จิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จากสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก นายกรัฐมนตรีมีข้อห่วงใยให้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน เนื่องจากอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพและการดำเนินชีวิตของประชาชน ตั้งแต่บริเวณชายแดนไทย-เมียนมา ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงราย ซึ่งได้มุ่งประเด็นไปที่การทำเหมืองของประเทศเพื่อนบ้านเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา
โดยนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้
- ประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
- เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
พิจารณาสั่งการให้ จตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรฯ ดำเนินการในส่วนงานที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงทรัพยากรฯ ติดตามและรายงานการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา เจรจาหารือกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อหยุดหรือปรับปรุงวิธีการทำเหมือง เพื่อป้องกันการระบายสารปนเปื้อนลงสู่แหล่งน้ำ
ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกกอย่างต่อเนื่อง ดังนี้
สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ประชุมกรมกิจการชายแดนทหาร คณะทำงานขับเคลื่อนการดำเนินการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำแม่น้ำระหว่างประเทศ ลุ่มน้ำโขงเหนือ ครั้งที่ 1/2568 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2568 โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายเป็นประธาน สำนักงานเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) : GISTDA ได้จัดทำข้อมูลย้อนหลัง 8 ปี ตั้งแต่ 2560 - 2568 โดยใช้ดาวเทียม พบการเปิดหน้าดินในพื้นที่เมียนมา เพิ่มมากขึ้นในหลายพื้นที่ในช่วงปี 2567 - 2568
และมีการใช้ดาวเทียมในการแปลผลข้อมูลความขุ่น (turbidity) พบมีความขุ่นเพิ่มมากขึ้นในบริเวณที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยได้ส่งข้อมูลดังกล่าวให้กรมกิจการชายแดนทหาร และกรมควบคุมมลพิษดำเนินการต่อไปแล้ว
พร้อมกันนี้ หลายหน่วยงานได้เร่งดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อบูรณาความร่วมมือแก้ไขปัญหาสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก ดังนี้
1. ด้านการจัดการแหล่งที่มาของปัญหา
กรมควบคุมมลพิษ ดำเนินการจัดประชุมหารือเตรียมความพร้อมของข้อมูลคุณภาพสิ่งแวดล้อม และภาพถ่ายดาวเทียม ร่วมกับกรมกิจการชายแดนทหาร กรมเอเชียตะวันออก GISTDA และกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่แล้ว เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2568 และมีข้อตกลงให้กรมควบคุมมลพิษเป็นหน่วยงานหลักในการประมวลผลและสังเคราะห์ข้อมูล
- การบ่งชี้ทางสิ่งแวดล้อม
- ผลกระทบต่อสุขภาพและระบบนิเวศ
- ให้กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) พิจารณาแนวทางให้ความช่วยเหลือเมียนมาด้านการทำเหมืองที่ถูกต้องตามหลักวิชาการหรือลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม โดยกรมควบคุมมลพิษจะหารือร่วมกับ GISTDA กรมอนามัย และ กพร. เพื่อจัดส่งข้อมูลภาพรวมให้กับกรมกิจการชายแดนทหาร และกรมเอเชียตะวันออกใช้ประกอบการเจรจา
2. ด้านการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนในแหล่งน้ำและการบรรเทาผลกระทบ
เน้นวิธีปฏิบัติในการป้องกันการแพร่กระจายของโลหะหนัก และการจัดหาน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภค บริโภค และการประกอบอาชีพ ซึ่งหน่วยทหารช่างมีแผนขุดลอกแม่น้ำกก ระยะทาง 3 กิโลเมตร บริเวณหมู่บ้านธนารักษ์ - สะพานย่องลี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย
ขณะที่กรมควบคุมมลพิษอยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาความเป็นไปได้ในการจัดการตะกอนในแม่น้ำ อาทิ การปรับสภาพน้ำ ระบบตักตะกอน การเบี่ยงกระแสน้ำ สำหรับการประปาส่วนภูมิภาค ได้จัดเตรียมแผนการบริหารจัดการกรณีแหล่งน้ำผิวดินปนเปื้อนในระยะยาว
3. ด้านการเฝ้าระวังคุณภาพสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพ
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกก แม่น้ำสาย และลำน้ำสาขา รวมถึงเก็บตัวอย่างสัตว์น้ำ คุณภาพน้ำประปา ผลิตผลทางการเกษตร และสุขภาพของประชาชน ซึ่งกรมควบคุมมลพิษจะดำเนินการเก็บตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในแม่น้ำกกและลำน้ำสาขา แม่น้ำสาย และแม่น้ำโขง เพิ่มความถี่ในการเก็บตัวอย่างเป็น 2 ครั้งต่อเดือน โดยเริ่มดำเนินการตั้งแต่เดือนพฤษภาคม - กันยายน 2568
ที่ผ่านมา กรมประมงได้เก็บตัวอย่างสัตว์น้ำไปตรวจสอบวิเคราะห์โลหะหนักแล้ว จำนวน 3 ครั้ง เมื่อวันที่ 11 เมษายน, 28 เมษายน และ 2 พฤษภาคม 2568 ผลการตรวจไม่เกินค่ามาตรฐาน ไม่พบแคดเมียมและตะกั่ว กรณีสัตว์น้ำมีตุ่มแดงเกิดจากปรสิต
ส่วนกรมอนามัย ได้ทำการตรวจคุณภาพน้ำประปาหมู่บ้าน และปัสสาวะของประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงรายในเดือนเมษายน 2568 ผลการเก็บน้ำประปาไม่พบการปนเปื้อนสารหนู และตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน และผลตรวจปัสสาวะไม่เกินมาตรฐาน
ทางด้านการประปาส่วนภูมิภาค ได้ตรวจสอบคุณภาพน้ำดิบที่ใช้ในการทำประปาอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน และกรมทรัพยากรน้ำบาดาลได้ทำการตรวจสอบคุณภาพน้ำบาดาลในพื้นที่อำเภอแม่อาย 10 จุด ไม่พบสารหนูและตะกั่วเกินมาตรฐานฯ
ขณะที่กรมทรัพยากรน้ำ ได้ตรวจวัดคุณภาพน้ำแม่น้ำตก และแม่น้ำโขง (สถานีเชียงแสน) เดือนละ 2 ครั้ง มีการรายงานผลให้กับจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดเชียงราย
4. ด้านการบริหารจัดการ
ได้มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาคุณภาพน้ำในแหล่งน้ำผิวดิน โดยมีรองนายกรัฐมนตรี (ประเสริฐ จันทรรวงทอง) เป็นประธานอนุกรรมการ
จิรายุ ระบุว่า นายกรัฐมนตรีได้กำชับให้มีการติดตามต้นตอของปัญหา และดำเนินการแก้ไข โดยในการประชุมคณะกรรมการชายแดนส่วนภูมิภาค (Regional Border Committee : RBC) ณ เมืองเชียงตุง รัฐฉาน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 17 - 20 มิถุนายน 2568 นี้ กรมกิจการชายแดนทหารจะได้บรรจุปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในแม่น้ำกก - แม่น้ำสาย เป็นประเด็นหารือด้วย
นอกจากนี้ กระทรวงการต่างประเทศ โดยกรมเอเชียตะวันออก ได้ทำหนังสือจากสถานทูตไทยในเมียนมาและเชิญผู้แทนจากสถานทูตเมียนมาประจำประเทศไทย เพื่อหารือแนวทางแก้ปัญหาต่อไป
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อสถานการณ์พบสารปนเปื้อนเกินค่ามาตรฐานในแม่น้ำกก สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ตรวจสอบ ติดตาม แก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ตามข้อสั่งการของ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ที่ให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชน ต้องได้รับการแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วน