บริษัทในสิงคโปร์กำลังเตรียมรับมือกับ ‘ความไม่แน่นอน’ ที่เพิ่มขึ้น หลังจากที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ประกาศเก็บภาษีนำเข้าสินค้าสูงสุดถึง 40% กับบางประเทศ โดยจดหมายที่แจ้งไปยัง 14 ประเทศเมื่อวันจันทร์ที่ 7 กรกฎาคมนั้น ส่วนใหญ่ก็เป็นประเทศในเอเชียทั้งนั้น
สิงคโปร์ได้รับผลกระทบจากภาษีนำเข้าสินค้าในอัตรา 10% ซึ่งสหรัฐฯ เริ่มบังคับใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา แม้จะต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน แต่ก็ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจสิงคโปร์จนกระทรวงพาณิชย์ต้องปรับลดคาดการณ์การเติบโต GDP ปี 2025 ลงเหลือ 0-2% จากเดิมที่คาดไว้ 1-3%
“สหรัฐฯ มีดุลการค้าเกินดุลกับสิงคโปร์ ดังนั้นสิงคโปร์ไม่ควรต้องถูกเก็บภาษี 10% นี้เลย และแม้ว่าสิงคโปร์จะไม่ถูกเก็บภาษีเกิน 10% แต่ผลกระทบทางอ้อมจากประเทศเพื่อนบ้านที่ถูกเก็บภาษีสูงกว่า เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่ถูกเก็บภาษี 25% รวมถึงประเทศในอาเซียนอย่างอินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมา และไทย ที่ถูกเก็บภาษีระหว่าง 25-40% จะส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์อย่างแน่นอน”
— รองศาสตราจารย์ไซมอน เทย์ ประธานสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสิงคโปร์ กล่าว
“มันเป็นความเสียหายอย่างแท้จริง ในฐานะที่สิงคโปร์เป็นศูนย์กลางของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เราต้องการให้ภูมิภาคนี้บูรณาการเข้าด้วยกันอย่างแท้จริง...ดังนั้น การมีอัตราภาษีที่แตกต่างกันจึงทำให้เกิดสนามแข่งขันที่ไม่เท่าเทียมและมีการเล่นเกมทางการค้าเกิดขึ้น...” รองศาสตราจารย์เทย์ กล่าว
ขณะที่ คริส ฮัมฟรีย์ ผู้อำนวยการบริหารของสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน กล่าวถึงปฏิกิริยาทางเศรษฐกิจที่อาจเกิดขึ้นในประเทศอาเซียนว่า เขาไม่เชื่อว่าจะเห็นประเทศในภูมิภาคตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีตอบโต้สหรัฐฯ เพราะการตอบโต้เช่นนั้นอาจทำให้สถานการณ์เลวร้ายขึ้นและไม่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย
ส่วน ค็อก ปิง ซูน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาพันธ์ธุรกิจสิงคโปร์ (SBF) เผยว่า “สหรัฐฯ คิดเป็นประมาณ 10% ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของสิงคโปร์ หมายความว่ายังมีสินค้าส่งออกอีกถึง 90% ที่ไม่ได้ส่งไปยังสหรัฐฯ และยังมีโอกาสทางธุรกิจมากมายในตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะในประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียง ดังนั้นการบูรณาการอาเซียนจึงมีความสำคัญ”
“บริษัทต่างๆ ในสิงคโปร์มีท่าทีระมัดระวังและเลือกที่จะรอดูสถานการณ์ก่อนดำเนินการใดๆ ความไม่แน่นอนนี้เป็นสิ่งที่กระตุ้นความกังวลของธุรกิจอย่างแท้จริง เพราะมันส่งผลให้พวกเขามีความยากลำบากในการวางแผนล่วงหน้า”
“ปัญหาสำหรับธุรกิจคือ ประธานาธิบดีทรัมป์ดำเนินนโยบายในกรอบเวลาที่สั้นมากเพียงไม่กี่วัน ในขณะที่ธุรกิจต้องดำเนินงานในกรอบเวลาที่ยาวนานกว่า ความไม่แน่นอนที่ยืดเยื้อและรุนแรงนี้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจมากกว่าภาษีนำเข้าเสียอีก”
— ค็อก ปิง ซูน กล่าว
สำหรับการดำเนินงานของธุรกิจในสิงคโปร์ ค็อก ปิง ซูน เห็นว่า “การมีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัวเป็นสิ่งที่ ‘แทบจะเป็นข้อกำหนดเบื้องต้น’ เพราะถ้าบริษัทคำนวณผิดพลาด อาจส่งผลให้เกิดความเสียหายได้”
ค็อก ปิง ซูน เน้นย้ำถึงความสำคัญของการปฏิบัติตามกฎระเบียบทางการค้าและการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน โดยชี้ว่าธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจขนาดเล็กมักต้องการการสนับสนุนจากภายนอก
“ในขณะที่บริษัทขนาดใหญ่มีศักยภาพในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ด้วยตัวเอง แต่บริษัทขนาดเล็กมักต้องการการสนับสนุนในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งเพื่อรับมือกับความท้าทายเหล่านี้” ค็อก ปิง ซูน กล่าว
Photo by : Shutterstock / Lightboxx