กองเฝ้าระวังแผ่นดินไหว กรมอุตุนิยมวิทยา แจ้งเกิดเหตุแผ่นดินไหว วันที่ 6 พฤษภาคม 2568 เวลา 01.36 น. เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 3.0 ที่ระดับความลึก 4 กิโลเมตร ในพื้นที่ของ ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู โดยแผ่นดินไหวครั้งนี้จัดเป็นแผ่นดินไหวขนาดเล็ก (Minor) สาเหตุเกิดไม่แน่ชัด (Background earthquake) เบื้องต้นยังไม่มีรายงานการรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือน
ขณะที่เวลา 04.02 น.เกิดแผ่นดินไหว ขนาด 2.6 ความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณ ประเทศเมียนมา อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของ อ.ขุนยวม จ.แม่ฮ่องสอน ประมาณ 157 กิโลเมตร
กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยสถานการณ์แผ่นดินไหวในช่วงวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2568 ตรวจพบเหตุการณ์แผ่นดินไหว ขนาด 1.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.บ้านสา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง ขนาด 1.3 มีศูนย์กลางอยู่ที่ต.ถ้ำลอด อ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน ขนาด 3.0 มีศูนย์กลางอยู่ที่ ต.บุญทัน อ.สุวรรณคูหา จ.หนองบัวลำภู และแผ่นดินไหวที่มีศูนย์กลางอยู่ที่ประเทศเมียนมาจำนวน 12 เหตุการณ์

เปิดข้อมูล ‘วิชาการ’ ภาคอีสานมีรอยเลื่อน เกิดแผ่นดินไหวแล้ว 2 ครั้งเมื่อปี 67
จากกรณีเกิดแผ่นดินไหวใน จ.หนองบัวลำภู ครั้งนี้ และจากกระแสในโลกออนไลน์ที่มีการแชร์ข้อความว่า “ภาคอีสานไม่มีรอยเลื่อน จึงจะไม่เกิดแผ่นดินไหว” Spacebar สืบค้นข้อมูลเพื่อไขข้อข้องใจเกี่ยวกับรอยเลื่อนในภาคอีสานมีจริงหรือไม่
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ประจำภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมและสิทธิชุมชน ได้โพสต์เฟซบุ๊ก (2 เมษายน 2568) ใครบอกว่าอีสานไม่มีรอยเลื่อน? ชี้แจงข้อมูลว่า ความเชื่อนี้ไม่เป็นความจริง พร้อมเผยข้อมูลและหลักฐานเชิงวิชาการ
โดยระบุว่า ในปี 2567 เพียงปีเดียว จังหวัดบุรีรัมย์เกิดแผ่นดินไหว 2 ครั้ง ได้แก่
วันที่ 22 กรกฎาคม 2567 ขนาด 2.9 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. ศูนย์กลางอยู่ที่ ต.หินโคน อ.ลำปลายมาศ
วันที่ 24 กรกฎาคม 2567 เวลา 18.01 น. ขนาด 3.0 ริกเตอร์ ลึก 1 กม. ศูนย์กลางอยู่ที่ ต.โคกล่าม อ.ลำปลายมาศ ห่างจากจุดเดิมประมาณ 10 กม.
อาจารย์ไชยณรงค์ ระบุว่า ข้อมูลจากเอกสารการตรวจสอบรอยเลื่อนมีพลังในประเทศไทย โดยอาจารย์อดิศร ฟุ้งขจร ชี้ชัดว่า ภาคอีสานมีรอยเลื่อนมีพลังถึง 12 เส้น กระจายทั่วภูมิภาค โดยมีรอยเลื่อนที่ยาวเกิน 50 กม. ถึง 6 เส้น ซึ่งยิ่งรอยเลื่อนมีความยาวมาก ก็ยิ่งเสี่ยงเกิดแผ่นดินไหวขนาดรุนแรงขึ้น
รอยเลื่อนที่ยาวเกิน 100 กิโลเมตร ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ ได้แก่
- รอยเลื่อนโคราช พาดผ่านหลายอำเภอใน จ.นครราชสีมา ชัยภูมิ ลพบุรี และเพชรบูรณ์ ยาวประมาณ 193 กม.
- รอยเลื่อนท่าอุเทน พาดผ่าน อ.เมือง อ.ท่าอุเทน และ อ.บ้านแพง จ.นครพนม รวมถึง อ.บึงโขงหลง และ อ.บุ่งคล้า จ.หนองคาย ยาวประมาณ 136 กม.
รอยเลื่อนอื่นที่ยาวเกิน 50 กม. ได้แก่
• รอยเลื่อนภูเขียว (เพชรบูรณ์-ชัยภูมิ) ยาว 72 กม.
• รอยเลื่อนภูเรือ (เพชรบูรณ์-เลย) ยาว 60 กม.
• รอยเลื่อนหนองบัวแดง (ชัยภูมิ) ยาว 56 กม.
• รอยเลื่อนสตึก (บุรีรัมย์-สุรินทร์) ยาว 55 กม. ซึ่งเป็นต้นเหตุของแผ่นดินไหวในปี 2567
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่แสดงความรุนแรงของแผ่นดินไหว (intensity) ตามมาตราเมอร์คัลลิ ที่แสดงว่าพื้นที่ภาคอีสานมีความรุนแรงเฉลี่ยอยู่ในระดับ III ซึ่งคนทั่วไปอาจไม่รู้สึก แต่เครื่องมือสามารถตรวจจับได้ อย่างไรก็ตาม พื้นที่บางส่วนใน จ.นครพนม บึงกาฬ หนองคาย และชัยภูมิ อาจพบความรุนแรงในระดับ IV และ V ซึ่งคนสามารถรับรู้ได้ และอาคารบางประเภทอาจเกิดการสั่นไหวหรือเสียหาย
อาจารย์ไชยณรงค์ ย้ำว่า ไม่สามารถกล่าวได้ว่าอีสานไม่มีรอยเลื่อนหรือไม่เกิดแผ่นดินไหว แต่ควรเข้าใจว่าความรุนแรงที่อาจเกิดขึ้นตามมาตราเมอร์คัลลินั้นอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง
ดังนั้น การออกแบบและก่อสร้างอาคาร เช่น อาคารเกิน 5 ชั้น อุโมงค์ และอาคารสาธารณะในพื้นที่ที่จัดอยู่ในระดับความเสี่ยง V และ VI จึงควรมีมาตรการรองรับแผ่นดินไหว
นอกจากนี้ ยังควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมของมนุษย์ที่อาจกระตุ้นให้เกิดแผ่นดินไหว เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ หรือการระเบิดเพื่อทำเหมือง โดยเฉพาะ “เหมืองโปแตชที่ด่านขุนทด” ซึ่งตั้งอยู่ในแนวรอยเลื่อนโคราช
อาจารย์ไชยณรงค์ ระบุด้วยว่า นอกจากรอยเลื่อนภายในประเทศแล้ว รอยเลื่อนจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น “รอยเลื่อนแม่น้ำแดง” ก็อาจส่งผลต่อความรุนแรงของแผ่นดินไหวในภาคอีสานได้ในอนาคต โดยจะนำข้อมูลชุดนี้มาเผยแพร่เพิ่มเติมต่อไป
ที่มา : เฟซบุ๊ก ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ
