เสถียรภาพรัฐบาลขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ‘โพล’ เชื่อหลังสงกรานต์การเมืองเปลี่ยน มีปรับ ครม.-ยุบสภา

16 เม.ย. 2568 - 04:58

  • ‘ปธ.สภาฯ’ ชี้เสถียรภาพรัฐบาล ขึ้นอยู่กับสถานการณ์

  • เชื่อนิรโทษกรรมไม่สร้างความขัดแย้งหากทุกฝ่ายคุยกันได้ เลี่ยงให้ความเห็น พ.ร.บ.กาสิโน

  • ซูเปอร์โพล’ เชื่อหลังสงกรานต์เกิดเปลี่ยนแปลงการเมือง มีปรับ ครม.นำไปสู่ยุบสภา เหตุพรรคร่วมขัดแย้ง

Poll_believes_that_after_Songkran_politics_will_change_with_cabinet_reshuffles_and_parliament_dissolutions_SPACEBAR_Hero_3f6e1b02ce.jpg

วันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ให้สัมภาษณ์ถึงเสถียรภาพของรัฐบาลจากกรณีการเดินหน้าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร ซึ่งมีพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคไม่เห็นด้วยว่า รัฐบาลมีเสียงกว่า 300 เสียง เพียงพอต่อการลงมติ แต่ก็จะต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่า มีเรื่องใดที่มีความขัดแย้ง ทุกพรรคการเมือง และ สส.ก็ต้องฟังเสียงประชาชน 

“รวมถึงไม่สามารถบอกได้ว่า มั่นคงตลอดไป เพราะถือเป็นเรื่องการเมือง ต้องมีทั้งบนดิน ใต้ดิน และบนฟ้า ซึ่งก็จะมั่นคงได้ในระดับหนึ่ง แต่จะบอกว่า ตลอดไปไม่ได้ ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งรัฐบาลมีปัญหาลักษณะนี้มาโดยตลอด และเป็นเรื่องปกติแต่การตัดสินใจสุดท้าย จะอยู่ที่ประชาชนที่จะตัดสินในการเลือกตั้งต่อไป”

ส่วนกรณีที่มีผู้ประเมินร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร อาจซ้ำรอยร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมนั้น ประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ปัจจุบันในระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ก็มีร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่รอการพิจารณาอยู่ ซึ่งมีหลายฉบับทั้งจากคณะรัฐมนตรี สส.และพรรคการเมือง 3-4 ฉบับ หากทุกฝ่ายพูดคุยกันได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี และเชื่อว่า ไม่น่าจะเกิดความขัดแย้ง เพราะทุกคนมุ่งหมายสร้างความปรองดองในประเทศ แต่จะนิรโทษกรรมในระดับใด และกับใครบ้าง ยังจะต้องพูดคุยกัน

ประธานสภาผู้แทนราษฎร ยังปฏิเสธที่จะให้ความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร เนื่องจาก ประธานสภาฯ ต้องวางตัวเป็นกลาง ไม่สามารถชี้แนะไปในทางใดทางหนึ่งได้

Poll_believes_that_after_Songkran_politics_will_change_with_cabinet_reshuffles_and_parliament_dissolutions_SPACEBAR_Phot_23407fb4a2.jpg

‘ซูเปอร์โพล’ เปิดผลสำรวจ เชื่อหลังสงกรานต์การเมืองเปลี่ยน มีปรับ ครม.-ยุบสภา

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล เปิดเผยสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง หลังสงกรานต์” กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,102 ราย โดยดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 10-14 เมษายน 2568 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ (เกือบสามในสี่ หรือ ร้อยละ 74.2) มีแนวโน้มคาดหวัง หรืออย่างน้อย “เชื่อว่า”จะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในช่วงหลังสงกรานต์ ซึ่งสะท้อนภาวะความไม่มั่นใจในเสถียรภาพของรัฐบาลปัจจุบัน และมีเพียง ร้อยละ 25.8 ที่เชื่อว่าจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ แสดงให้เห็นถึงความรู้สึก “ไม่แน่นอน” ที่ปกคลุมบรรยากาศทางการเมือง

ส่วนสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง พบว่า ร้อยละ 36.9 ระบุ ความขัดแย้งภายในพรรคร่วมรัฐบาล เป็นสาเหตุสำคัญที่อาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลง รองลงมา ร้อยละ 30.6 ระบุ การยุยงปลุกปั่นจากกลุ่มคนใกล้ตัวผู้มีอำนาจ ร้อยละ 27.8 ระบุ การปั่นกระแสในสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ ร้อยละ 20.5 ระบุ ปัญหาเศรษฐกิจที่กระทบต่อประชาชน และร้อยละ 14.9 ระบุ ความไม่พอใจของประชาชนต่อนโยบายต่างๆ ของรัฐบาล เช่น กาสิโน ความเหลื่อมล้ำ และการเลือกปฏิบัติ

เมื่อสอบถามถึงตัวการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่คาดว่าจะเกิดขึ้นหลังสงกรานต์ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.4 ระบุ การปรับคณะรัฐมนตรี ร้อยละ 37.6 ระบุ ความสัมพันธ์ระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลแตกร้าว ร้อยละ 32.1 เชื่อว่าจะมีการชุมนุมเคลื่อนไหวทางการเมืองรอบใหม่ และ ร้อยละ 27.5 คาดว่า จะมีการยุบสภา ซึ่งบ่งชี้ถึงความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะพัฒนาไปสู่ “การเปลี่ยนโครงสร้างระดับชาติ” หากรัฐบาลไม่สามารถจัดการกับแรงกดดันได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะที่ ร้อยละ 25.6 ที่ระบุว่า “ไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆ” นับว่าเป็นส่วนน้อยของผู้ตอบแบบสอบถาม สะท้อนให้เห็นความรู้สึกร่วมของประชาชนส่วนใหญ่ต่อความเปราะบางทางการเมืองในปัจจุบัน

ผอ.ซูเปอร์โพล กล่าวว่า ผลสำรวจครั้งนี้สะท้อน บรรยากาศของความไม่ไว้วางใจทางการเมือง ที่แฝงอยู่ในสังคมไทย ประชาชนส่วนใหญ่มีทัศนะว่ารัฐบาลอาจเผชิญกับแรงกดดันทั้งจากภายในพรรคร่วมและจากแรงขับเคลื่อนของประชาชนในระดับฐานราก ความขัดแย้ง การสื่อสารในโลกออนไลน์ และผลกระทบด้านเศรษฐกิจได้ผสานกันเป็นพลังทางสังคมที่อาจเร่งเร้าให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งใหญ่ได้

“ทางออกคือ เร่งเสริมเอกภาพและความร่วมมือในพรรคร่วมรัฐบาล ขอยกกรณีประเทศเยอรมันและประเทศญี่ปุ่นเป็นแนวทาง โดยประเทศเยอรมันจะมีข้อตกลงร่วมระหว่างพรรคร่วมรัฐบาลก่อนการจัดตั้งรัฐบาลอย่างเป็นทางการ เอกสารนี้มีสถานะเสมือน “คู่มือ” ที่ชัดเจนในทุกด้าน ทั้งนโยบายเศรษฐกิจ สังคม พลังงาน การคลัง และต่างประเทศ”

โดยแต่ละพรรคต้องยึดถือร่วมกัน และเป็นเกณฑ์ประเมินความรับผิดชอบระหว่างพรรค ในขณะที่ประเทศญี่ปุ่นจะมีการประชุมหารือร่วมอย่างสม่ำเสมอ โดยมีคณะทำงานเจาะจงด้านนโยบาย เช่น ความมั่นคง ประชากรสูงวัย หรือภาษี เพื่อป้องกันความเห็นต่างไม่ให้ลุกลามกลายเป็นวิกฤต นอกจากนี้ยังตกลงแบ่งงานในคณะรัฐมนตรีอย่างชัดเจนตามจุดแข็งของแต่ละพรรค 

ผลที่คาดว่าจะได้รับคือ การลดการวิจารณ์กันเองภายในรัฐบาล สร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและนักลงทุนระหว่างการดำรงตำแหน่งรัฐบาลผสมและน่าจะสามารถรักษาเสถียรภาพรัฐบาลได้ยาวนาน แม้จะมีพรรคร่วมที่มีรากฐานอุดมการณ์ต่างกัน

“หากพรรคร่วมรัฐบาลขาดกลไกการประสานนโยบายอย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้เกิดการส่งสัญญาณขัดแย้งในที่สาธารณะ ลดความน่าเชื่อถือของรัฐบาล และสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในไม่ช้านี้อย่างแน่นอน”

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์