สว.ชะลอซักฟอก ‘นายกฯอิ๊งค์’ กมธ.ทหารฯ รอนัดวันใหม่ ชี้แจงสถานการณ์ชายแดน

7 ก.ค. 2568 - 05:14

  • กมธ.ทหาร สว. รอเคาะวันใหม่เชิญ ‘นายกฯ’ แจงข้อเท็จจริงปัญหาชายแดนไทย-กัมพูชา-ชายแดนใต้ โยงไร้ รมว.กลาโหม ตัวจริง เผย ‘สินค้าหนีภาษี-ลักลอบเข้าเมือง’ ปัญหาใหม่ หลังออกมาตรการปิดด่าน

สว.ชะลอซักฟอก ‘นายกฯอิ๊งค์’ กมธ.ทหารฯ รอนัดวันใหม่ ชี้แจงสถานการณ์ชายแดน

ไชยยงค์ มณีรุ่งสกุล  สมาชิกวุฒิสภา ในฐานะเลขานุการและโฆษกคณะกรรมาธิการการทหาร วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ได้มีการเชิญ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ชี้แจงกรณีสถานการณสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับความมั่นคงตามแนวชายแดนไทย-กัมพูชา ว่า คณะกรรมาธิการฯ พิจารณาเห็นว่าข้อพิพาทบริเวณแนวชายแดนไทย-กัมพูชา เป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนและผลประโยชน์ของประเทศชาติตามรัฐธรรมนูญ ส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่และสภาพจิตใจของประชาชนผู้รักชาติรักแผ่นดิน อีกทั้งฝ่ายกัมพูชาได้ดำเนินการทุกวิถีทางอันไร้ความจริงใจและ พยายามที่จะให้ได้เปรียบประเทศไทยในทุกด้าน

คณะกรรมาธิการฯ จึงมีมติเชิญนายกรัฐมนตรีมาแถลงข้อเท็จจริงด้วยตัวเอง ตามประเด็นข้อซักถามดังนี้

1. ประเด็นจุดยืนและแนวปฏิบัติข้อพิพาทบริเวณพื้นที่ชายแดนไทยกัมพูชา 12 ข้อ เช่น จุดยืนต่อ MOU 43 - MOU 44 การละเมิด MOU อย่างต่อเนื่องของฝ่ายกัมพูชา

2. ประเด็นสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เช่น การแก้ไข ปรับปรุงกฎหมาย หรือการปกป้องและดูแลประชาชนชาวไทยทุกกลุ่มในพื้นที่ ซึ่งรัฐบาลยังไม่ได้ส่งสัญญาณแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่มีรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมตัวจริง ที่จะรับมือกับปัญหาชายแดนภาคใต้ด้วย

3. ประเด็นความปลอดภัยไซเบอร์และการต่อต้านการฟอกเงิน การขจัดธุรกรรมที่ผิดกฎหมายหรือที่ต้องสงสัยเพื่อป้องกันหรือปราบปรามและช่วยเหลือคนไทยให้ปลอดภัยจากการฉ้อโกงออนไลน์และการฟอกเงินที่เชื่อมโยงกับกลุ่มทุนต่างชาติ

ไชยยงค์ ยังกล่าวต่อว่า วันนี้ปัญหาของไทย-กัมพูชา ไม่ได้มีเรื่องชายแดนความมั่นคง อธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนอย่างเดียว แต่สถานการณ์ที่เกิดใหม่จากมาตรการปิดแนวชายแดนและการใช้มาตรการต่างๆ ในการปกป้องบูรณภาพแห่งดินแดน ทำให้เกิดปัญหาใหม่ มีกระบวนการกองทัพมด มีการนำเข้าและส่งออกสินค้าหนีภาษีมาค้าขายตามแนวชายแดน ช่องทางการหลบหนีการเข้าเมือง นี่คือปัญหาใหม่ที่เกิดขึ้นจากผลกระทบซึ่งรัฐบาลไม่ได้ออกมาชี้แจงให้ชัดเจนว่าจะแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร

ไชยยงค์ กล่าวต่อว่า เดิมการเชิญนายกรัฐมนตรี กำหนดไว้วันที่ 16 ก.ค.นี้ แต่สถานการณ์การเมืองเปลี่ยน ทำให้วันที่ 9 ก.ค.นี้ จะมีการประชุมเพื่อกำหนดวันเชิญมาชี้แจงใหม่อีกครั้ง โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีคำวินิจฉัยจากศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งต้องการเชิญนายกรัฐมนตรี หรือรักษาการนายกรัฐมนตรี หรือ จะมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงข้อเท็จจริงแทนก็ได้

ส่วนการชะลอยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ตามมาตรา 153 นั้น เพราะการเมืองมีการเปลี่ยนแปลงมีการปรับคณะรัฐมนตรีทำให้ต้องรอให้ผ่านระยะเวลาไปอีกช่วงหนึ่งก่อน

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์