รัฐบาลถอยแล้ว! ‘สว.เปรมศักดิ์’ ชี้ไร้ความจำเป็นตั้ง ‘กมธ.ศึกษาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’

9 เม.ย. 2568 - 09:11

  • ‘สว.เปรมศักดิ์’ เมินร่วมสังฆกรรม ‘กมธ.ศึกษาเอ็นเตอร์เทนเมนต์คอมเพล็กซ์’

  • ชี้สิ้นเปลืองงบประมาณ-ไร้ความจำเป็น เหตุรัฐบาลถอยพิจารณาร่างกฎหมายแล้ว

Premsak_said_there_was_no_need_Entertainment_Complex_Study_Committee_SPACEBAR_Hero_50ebeceba4.jpg

ผู้สื่อข่าวรายงานการประชุมวุฒิสภา ที่มี มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม

โดยก่อนเข้าสู่วาระพิจารณา นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ สมาชิกวุฒิสภา (สว.) ในฐานะผู้ถูกเสนอชื่อให้เป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาการเปิดสถานบันเทิงแบบครบวงจร (Entertainment Complex) ที่มีจำนวน 35 คน แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อขอถอนตัวจากการเป็น กมธ. ชุดดังกล่าว เนื่องจากมองว่าไม่มีความจำเป็นที่ต้องตั้ง กมธ. ชุดดังกล่าว

เพราะรัฐบาลยอมถอยการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การประกอบสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. ... และไม่มีทิศทางจะดึงดันไปข้างหน้าเหมือนที่มีบางคนพยากรณ์ว่าจะมีเหตุคล้ายกับการ “ดันนิรโทษกรรมสุดซอย” ดังนั้น ตนเองจึงมีน้ำใจนักกีฬาและยึดถือว่า “หากคนถอย คนล้ม อย่าข้าม” จึงไม่มีความจำเป็นต้องมี กมธ.

ทั้งนี้ การเสนอชื่อของตนเองไม่ได้ถามความสมัครใจก่อน ขณะเดียวกันก็ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมวุฒิสภาเมื่อวันที่ 8 เม.ย.ที่ผ่านมา

ผมใคร่ครวญแล้วเห็นว่า การเดินหน้าตั้ง กมธ. วางกรอบเวลาศึกษา 180 วันนั้น สิ้นเปลืองงบประมาณ และผลการศึกษามีความชัดเจนเพียงแค่ว่าจะเอาหรือไม่ ดังนั้นเพื่อประหยัดงบประมาณและไม่เอาตัวเองเข้าไปพัวพันที่ผิดหลักการทำงาน จึงขอลาออกจาก กมธ. ต่อที่ประชุม ทั้งนี้ ขอให้พวกเราตั้งหลัก หากรัฐบาลคิดเดินหน้าค่อยว่ากันต่อไป

นพ.เปรมศักดิ์ เพียยุระ

ทางด้านประธานในที่ประชุม วินิจฉัยว่า การขอลาออกเป็นสิทธิ เมื่อแสดงเจตนาลาออกต่อที่ประชุมวุฒิสภาไม่ผิด เมื่อตั้ง กมธ. แล้ว การพิจารณาจะตั้งใครเพิ่มเติมหรือไม่ ทั้งนี้ วินิจฉัยว่า “เมื่อ กมธ. ไม่เกิน ไม่จำเป็นต้องตั้ง เอาเท่าที่มี”

Premsak_said_there_was_no_need_Entertainment_Complex_Study_Committee_SPACEBAR_Photo01_514269b2c7.jpg

สรุปผลงาน สว.ปีแรก เทอม 2

ในการประชุมวันเดียวกันนี้ บุญส่ง น้อยโสภณ รองประธานวุฒิสภา คนที่ 2 ได้แจ้งผลงานของวุฒิสภา สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ถึง 10 เมษายน 2568 โดยมีการ

  • ประชุมวุฒิสภา 29 ครั้ง
  • ใช้เวลาในการประชุม 166 ชั่วโมง
  • มีการปรึกษาหารือก่อนเข้าสู่ระเบียบวาระการประชุม ตามข้อบังคับข้อ 18 จำนวน 14 ครั้ง
  • สมาชิกวุฒิสภาหารือ 183 เรื่อง
  • ใช้เวลาในการหารือ 13 ชั่วโมง 5 นาที

ส่วนผลดำเนินงานด้านกฎหมาย มีการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ ประกอบไปด้วย

  • วุฒิสภาเห็นชอบกับสภาผู้แทนราษฎร 8 ฉบับ
  • แก้ไขเพิ่มเติมจากที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย 1 ฉบับ
  • วุฒิสภาเห็นชอบกับคณะกรรมาธิการร่วมกันพิจารณาเสร็จแล้ว แต่สภาผู้แทนราษฎรไม่เห็นด้วยกับร่างของกรรมาธิการร่วมกัน ซึ่งระงับยับยั้ง 1 ฉบับ
  • วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติมจากที่สภาผู้แทนราษฎรเห็นชอบด้วย ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการร่วมกัน 1 ฉบับ
  • วุฒิสภาแก้ไขเพิ่มเติม รอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณา 1 ฉบับ
  • อยู่ระหว่างการพิจารณาของวุฒิสภา ในวาระที่สอง ชั้นกรรมาธิการ 3 ฉบับ
  • พิจารณาอนุมัติพระราชกำหนด 1 ฉบับ
  • การพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา 1 ฉบับ

นอกจากนี้ ยังมีผลการดำเนินงานการควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล ได้แก่

  • การตั้งกระทู้ถามจำนวน 95 กระทู้
  • การพิจารณารายงานของกรรมาธิการ 8 เรื่อง (พิจารณาเสร็จสิ้น 6 เรื่อง, ถอน 2 เรื่อง)
  • การพิจารณาญัตติ 24 เรื่อง
  • การพิจารณารายงานประจำปีของหน่วยงานหรือองค์กร 29 เรื่อง

และยังพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งใดๆ ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญและกฎหมายอื่น โดยให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่ง 6 คน (เห็นชอบจำนวน 5 คน) ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกรรมาธิการเพื่อทำหน้าที่ตรวจสอบประวัติ ความประพฤติ และพฤติกรรมทางจริยธรรม 2 เรื่อง

ในช่วงท้าย ที่ประชุมวุฒิสภาได้รับทราบพระราชกฤษฎีกาปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่สอง ปี 2568 ตั้งแต่วันที่ 11 เมษายน 2568 และจะเปิดอีกครั้งในเดือนกรกฎาคมนี้

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์