จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นายกรัฐมนตรี มีข้อสั่งการในการประชุม ดังนี้
เมื่อวันศุกร์ที่ 28 มีนาคม ที่ผ่านมา จากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศเมียนมา ซึ่งส่งผลให้หลายพื้นที่ในประเทศไทยได้รับผลกระทบทำให้สามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ภาคเหนือ และกรุงเทพมหานคร โดยขอสั่งการให้ทุกหน่วยงานบูรณาการการทำงาน และระดมทุกสรรพกำลัง จากทั้งภาครัฐ เอกชน และอาสาสมัครในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากเหตุการณ์ดังกล่าว และรัฐบาลขอขอบคุณจากใจในทุกภาคส่วนถึงความเสียสละของทุกๆ ท่านที่ร่วมมือกันจนสถานการณ์คลี่คลายลงแล้ว แต่เพื่อเป็นการป้องกัน การเตรียมรับมือและมีมาตรการที่ชัดเจนในการรับมือ อุบัติภัย ภัยพิบัติทางธรรมชาติต่างๆ ทุกประเภท ทั้ง อุทกภัย สึนามิ ไฟป่า รวมถึงแผ่นดินไหว โดยขอสั่งการดังต่อไปนี้
1\. ให้กระทรวงมหาดไทย - ให้ดำเนินการจัดทำแผน และมาตรการในการป้องกันภัยพิบัติต่าง ๆโดยมีการแบ่งหน้าที่ และขั้นตอนต่าง ๆ อย่างชัดเจน (Flowchart) เพื่อให้เกิดความเข้าใจกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกลับมาเสนอภายในสิ้นเดือนนี้ และ ขอให้ทางกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) หามาตรการในการประสานงานกับทางกระทรวง DE กรมอุตุนิยมวิทยา และ กสทช. ในการส่งข้อความเตือนภัย ที่ชัดเจน และรวดเร็วมากขึ้นให้มีการใช้ระบบ Virtual cell broadcast กับอุปกรณ์โทรศัพท์ทุกรูปแบบ
ทั้งนี้ ระหว่างรอระบบ Cell broadcast ที่จะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนกรกฎาคมนี้ เพื่อให้ระบบสื่อสารเตือนภัยมีประสิทธิภาพสูงสุด ในการเตือนภัยแก่สาธารณชนในสถานการณ์ต่างๆ ทั้งจากภัยธรรมชาติ แผ่นดินไหว น้ำท่วม ดินถล่ม อุบัติเหตุ อุบัติภัยต่างๆ เช่น ไฟไหม้ อุบัติเหตุบนท้องถนนเป็นต้น แม้กระทั่งการรุกรานจาก cyber crime โดยให้ศึกษาในประเทศต่าง ๆ ที่มีบทเรียนที่ดีในเรื่องภัยพิบัติต่างๆ และให้ทางกรมโยธาธิการฯ เร่งออกมาตรการ ข้อกำหนดในการตรวจสอบอาคารสูงทุกอาคาร เพื่อให้ได้มาตรฐาน โดยร่วมมือกับทาง กทม. และสมาคมที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญ และ ควรจะกำหนดเกณฑ์มาตรฐานและออกใบรับรองมาตรฐานอาคาร เพื่อให้เกิดความมั่นใจกับประชาชนและนักท่องเที่ยว
2\. สั่งการให้ กระทรวงการต่างประเทศ เร่งปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศ ที่มีความพร้อมในระบบเตือนภัย เช่น ญี่ปุ่น ยุโรป นิวซีแลนด์ และ อิสราเอล โดยประสานผ่านสถานทูต เพื่อเชิญมาประชุมกับผู้ที่เกี่ยวข้องของประเทศไทย เพื่อกำหนดแนวทางปฎิบัติสำหรับประเทศไทยให้เร็วที่สุด
3\. ให้กระทรวงสาธารณสุข วางแผนในการเตรียมการรับมือทั้งแพทย์ฉุกเฉิน เตียงสนามให้เพียงพอ รวมถึงจิตแพทย์ที่จะดูแลฟื้นฟูผู้ที่รับผลกระทบ
4.กระทรวงการท่องเที่ยวฯ - สั่งการให้ เร่งสื่อสารกับนักท่องเที่ยว หรือชาวต่างชาติที่มาทำงานในประเทศไทย ให้ได้รับข้อความเตือนภัย และแผนรับมือกับเหตุการณ์ได้อย่างชัดเจน
5.ให้กระทรวงทรัพยากรฯ - ระดมนักวิชาการทางด้านธรณีวิทยา เพื่อรวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอแนะในมาตรการรับมือที่ถูกต้อง และป้องกันภัยได้อย่างรัดกุมที่สุด รวมถึงการตรวจระบบอุปกรณ์เตือนภัยต่างๆ ที่เคยมีอยู่ ให้สามารถใช้งานได้อย่างปกติ เช่น ระบบเตือนภัยสึนามิ ตลอดจนการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้มากยิ่งขึ้น
6\. ให้กระทรวงศึกษาธิการ - เร่งเพิ่มเติมหลักสูตร และแผนการรับมือภัยธรรมชาติ ในทุกรูปแบบให้กับนักเรียน นักศึกษาทุกระดับ
7.ให้กระทรวงคมนาคม - เร่งตรวจสอบเส้นทางคมนาคม ทุกมิติให้มีความพร้อมในการให้บริการกับประชาชน รวมถึงตรวจสอบงานก่อสร้างขนาดใหญ่ให้ได้มาตรฐาน สามารถรองรับภัยธรรมชาติต่าง ๆ ได้
8\. ให้สำนักนายกรัฐมนตรี - ร่วมมือกับ ปภ. เร่งสรุปมาตรการในการเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าวโดยเร็ว ตามที่กฎหมายกำหนด และ ให้กรมประชาสัมพันธ์ - เป็นศูนย์กลางในการกระจายข่าวสารที่ถูกต้อง อย่างทั่วถึงรวมทั้งกระจายไปยังช่องทางต่างๆให้ครบถ้วนทั้งสถานีวิทยุ โทรทัศน์ และแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ เช่น Facebook หรือ LINE รวมทั้งให้ประสานขอความร่วมมือกับ เอกชน ที่มีป้ายโฆษณาขนาดใหญ่ ที่สามาารถขึ้นภาพได้ทันที เพื่อให้เกิดการประชาสัมพันธ์อย่างทั่วถึง
จิรายุ กล่าวต่ออีกว่า นายกรัฐมนตรี ได้สั่งการให้คณะกรรมการสืบหาต้นเหตุของตึกก่อสร้าง สตง.ถล่มในครั้งนี้ที่มี อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธานให้เร่งตรวจสอบหาข้อเท็จจริงภายใน 7วัน หากมีความผิดต้องดำเนินการตามกฏหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป
“อาคารก่อสร้างถล่มครั้งนี้ ต้องหาสาเหตุ และ หาผู้รับผิดชอบให้ได้ ไม่เช่นนั้นประเทศไทยจะอยู่ยาก ต้องมีผู้รับผิดชอบเพื่อแก้ไขปัญหาระยะยาวต่อไป”
— นายกรัฐมนตรี กล่าว
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้สอบถามในแต่ละกระทรวงที่เกี่ยวข้อง โดยพันตำรวจเอกทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ได้รายงาน ต่อ ครม.ว่ากรมสอบสวนคดีพิเศษหรือ DSI ได้รับเป็นคดีพิเศษเพื่อติดตามตรวจสอบการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวที่พบว่ามี นอมินี มากถึง 17 บริษัท ขณะที่กระทรวงพาณิชย์ ตรวจสอบพบว่า บริษัทดังกล่าวรับงานส่วนราชการไปทั้งหมด 11 งาน 10 งานอยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนงานที่แล้วเสร็จเป็นอาคารเรียนโรงเรียนแห่งหนึ่ง ซึ่งจะเข้าดำเนินการตรวจสอบต่อไป
ขณะที่ เอกณัฐ พร้อมพันธุ์ รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม รายงานว่า ผลของการตรวจสอบเหล็กพบว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐานโดยจะส่งข้อมูลให้พนักงานสอบสวน เพื่อประกอบสำนวนการสอบสวนต่อไป