่ผ่านมาอยู่ในสภาวะที่ทรงตัว อยู่ที่ 1,600-1,700 จุด และค่อยลดลงมาอยู่ที่ระดับ 1,400-1,500 จุด และสิ่งที่ทำให้ความเชื่อมั่นในตลาดหลักทรัพย์หายไปคือ ไม่เชื่อมั่นว่า กฎหมายของเราจะสามารถกำกับหรือดูแลของหลักทรัพย์ในตลาดได้อย่างทั่วถึง
ซึ่งตัวที่มีปัญหามากสุด คือ การขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) หรือ Short Sellingซึ่งพบว่า มีการซื้อขายชอร์ตเป็นปริมาณสูงมาก Naked Short Selling หรือ การขายหุ้นออกแล้วซื้อหุ้นคืนทีหลัง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ เพราะในขณะนั้นมีปริมาณสูง
สำหรับการทำ Short Selling ถือเป็นเรื่องปกติ ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย ทุกประเทศอนุญาตอยู่แล้ว แต่ Naked Short Salling เป็นกรณีของผู้ที่ไม่มีหุ้นอยู่ในมือแล้วนำหุ้นไปขาย และไปซื้อกลับคืนมาทั่วโลกไม่อนุญาต และในกระบวนการตรวจสอบไม่สามารถเข้าไปกำกับดูแลได้จากเพราะเราสามารถกำกับได้ภายในประเทศเท่านั้น เพราะการซื้อขายกับต่างประเทศ ไม่ได้เข้าระบบของ ก.ล.ต.
โดยสิ่งที่เราแก้ไข คือการเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) และเมื่อมีการออกกฎหมายฉบับนี้ เมื่อทราบว่ามีการซื้อจากต่างประเทศ คนทำจะมีโทษปรับและโทษอาญาที่ค่อนข้างรุนแรง และคิดว่า สามารถปราบได้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด และค่อนข้างเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน
นอกจากนี้ ยังมีการแจ้งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีรับทราบ ถึงเหตุผลและความจำเป็น ซึ่งจะพบว่า กรณีใหญ่ๆ ที่พบความเสียหายเป็นหมื่นล้าน เนื่องจากกระบวนการสกัดกั้นอาจไม่ทันท่วงที ดังนั้น จึงได้มีการยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียนให้เข้มงวดมากขึ้น
ทั้งนี้ ร่างพ.ร.ก.ฉบับนี้ ยังมีการกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย ต้องไปดูว่า ผู้ถือหุ้นกู้กลุ่มไหนได้รับการดูแลหรือไม่ ไม่ใช่ว่า ใครมือยาวสาวได้สาวเอา และต้องเข้าไปกำกับถึงการฟื้นฟูองค์กร ว่า ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถือหุ้นทั้งรายใหญ่รายย่อย และสมเหตุสมผลหรือไม่ ตลอดถึงการล้มละลายหากฟื้นฟูไม่ได้ จะมีการแบ่งส่วนแบ่งให้ผู้ถือหุ้นอย่างไร เพื่อกำกับตั้งแต่เริ่มมีปัญหาทุจริต การไล่จับและการฟื้นฟู จนจบกระบวนการล้มละลาย
พิชัย ยังกล่าวว่า บางกรณีพื้นฐานหุ้นดี ผลประกอบการดี แต่อยู่ๆหุ้นลง เพราะมีข่าวว่าผู้ถือหุ้นรายใหญ่บางรายได้นำหุ้นไปจำนองไว้ หรือนำไปลงทุนอย่างอื่น เมื่อถูกปัญหาหุ้นลงมา ก็ถูก Forced sell หรือการบังคับขาย ดังนั้นอาจจะต้องเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อให้กรณีเหล่านี้ตรวจสอบได้ ทั้ง การกระทำผิด และมีมาตรการยับยั้งความเสียหาย เช่น หาก ก.ล.ต. พบว่า อาจจะมีการทุจริตในโครงการขนาดใหญ่ หรือ ก.ล.ต.อาจน่าสงสัยว่า เกิดการซื้อขายหุ้นที่อาจเอื้อประโยชน์ให้แก่ผู้บริหารหรือไม่ ก็สามารถเข้าไปชี้และยับยั้งตั้งแต่ต้น
ดังนั้น ในส่วนที่ ครม.เห็นชอบในหลักการให้ ก.ล.ต.สามารถเป็นพนักงานสอบสวนในคดีได้ และในทางปฏิบัติก็เชื่อว่า ก.ล.ต.กับดีเอสไอ ไม่ได้ทำทุกคดี จะทำเฉพาะคดีใหญ่ๆ ซึ่งประเด็นการสอบสวนจะเป็นหน้าที่ของ ก.ล.ต.ที่ไปทำความเข้าใจกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจะมีการมอบหมายให้เลขากฤษฎีกาช่วยดูรายละเอียด ซึ่งสำหรับการดำเนินการเรื่องนี้ก็เพื่อดูแลตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำให้สภาวะเศรษฐกิจเกิดความเชื่อถือในประเทศ ดังนั้น การทำสิ่งเหล่านี้มันสอดคล้องกับประเทศต่างๆที่เจอปัญหาเดียวกัน เช่น ในสหรัฐอเมริกา หรือเกาหลีใต้
พิชัย คาดว่า กฤษฎีกาจะใช้เวลาในการพิจารณารายละเอียดประมาณ 2 สัปดาห์ ซึ่งหากตรงตามหลักการก็จะมีการประกาศเป็น พรก.ต่อไป
สำหรับเรื่องนี้ ได้มีการสำรวจความเห็นนักลงทุนต่างประเทศมาแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เห็นด้วย และบอกว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะเป็นการสร้างความเชื่อมั่น หลังจากนี้จะไปกำหนดด้วยว่า มีจำนวนการซื้อขายหุ้นในระดับเท่าไหร่ถึงต้องเปิดเผย
ด้าน เลขาธิการ ก.ล.ต. ชี้แจงเพิ่มเติมด้านการสร้างความมั่นใจให้นักลงทุนว่า เครื่องมือการ Short Selling ที่เป็นเครื่องมือสากลที่อนุญาตให้ทำได้ แต่จะทำอย่างไร เพื่อไม่ให้คนใช้ช่องว่างในการกระทำผิด ที่ผ่านมาในต่างประเทศมีการเอาผิดที่ตัวบุคคล แต่กฎหมายของเรามุ่งไปที่เรื่องความปลอดภัย ซึ่ง พ.ร.ก.ตัวนี้ จะทำให้เกิดการรายงาน ทำให้กระบวนการตรวจสอบเกิดความกระชับ และใช้เวลาลดน้อยลง โดยยืนยันว่า สำนักงาน ก.ล.ต. มีความพร้อมที่จะทำงานร่วมงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง