สภาพท้องฟ้าเหนือตัวเมืองเชียงใหม่ ที่เต็มไปด้วยฝุ่นควัน อย่างเห็นได้ชัด ค่าฝุ่นละอองขนาดขนาดเล็ก PM 2.5 เกินค่ามาตรฐานมานานนับเดือน แม้สถิติจุดความร้อนในจังหวัดเชียงใหม่จะลดลง เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา แต่พื้นที่ป่าฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ยังคงเกิดจุดความร้อนสะสมจำนวนมาก และสูงกว่าในพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยหลายเท่าตัว

ผศ.พลภัทร เหมวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์ภูมิภาคเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ภาคเหนือ (GISTNORTH) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) เปิดเผยว่า ถ้าดูจากสถิติ ในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายน จะเป็นฝุ่นที่มาจากประเทศเมียนมา เนื่องจากมีการเผา และ ทิศทางลมสนับสนุนในการผัดเข้ามา ส่วนทางฝั่ง สปป.ลาว แม้จะมีการเผาแต่จะไม่มีผลกระทบมากนัก จะมีเฉพาะชายแดนเท่านั้น ส่วนทางฝั่งของเมียนมา จะมีผลเห็นได้ชัด จากจัดหวัดเชียงราย และ ตัวเหนือของเชียงใหม่ จะมีจุดความร้อนน้อย แต่ฝุ่นหนาแน่น โดยพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบเยอะ คือพื้นที่อำเภอชายแดน ส่วนพื้นที่ตอนในฝุ่น PM 2.5 ก็จะเบาบางลง แต่บวกกับจุดความร้อนในพื้นที่ ก็ทำให้ ฝุ่น PM 2.5 ก็วิกฤตเช่นกัน
“สำหรับเรื่องฝุ่นควันข้ามแดนเป็นเรื่องที่พูดยาก โดยในฝั่งประเทศเมียนมา นั้น มีปัญหาภายในประเทศ และมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ ที่รัฐบาลโดยตรงไม่สามารถเจรจาได้ ซึ่งจะต้องมีการพูดคุย ในแต่ละกลุ่ม แต่จากปัญหาภายในกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ จะให้ความสำคัญ กับเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนมากกว่าแก้ปัญหาเรื่องของการเผา ถ้าต้องการจะแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง ต้องมีการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย และหน่วยงานจากภายนอกเข้าไปช่วยสนับสนุน และพื้นที่ของประเทศเพื่อนบ้าน นั้นมีวิถีชีวิต คล้ายกับทางภาคเหนือ โดยสาเหตุหลักๆก็จะเป็นการเผาในพื้นที่เกษตร พืชเศรษฐกิจ และเผาป่าเพื่อหาของป่าและล่าสัตว์ เพราะสถิตจุดฮอตสปอตส่วนใหญ่ เกิดตามพื้นที่แนวชายแดนของประเทศเมียนมา”



ด้าน ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ มองว่า ถ้าพูดถึงภาพรวมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ สถิติจุดความร้อน สถิติการเผาในพื้นที่ป่า ลดลงอย่างเห็นได้ชัด แต่ประเด็นใหญ่คือฝุ่นควันข้ามแดน เข้ามา ร้อยละ 50 เราจะเห็นว่าปีนี้ ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง เมียนมา สปป.ลาว และกัมพูชา มีการเผาอย่างหนัก ซึ่งถือว่าบ้านเรานั้นถูกล้อมไว้หมดจากการเผา ในส่วนของรัฐบาลที่มีความพยายามในการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน ส่วนตัวมองว่ายังไม่เห็นความคืบหน้า เพราะไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการควบคุม การส่งเสริมบริษัทอุตสาหกรรมในประเทศไทย ที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้าน รวมถึงกระบวนการรับซื้อ ที่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการรับซื้อผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ปลอดการเผา จริงๆ ควรมีมาตรการตรวจสอบ อีกส่วนก็คือความร่วมมือกับประเทศเพื่อนบ้าน ที่มีแผนจะคุยเรื่องลดฝุ่นควัน ก็ยังไม่เห็น
“โดย ปีนี้แม้รัฐบาลจะประกาศอย่างจริงจังในเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดน อย่างยุทธศาสตร์ฟ้าใส ไทย ลาว เมียนมา แต่ผลที่เกิดขึ้นเราเห็นชัดเลยว่า พื้นที่เผาไหม้สูงขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลควรเร่งให้ พ.ร.บ.บริหารจัดการอากาศสะอาด ออก เพราะจะได้มีกฎหมายที่เป็นกฎหมายเชิงรุก กฎหมายที่ทันสมัยในเชิงของการป้องกันมากขึ้น ซึ่งจะมีการพูดถึงเรื่องของการแก้ปัญหาฝุ่นควันข้ามแดนด้วย”
“นอกจากนี้ลำพังรัฐบาลฝ่ายเดียวไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ควรมีคณะกรรมการในระดับประเทศเพื่อนบ้าน เป็นไตรภาคี และควรมีทั้งฝั่งนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ ที่ทำงานด้าน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) มีส่วนร่วมด้วย คือถ้าปล่อยให้กลไกรัฐ ทำอยู่ฝั่งเดียว จะมีความล่าช้า ไม่ทำงานเชิงรุก และมีประสิทธิภาพ”

จิรศักดิ์ ดอกอินทร์ ชาวจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ตัวเขานั้น เกิดและเติบโตในจังหวัดเชียงใหม่ จนอายุ 35 ปี ในช่วงที่เริ่ม โตเป็นผู้ใหญ่ ก็จะเห็นปัญหาฝุ่นควันเกิดขึ้นทุกๆ ปี ญาติพี่น้อง พ่อแม่ ผู้สูงอายุ ก็จะได้รับผลกระทบในเรื่องนี้รวมถึงตัวเองด้วย ที่จะต้องหาวิธี ป้องกัน ทั้งสวมใส่หน้ากากอนามัย แบบ n95 และอยู่ในห้องที่มีเครื่องฟอกอากาศ เพื่อป้องกันตัวเอง ทำให้รู้สึกว่ามันมีผลกระทบกับใช้ชีวิต บางครั้งมีความจำเป็นต้องออกไปข้างนอก ก็หายใจไม่ค่อยสะดวก แสบตา
“แม้ที่ผ่านมาเราจะเห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาฝุ่นควันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่วนตัวก็อยากฝากไปถึงรัฐบาล ให้แก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เพราะฝุ่นควันจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามา มันเกินอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานในแต่ละจังหวัด จึงอยากให้รัฐบาลทำงานเชิงรุกในการแก้ปัญหาฝุ่นควรข้ามแดนอย่างจริงจัง เพราะถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ที่ประชาชนได้รับผลกระทบเป็นวงกว้าง”

