‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’ บทบาทอำนาจและข้อจำกัด ในสถานการณ์ปัจจุบัน

1 ก.ค. 2568 - 10:30

  • ทำความเข้าใจ บทบาท-อำนาจ-หน้าที่ และข้อจำกัดของตำแหน่งรักษาการนายกรัฐมนตรี ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’

  • ในสถานการณ์ที่นายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ชั่วคราว ตำแหน่งนี้จะมีบทบาทสำคัญเพื่อป้องกันสุญญากาศทางการเมืองและขับเคลื่อนการบริหารราชการแผ่นดิน

‘รักษาการนายกรัฐมนตรี’ บทบาทอำนาจและข้อจำกัด ในสถานการณ์ปัจจุบัน

วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 การเมืองไทยเผชิญความตึงเครียด หลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ 9:0 รับคำร้องสมาชิกวุฒิสภา  (สว.) 36 คน นำโดย มงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ขอให้วินิจฉัยกรณีคลิปเสียงสนทนาระหว่าง แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กับสมเด็จฮุน เซน ประธานวุฒิสภากัมพูชา ซึ่งถูกมองว่าสร้างความเสียหายต่อความมั่นคงและอธิปไตยของชาติ

โดยศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7: 2 สั่งให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย

จากสถานการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้ ‘สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ’ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 2 ต้องขึ้นมาเป็น “รักษาการนายกรัฐมนตรี” เนื่องจากรองนายกรัฐมนตรีลำดับที่ 1 ภูมิธรรม เวชยชัย พ้นจากตำแหน่ง และอยู่ในโผคณะรัฐมนตรีแพทองธาร 1/2 ยังไม่ได้เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณรับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรีอย่างเป็นทางการ ซึ่งมีกำหนดการในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568

ในยามที่นายกรัฐมนตรีไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ บทบาท “ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี”  มีความสำคัญอย่างยิ่งในการรักษาความต่อเนื่องของการบริหารราชการแผ่นดิน เพื่อป้องกันภาวะสุญญากาศทางการเมือง

บทบาทหน้าที่ อำนาจและข้อจำกัดของ “รักษาการนายกรัฐมนตรี”

ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรี มีบทบาทสำคัญในการประคองการบริหารประเทศเมื่อนายกรัฐมนตรีตัวจริงไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลทางกฎหมาย การเจ็บป่วย หรือการถูกพักจากตำแหน่งชั่วคราว เพื่อให้มั่นใจว่ารัฐบาลจะไม่หยุดชะงักและสามารถดำเนินงานต่อได้อย่างราบรื่น

การเข้ารับตำแหน่ง ‘รักษาการนายกฯ’ ตามกฎหมาย เมื่อนายกรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รองนายกรัฐมนตรีจะได้รับมอบหมายให้เป็น รักษาการนายกฯ เป็นลำดับแรก หากมีรองนายกรัฐมนตรีหลายคน คณะรัฐมนตรีจะกำหนดลำดับผู้รักษาการ

ในกรณีของ นายกฯ แพทองธาร ชินวัตร ซึ่งถูกศาลรัฐธรรมนูญสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม2568 สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คมนาคม ได้รับมอบหมายให้เป็น รักษาการนายกฯ เนื่องจาก ภูมิธรรม เวชยชัย ซึ่งอยู่ในโผ ครม.แพทองธาร 1/2 ยังไม่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณเข้ารับตำแหน่งรองนายกรัฐมนตรี ที่มีกำหนดการในวันที่ 3 กรกฎาคม นี้ ทำให้ขาดคุณสมบัติในการรักษาการในช่วงเวลานี้

สำหรับอำนาจและหน้าที่ของ ‘รักษาการนายกฯ’ ตามรัฐธรรมนูญ 2560 รักษาการนายกฯ มีอำนาจและหน้าที่เช่นเดียวกับนายกรัฐมนตรีทุกประการ เช่น การนำเรื่องเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี การเป็นประธานการประชุม ครม. หรือการตัดสินใจในนโยบายสำคัญ หากนายกรัฐมนตรีเป็นกรรมการในคณะใด ผู้รักษาการนายกรัฐมนตรีจะรับหน้าที่นั้นด้วย

ทั้งนี้ กรณีของ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ยังจะเป็นผู้นำคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ (ครม.แพทองธาร 1/2) เข้าถวายสัตย์ปฏิญาณในวันที่ 3 กรกฎาคม 2568 เพื่อให้การบริหารราชการแผ่นดินดำเนินต่อไปได้

‘รักษาการนายกฯ’ ถึงแม้จะมีอำนาจใกล้เคียงนายกรัฐมนตรี แต่ในกรณีที่นายกรัฐมนตรีตัวจริง แพทองธาร ชินวัตร ถูกศาลสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราว (แต่ยังดำรงตำแหน่งอยู่) รักษาการนายกฯ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็จะมีข้อจำกัดสำคัญ คือ

1.การบริหารงานบุคคลและงบประมาณ การแต่งตั้งหรือโยกย้ายข้าราชการการเมือง รวมถึงการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินที่อยู่ในอำนาจของนายกรัฐมนตรี ต้องได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรีตัวจริงก่อน ในสถานการณ์ที่ นางสาวแพทองธาร ถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ การตัดสินใจในเรื่องเหล่านี้อาจต้องรอจนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัยขั้นสุดท้าย หรือต้องดำเนินการผ่านกลไกอื่นตามกฎหมาย

2.การยุบสภา รักษาการนายกฯ ไม่สามารถตัดสินใจยุบสภาได้ด้วยตนเอง ในขณะที่นายกรัฐมนตรีตัวจริงยังดำรงตำแหน่งอยู่ แม้จะถูกสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ การยุบสภาเป็นอำนาจเฉพาะของนายกรัฐมนตรีตามรัฐธรรมนูญ

การสิ้นสุดบทบาทบทบาทของ รักษาการนายกฯ จะสิ้นสุดลง เมื่อนายกรัฐมนตรีตัวจริงกลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ หรือเมื่อมีการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีคนใหม่

ในกรณีของ นายสุริยะ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า นางสาวแพทองธาร พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หรือในทางกลับกัน มีคำสั่งให้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ได้ นายสุริยะจะกลับไปทำหน้าที่ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีและ รมว.คมนาคม ตามเดิม

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์