‘นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์’ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เข้ายื่นหนังสือต่อ ‘มงคล สุรัจสัจจะ’ ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยถอดถอน ‘แพทองธาร ชินวัตร’ ออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม
นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ตามที่ประธานวุฒิสภาได้ยื่นคำร้องของสมาชิกวุฒิสภาจำนวน 36 ท่าน ต่อศาลรัฐธรรมนูญ ให้วินิจฉัยถอดถอน แพทองธาร จากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เนื่องจากขาดคุณสมบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 160 (4) และ (5) กล่าวคือ ไม่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีพฤติกรรมฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง ซึ่งในวันนี้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องดังกล่าว และมีคำสั่งให้ แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเป็นการชั่วคราว จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัย
ตุลย์ กล่าวว่า บัดนี้มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง แพทองธาร เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม จึงเป็นกรณีที่ต้องวินิจฉัยว่า ขาดคุณสมบัติการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม และไม่สามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมได้หรือไม่
จึงขอเสนอให้สมาชิกวุฒิสภาจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 10 ร่วมกันลงชื่อให้ประธานวุฒิสภา ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อวินิจฉัยว่าความเป็นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมของแพทองธารสิ้นสุดลง ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา160 (4) และ (5) หรือไม่ และขอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้ น.ส.แพทองธาร หยุดปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมไว้ก่อน จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยล
อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณ สว.ทั้ง 36 คนก่อนหน้านี้ ที่ได้มีการยื่นหนังสือผ่านคำร้องผ่านประธานวุฒิสภาไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ในเรื่องกรณีคลิปเสียง ซึ่งแสดงถึงความไม่ซื่อสัตย์สุจริตต่อหน้าที่ และขัดรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรง จึงเป็นที่น่าสงสัยว่า ก่อนมีคำสั่งศาลรัฐธรรมนูญออกมา แต่นายกรัฐมนตรียังเสนอชื่อทูลเกล้าฯ ตัวเอง ทั้งที่อาจจะถูกข้อกล่าวหาทั้งการผิดจริยธรรมและความไม่ซื่อสัตย์สุจริต จนคนให้ทำประเทศตั้งข้อสงสัยว่า อย่างนี้แล้ว จะสามารถดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมตามได้อย่างไร
เนื่องจากตามกลไกแล้ว ศาลรัฐธรรมนูญสามารถพิจารณาเรื่องนี้ได้ เพราะมองแล้วว่า พรรคฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล ก็คงไม่ยื่น ซึ่งก็ไม่รู้ว่าเขาทำอะไรกันอยู่ ดังนั้น จึงขอเสนอให้ สว.ทำหน้าที่ในการพิจารณาเข้าชื่อเพื่อยื่นคำร้องจำนวนไม่น้อยกว่า 20 คน หากจะได้เท่าเดิม 36 คน ก็ยิ่งดี ยืนยันว่า กระบวนการนี้ทำในนามส่วนตัว ไม่ใช่ในนามของกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย
ส่วนการประเมินความเป็นไปได้ถึงแนวโน้มคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนั้น หากดูจากการรับคำร้องด้วยเสียงเอกฉันท์ 9 ต่อ 0 และการสั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่มีเสียง 7 ต่อ 2 ซึ่ง 2 เสียงนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้หยุดปฏิบัติหน้าที่ แต่ให้พักบางส่วนของอำนาจหน้าที่ ซึ่งคล้ายกับกรณีของ ‘ทวี สอดส่อง’ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กรณีที่กำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษ
นพ.ตุลย์ ย้ำว่า คำสั่งเช่นนี้เป็นไปเพื่อป้องกันสิ่งที่อาจทำให้ส่งผลเสียต่อการบริหารราชการแผ่นดิน จึงให้รักษาการนายกรัฐมนตรีมีหน้าที่ ดำเนินการแทน เว้นแต่การยุบสภา หรือการแต่งตั้งรัฐมนตรีใหม่ อย่างไรก็ดี ในการพิจารณาขอไม่ก้าวล่วง แต่คาดว่า ศาลรัฐธรรมนูญน่าจะมองเช่นนี้ และคาดว่าในสุดท้ายแล้วน่าจะมีการพิจารณาถอดถอน
เมื่อถามว่า หากแพทองธารตัดสินใจลาออก จะมีการดำเนินการอย่างไรต่อไป นพ.ตุลย์ กล่าวว่า ให้เป็นไปตามวิถีการประชาธิปไตย เพราะในส่วนของสภาเองยังสามารถเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีที่ยังเหลืออยู่ หรือสามารถใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญ ในการเลือกนายกรัฐมนตรีคนนอกได้
ส่วนหากมีการเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่จากพรรคเพื่อไทยตามเดิม ก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามวิถีทาง แต่บังเอิญว่าพรรคฝ่ายค้านหรือพรรคประชาชนไม่ได้อยู่ในลิสต์แล้ว เพราะเขามีการเสนอมาเพียงชื่อเดียว แต่หากสุดท้ายเป็นเหมือนกรณีของ 'ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร' อดีตนายกรัฐมนตรี ที่เมื่อบริหารราชการไปแล้วมีปัญหา ประชาชนก็จะใช้สิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญ
"ตอนนี้จะเห็นว่าหลายคนจากพรรคฝ่ายค้านและผู้เกี่ยวข้อง ทั้งคุณธนาธร คุณปิยบุตร คุณพรรณิการ์ หัวหน้าเท้ง หรือคุณรังสิมันต์ ออกมาพูดคำว่านิติสงครามกันมาก ผมจึงคิดว่า นิติสงครามเป็นเครื่องมือของภาคประชาชน ที่จะดำเนินการกับนักการเมืองที่ทำไม่ถูกต้อง เราก็เหลือแต่เครื่องมีอย่างนี้ ขอบอกว่าหากนักการเมืองหรือรัฐบาลทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง ก็ไม่ต้องกลัวนิติสงครามใดๆ ไม่มีอะไรระคายผิวคุณได้ ถึงยื่นไป ศาล ป.ป.ช. กกต. เขาก็ไม่ลงโทษคุณ เพราะฉะนั้น รัฐบาลหรือนักการเมืองท่านใดก็ตาม กรุณาอย่าห่วงเรื่องนิติสงคราม กรุณาทำหน้าที่ตามที่ท่านได้อาสาเข้ามา รับใช้ประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง ตามที่คุณกล่าวอ้างตอนหาเสียง คุณไม่ต้องห่วงการที่ประชาชนจะใช้นิติสงครามได้ มีอยู่กรณีเดียวคือคุณทำหน้าที่ไม่ถูกต้องอย่างร้ายแรง"
— นพ.ตุลย์ ทิ้งท้าย