การประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปกครอง สภาผู้แทนราษฎร ที่รัฐสภา วันนี้ (2 เม.ย.) มีวาระสำคัญคือการพิจารณาศึกษาแนวทางปฏิบัติเกี่ยวกับระบบแจ้งเตือนภัยในกรณีเหตุภัยพิบัติศึกษาจากเหตุแผ่นดินไหวเมื่อวันที่ 28 มี.ค.ที่ผ่านมา
โดย กมธ. ได้เชิญตัวแทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าชี้แจง ได้แก่ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม(ดีอี) อธิบดีกรมอุตุวิทยา กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มาให้ข้อมูล โดย ตั้งประเด็นสอบถามเกี่ยวกับปัญหาในการใช้ระบบแจ้งเตือนภัยผ่านข้อความสั้นไปยังโทรศัพท์มือถือหรือ Cell Broadcast
นัฐวุฒิ แดนดี รองอธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ชี้แจงต่อที่ประชุม ยืนยันได้วิเคราะห์และแจ้งข้อความอย่างรวดเร็ว โดยใช้เวลาภายใน 15 นาที นับจากช่วงเวลาที่เกิดเหตุ คือ 13.35 น. แต่ ปัญหาความล่าช้าเกิดจากการใช้สัญญาณพร้อมกันจำนวนมาก ทำให้เครือข่ายในการส่งข้อความดีเลย์
สอดคล้องกับคำชี้แจงของ ประสงค์ ธัมมะปาละ ผู้ตรวจราชการกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ที่อธิบายสาเหตุของความล่าช้าในการส่งข้อความแจ้งเตือนภัยว่า เป็นเพราะช่องสัญญาณ SMS เป็นช่องเดียวกับสัญญาณโทรศัพท์ และขณะเกิดเหตุได้แจ้งข่าวผ่านสื่อมวลชนกับช่องทางโซเชียลมีเดียของ ปภ. และส่ง SMS แจ้งประชาชนไปถึง 2 ครั้ง
“SMS ไม่สามารถใช้แจ้งเตือนได้ เพราะมีหลายขั้นตอน และเวลาแจ้งเตือนสัญญาณชนกันกับสัญญาณโทรศัพท์ที่คนต่างใช้โทรเวลาเดียวกัน ต่างจากระบบ Cell Broadcast ที่ส่งทั้งหมดคราวเดียวได้ ซึ่งขณะนี้กำลังปรับกระบวนการแจ้งเตือน SOS”
— ประสงค์ กล่าว

ด้าน ณัฐพล ณัฏฐสมบูรณ์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ชี้แจงว่า ขณะนี้กระทรวงกำลังเร่งทำระบบเซลล์บรอดคาสต์ (Cell Broadcast) ยืนยันเสร็จไม่เกินเดือน ก.ค.นี้
ขณะที่ สุธีระ พึ่งธรรม ผู้อำนวยการสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม กสทช. ย้ำว่าวันนี้ต้องทำใช้ระบบเซลล์บรอดคาสต์แบบชั่วคราวไปก่อน ซึ่งระบบแอนดรอยด์ 50 ล้านหมายเลขใช้ได้แล้ว ประกอบกับการแจ้งผ่าน sms สำหรับผู้ใช้มือถือระบบ iOS โดยได้ประสานทาง Apple ที่จะอัพเดทเฟิร์มแวร์ในช่วง 5 วันนี้ นอกจากนี้พิจารณาเตรียมเพิ่มแพลตฟรอม์ไลน์แจ้งสื่อสารประชาชนเพื่มเติม