เปิดแผนทางรอดชาวนา ปลูกข้าวขายเอง รับมือกำแพงภาษีทรัมป์

20 เม.ย. 2568 - 05:34

  • ชาวนาขอนแก่นเตรียมตัวรับมือกับการขึ้นภาษีสินค้าการเกษตร หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยอัตราใหม่ปรับขึ้นร้อยละ 37

  • เรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แปรรูปข้าว และขายข้าวเองในนามกลุ่มสหกรณ์ ให้เกิดการพึ่งพาตัวเองในระยะยาว

Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Hero_388b0d42d3.jpg

การทบทวนกระบวนการผลิตข้าวหอมมะลิทั้งระบบ รวมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาศักยภาพกลุ่มเกษตรกร ทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์ แปรรูปข้าว และขายข้าวเองในนามกลุ่มสหกรณ์ ให้เกิดการพึ่งพาตัวเองในระยะยาว เป็นแนวคิดล่าสุดที่ชาวนาขอนแก่นเตรียมตัวรับมือกับการขึ้นภาษีสินค้าการเกษตร หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยอัตราใหม่ที่ประกาศปรับขึ้นร้อยละ 37 

ฉัตรนพรัตน์ วีระศักดิ์ ประธานคณะกรรมการกลางกลุ่มเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น กลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียง ต.กุดน้ำใส อ.น้ำพอง จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เกษตรกรต้นน้ำผู้ผลิตข้าว มีความกังวลต่อผลกระทบที่กำลังตามมา หลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศนโยบายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากไทยอัตราใหม่ โดยที่ผ่านมาได้จัดประชุมพูดคุยกับสมาชิกเพื่อร่วมกันวางแผนปรับเปลี่ยนการเพาะปลูกข้าวหอมมะลิ พร้อมทำจดหมายเปิดผนึกส่งถึงรัฐบาลให้วางแผนการช่วยเหลือเกษตรกรอย่างเป็นรูปธรรม เพราะคาดว่าการขึ้นภาษีจะทำให้กำลังซื้อและยอดการส่งออกลดลง 

ฉัตรนพรัตน์ กล่าวต่อว่า “3 ปัจจัยที่เชื่อว่าจะทำให้ชาวนาผู้ปลูกข้าวหอมมะลิในภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้รับผลกระทบ ปัจจัยแรกมาจากภายในของเราเอง คือการใช้พันธุ์ข้าวหอมมะลิ เป็นพันธุ์ข้าวนาปี มีลำต้นสูง ให้ผลผลิตน้อย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น

ปัจจัยที่ 2 ปีที่ผ่านมาสหรัฐฯ นำเข้าข้าวจากเวียดนาม 400,000 ตัน ในราคาตันละ 600-700 เหรียญ ซึ่งถูกกว่าข้าวหอมมะลิของไทย ในอนาคต สหรัฐฯอาจจะสั่งซื้อข้าวจากเวียดนามทดแทนข้าวจากไทยได้

ส่วนปัจจัยที่ 3 มาจากนโยบายสำคัญของประธานาธิบดีทรัมป์ คือ ‘America First’ หรือ อเมริกาต้องมาก่อน เชื่อว่าสหรัฐฯ เองต้องสนับสนุนให้บริษัทเกษตรกรรมภายในประเทศปลูกแคลิฟอร์เนียจัสมินไรซ์เพิ่มขึ้น”

ฉัตรนพรัตน์ กล่าวต่อว่า ข้าวถุงแบรนด์กลุ่มเกษตรกรทำนาเศรษฐกิจพอเพียง ต.กุดน้ำใส จ.ขอนแก่น ที่วางขายในชุมชน เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างมาตรการที่ชาวนาพยายามปลูกข้าวขายเองให้กับชาวบ้าน เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ช่วงเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 ถือว่าได้รับการตอบรับจากชาวบ้านเป็นอย่างดี 

“ทางกลุ่มเกษตรกรทำนาฯ ต้องการให้รัฐสนับสนุนสมาชิกเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนืออย่างจริงจัง เพิ่มศักยภาพ ยกระดับความสามารถแกนนำชาวนา 23 กลุ่ม พร้อมทั้งขยายไปทั่วประเทศ สนับสนุนให้เกษตรกรผลิตข้าวขายเอง พร้อมทบทวนให้เกษตรกรปลูกข้าวส่งออกข้าวเองได้ ผ่านระบบองค์กรสหกรณ์สากลระหว่างประเทศเพื่อตัดพ่อค้าคนกลางออก รวมทั้งผลักดันให้เปิดตลาดถาวรค้าข้าวครบวงจร มีทั้งลานตาก ลานตาชั่ง โรงอบเมล็ดพันธุ์ข้าว รวมทั้งการเพิ่มศักยภาพการแปรรูปข้าวให้ครอบคลุมกับความต้องการของผู้บริโภคในประเทศ ทั้งแป้งข้าว ขนมจีน เส้นก๋วยเตี๋ยว อาหารสัตว์ และน้ำมันรำข้าว เป็นต้น” ฉัตรนพรัตน์ กล่าว

Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo04_54c5b4b414.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo05_ecdbe3dbb3.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo02_d5ce1e3edb.jpg

ขณะที่ วิฑูรย์ กมลนฤเมธ ประธานกิตติมศักดิ์สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันว่าสหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีนำเข้าสำหรับประเทศไทยในอัตราร้อยละ 37 โดยเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 มีการปรับขึ้นภาษีอัตราร้อยละ 10 แล้ว ส่วนการขึ้นภาษีอีกร้อยละ 27 จะยืดเวลาออกไปอีก 90 วัน ภาคอีสานส่งออกข้าวหอมมะลิไปยังประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ลูกค้าเป็นห้างค้าปลีกสมัยใหม่ ข้าวส่งออกบรรจุถุงละ 5 กิโลกรัม สามารถนำไปวางจำหน่ายได้ทันที 

“จากการพูดคุยกับผู้ส่งออกข้าวทราบว่าช่วงสงกรานต์มีการเจรจาระหว่างลูกค้าจากฝั่งสหรัฐขอต่อรองลดราคาซื้อขายข้าวหอมมะลิกับผู้ส่งออกไทย ระหว่างนั้นยังไม่มีข้อตกลงที่ชัดเจน กระทั่งประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศเลื่อนการเก็บภาษีออกไปอีก 90 วัน ทำให้สถานการณ์เปลี่ยนผู้ค้าหยุดการต่อรองการซื้อขาย เป็นสั่งซื้อเพิ่มเพื่อกักตุนข้าว ก่อนประกาศขึ้นภาษี ทำให้ขณะนี้ไทยมีออเดอร์ข้าวหอมมะลิเพิ่มจนส่งไม่ทัน”

“แต่หลังจาก 90 วันไปแล้วไม่สามารถคาดเดาสถานการณ์ได้ ขึ้นกับผู้บริโภคว่ายังจะซื้อข้าวหอมมะลิบริโภคหรือไม่ หรืออาจจะเปลี่ยนไปบริโภคข้าวจากเวียดนาม แต่อย่าลืมว่าเวียดนามก็ขึ้นภาษีเช่นกัน สถานการณ์การซื้อขายข้าวหอมมะลิไทย เชื่อว่าส่งผลกระทบแต่น้อย ผู้บริโภคบางคนอาจจะเปลี่ยนไปซื้อสินค้าที่ราคาถูกกว่า  แต่ไม่ใช่ทั้งหมด บางรายยอมจ่ายเพิ่มเพื่อบริโภคข้าวหอมมะลิจากไทยเช่นเดิม” วิฑูรย์ กล่าว

Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo11_1a8a2eb1e5.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo12_c4f9694e8f.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo07_7af3740801.jpg

ข้อมูลจากส่วนเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระบุว่า ภาคอีสานมีสินค้าสำคัญหลายรายการที่ส่งออกโดยตรงไปยังสหรัฐอเมริกา ข้อมูลการส่งออก 3 ปี ตั้งแต่ปี 2564 - 2567 มีมูลค่าเฉลี่ยปีละ 84,534 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเทคโนโลยี มีสัดส่วนส่งออกรวมกันมากกว่าร้อยละ 80  เช่น ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรและอุปกรณ์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ 

ขณะที่สินค้าเกษตร ประกอบด้วย ข้าว มูลค่าส่งออกเฉลี่ย 3 ปี 2,151.6 ล้านบาท แป้งมันสำปะหลังมูลค่า 1,990.6 ล้านบาท และยางพาราแปรรูป มูลค่า 998.5 ล้านบาท สัดส่วนรวมกันประมาณร้อยละ 6 

 ภาคอีสานคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากการเก็บภาษีเพิ่มทั้งมิติโครงสร้างการผลิต และ มิติการจ้างงาน โดยเฉพาะภาคการเกษตรที่มีเกษตรกรหลายล้านครัวเรือนเข้ามาเกี่ยวข้อง

ผลกระทบระยะสั้นในช่วงไตรมาส 2 ภาพรวมผลกระทบมีจำกัด เพราะผู้นำเข้าบางส่วนเร่งนำเข้าสินค้าเพิ่ม จากที่ได้มีการนำเข้าบ้างแล้วช่วงก่อนขึ้นภาษี ส่วนครึ่งหลังปี 2568 ถึงระยะยาว ในกรณีที่ไม่สามารถเจรจาต่อรองภาษีได้ ธุรกิจที่มีความสามารถ ในการแข่งขันสูง คาดว่าได้รับผลกระทบน้อย เช่น ข้าวหอมมะลิ เพราะเป็นสินค้าพรีเมียมมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งความหอม และนุ่มต่างจากข้าวอินเดียและเวียดนาม จึงมีความสามารถในการแข่งขันสูง ทดแทนด้วยข้าวชนิดอื่นได้ยาก จึงได้รับผลกระทบน้อย

ส่วนธุรกิจที่จะได้รับผลกระทบมาก เช่น ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม ส่วนใหญ่เป็นบริษัทข้ามชาติ มีโรงงานในหลายประเทศ หรือเป็นผู้รับจ้างผลิต ทำให้ผู้ว่าจ้างสามารถหาโรงงานและผู้ผลิตรายอื่นที่ต้นทุนต่ำกว่าทดแทนได้ง่าย ประกอบกับปัจจุบันจุดแข็งด้านฝีมือแรงงานไทย สามารถทดแทนโดยแรงงานต่างประเทศที่มีฝีมือดีขึ้น จึงอาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดและความสามารถในการแข่งขัน  ส่งผลกระทบต่อการจ้างงานภาคอีสานกว่า  70,000 คน

Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo08_4bdbd7300f.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo09_1d6f9f4f55.jpg
Revealing_the_survival_plan_for_farmers_who_grow_their_own_rice_to_sell_in_the_face_of_the_tariff_wall_of_Donald_Trump_USA_SPACEBAR_Photo10_ec089e7ca8.jpg
อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์