SCB ชี้ สหรัฐฯ ได้เปรียบดีลการค้าเวียดนาม หลังสหรัฐฯเรียกเก็บภาษีนำเข้าเวียดนาม 20% ขณะที่เวียดนามฟรีภาษีนำเข้าให้กับสหรัฐฯ หวังการเจรจาการค้าไทย-สหรัฐฯ แค่ 18%
“ดีลนี้ สหรัฐชนะ แต่เวียดนามพอรับได้” คือถ้อยคำที่สะท้อนภาพรวมข้อตกลงการค้าใหม่ระหว่างสหรัฐฯ และเวียดนามได้ชัดเจนที่สุด จากมุมมองของ ชาตรี โจน อาภา, CFA, FRM หัวหน้าที่ปรึกษาการลงทุน SCB Chief Investment Office (SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์
“เวียดนามเสียเปรียบแน่นอน แต่ไม่มีทางเลือก เพราะสหรัฐเป็นคู่ค้าอันดับ 1 สัดส่วนเกิน 30% ของการส่งออก ถ้าไม่ยอมรับเงื่อนไขนี้ โรงงานที่สร้างไว้จะล้นกำลังการผลิตทันที” ชาตรีระบุ
เก็บภาษีขาออกเวียดนาม 20% แต่เปิดเสรีให้สินค้าสหรัฐ: ผลกระทบสองด้าน
ฝั่ง สหรัฐฯ ได้ประโยชน์สองทาง
• 1. รายได้เพิ่ม: การเก็บภาษีขาเข้าจากเวียดนาม 20% สร้างรายได้ให้รัฐบาล เนื่องจากมูลค่าการค้าระหว่างสองประเทศสูง
• 2. การเปิดตลาด: สินค้าสหรัฐสามารถเข้าถึงตลาดเวียดนามได้โดยไม่เสียภาษี เพิ่มโอกาสทางการค้าในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องจักรกล
ขณะที่ฝั่ง เวียดนาม แม้จะดูเสียเปรียบ แต่ก็ยัง “พอรับได้” เพราะอัตราภาษี 20% ถือว่า “ไม่ทำลายความสามารถในการแข่งขันโดยสิ้นเชิง” โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าราคาต่ำ แรงงานเข้มข้น เช่น เสื้อผ้า รองเท้า และเครื่องกีฬา ซึ่งผู้ผลิตสามารถกระจายต้นทุนในซัพพลายเชนได้
หุ้นกลุ่มแบรนด์สหรัฐฯ ฐานการผลิตในเวียดนามพุ่งขึ้น
ชาตรี มองว่าดีลนี้ส่งผลบวกทันทีต่อหุ้นกลุ่มเครื่องกีฬา-เครื่องแต่งกายของสหรัฐฯ ที่มีฐานผลิตในเวียดนาม เช่น Nike, Adidas, Lululemon เนื่องจากต้นทุนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และยังไม่คุ้มค่าต่อการย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น
“ภาษี 20% ยังถูกกว่าจีนที่ถูกเก็บถึง 55% ดังนั้นเวียดนามยังคงเป็นฐานผลิตที่คุ้มค่า บริษัทสหรัฐยังไม่จำเป็นต้องย้ายไปที่อื่น”
ตลาดหุ้นเวียดนาม: ได้ประโยชน์ แต่ต้องระวังต้นทุน-ค่าเงิน
ชาตรี ชี้ว่าตลาดหุ้นเวียดนามตอบรับเชิงบวกต่อความชัดเจนของข้อตกลงนี้ แม้จะมีต้นทุนภาษีเพิ่มขึ้น แต่ก็ช่วยคลายความกังวล ที่สะสมในช่วงก่อนหน้านี้ โดยดัชนี VN-Index ยังคงอยู่ในระดับใกล้ 1,385 จุด แม้ต้นทุนเพิ่มขึ้น แต่ความไม่แน่นอนลดลง นักลงทุนสามารถวางแผนต้นทุนได้ดีขึ้น เป็นผลบวกในภาพรวม ขณะเดียวกันมองว่าค่าเงินของสกุลเงินเวียดนามยังเป็นลบซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนพึงระมัดระวัง แต่ก็เชื่อว่าอนาคตค่าเงินเวียดนามจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้น
เปิดเสรีให้สินค้าสหรัฐ: เวียดนามกระทบน้อย
นอกจากชาตรียังมองว่า การเปิดตลาดให้สินค้าสหรัฐแบบปลอดภาษี ยังไม่กระทบผู้ประกอบการเวียดนามมากนัก เนื่องจากสินค้าสหรัฐมีราคาสูง และส่วนใหญ่เป็นเครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักร ไม่ใช่คู่แข่งทางตรงกับสินค้าท้องถิ่น
“ตลาดรถยนต์ SUV ของสหรัฐฯ ยังแข่งขันกับจีนในเวียดนามไม่ได้ สหรัฐอาจได้แค่เพิ่มยอดขายเฉพาะกลุ่ม ไม่ใช่เกมพลิกตลาด”
หวังภาษีนำเข้าไทย-สหรัฐฯ 18%
ชาตรี กล่าวถึงการเจรจาการค้าระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่จะมีขึ้นในไม่ช้านี้ โดยหวังว่าภาษีนำเข้าของไทยอยู่ในกรอบระหว่าง 15-18% ไม่สูงไปกว่านี้ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเทคนิคการเจรจาของไทย อย่างไรก็ตามเชื่อว่าแต่ละประเทศอย่างน้อยต้องเจอภาษีของสหรัฐฯ อย่างตำ่เลยคือ 10%
ทั้งนี้ จุดแข็งและจุดอ่อนของไทยแตกต่างจากเวียดนาม เช่น ไทยมีมาตรฐานกีดกันการค้าบางอย่าง เช่น เนื้อหมู สินค้าเกษตร ทำให้การเจรจาอาจจะซับซ้อนมากกว่า