เรื่องมันมีอยู่ว่า <>‘ครูแหม่ม’ ว่าที่ เสมา 1 <> คลื่น 850 MHz คลื่นความถี่ที่ถูกเมิน

30 มิ.ย. 2568 - 23:46

  • พรรคกล้าธรรมมาแรงตามโผได้ ก.ศึกษาธิการและ ก.เกษตร

  • ครูแหม่ม กำลังตรวจการบ้านครูอุ้ม เพราะตั้งโจทย์ผิด

  • คลื่น 850 เป็นคลื่นที่ผู้ประกอบการเมิน เพราะไม่ตอบโจทย์การใช้งานดาต้า

เรื่องมันมีอยู่ว่า <>‘ครูแหม่ม’ ว่าที่ เสมา 1  <>  คลื่น 850 MHz  คลื่นความถี่ที่ถูกเมิน

เรื่องมันมีอยู่ว่า   <> การปรับ ครม.พรรคกล้าธรรมได้กระทรวงเกรด เอ ถึง 2 กระทรวงคือ ศึกษาธิการ และเกษตร  โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ จะได้ครูแหม่มใจร้าย นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ตรวจการบ้านครูอุ้ม พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ <> คลื่น 850 MHz กลายเป็นคลื่นร้าง ไม่มีผู้ประมูล  เป็นคลื่นมือถือที่ทะลุทะลวงได้ดี  แต่ไม่เข้ากับยุคที่ดาต้าเป็นใหญ่ <> พบคำตอบในเรื่องมันมีอยู่ว่า

‘ครูแหม่ม’ ว่าที่เสมา 1 

กับภารกิจรื้อ 4 โครงการของภูมิใจไทย

แม้รายชื่อ ครม. ‘อิ๊งค์ 1/2’ อย่างเป็นทางการ ยังรอการโปรดเกล้าฯ แต่ตามโผที่ปลิวว่อนตามหน้าสื่อล้วนรายงานตรงกันว่า ‘นฤมล ภิญโญสินวัฒน์’  จะโยกข้ามห้วยจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่อยู่ใกล้กันมาประจำการเป็น ‘ครูแหม่ม’ ว่าที่ รมว.ศึกษาธิการคนใหม่ เจ้าของรหัส ‘เสมา 1’

เจ้าตัวก็คงจะมั่นใจว่าโผไม่พลิก  วานนี้จึงขับรถ Lexus คันงามเลี้ยวเข้าวังจันทรเกษม โดยมี‘สุเทพ แก่งสันเทียะ’  ปลัดกระทรวงฯ ออกมาต้อนรับ  ซึ่งก็คงมีการนัดหมายล่วงหน้าไว้แล้ว   โดยคาดว่า ‘ครูแหม่ม’ น่าจะมา ‘เซย์ฮัลโหล’ พร้อมหารืออย่างไม่เป็นทางการ กับผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ เตรียมการล่วงหน้าระหว่างรอโปรดเกล้าฯ

เอาเข้าจริง ‘คอการเมือง’ ยังแปลกใจไม่หายกับการที่ พรรคกล้าธรรมจะได้กำกับดูแลทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงศึกษาธิการ ที่ถือเป็นกระทรวง ‘เกรดเอ’ ที่แม้แต่พรรคแกนนำรัฐบาลยังแทบไม่เคยได้ว่าการทั้งสองกระทรวงพร้อมกันมาก่อน

หากว่ากันตามเนื้องานต้องถือว่า ‘กระทรวงเสมา’ เป็น ‘ของดี’ ที่เอื้อการตุน ‘แต้มการเมือง’ สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายครู-นักเรียน-นักศึกษา-ผู้ปกครอง-บุคลากรทางการศึกษา กว้างขวางตั้งแต่เด็กยันสูงวัย

ด้วยความกว้างของเนื้องาน-กลุ่มเป้าหมาย ที่ผ่านมาก็เลยมี ‘หลายแท่ง’  บริหาร ทำให้มี ‘ขาใหญ่’ เดินเบียดกันใน ‘วังจันทรเกษม’ ที่ตั้งของกระทรวงฯ กลายเป็นเรื่องมากคนมากความ

ยุคล่าสุด ‘วังจันทรเกษม’  เป็นโควตา พรรคภูมิใจไทย ออกหน้าบัญชาการโดย ‘ครูอุ้ม’ พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ เป็น รมว.ศึกษาธิการ มี ‘ครูเอ’ สุรศักดิ์ พันธ์เจริญวรกุล เป็น รมช.ศึกษาธิการ

‘2 ครู อ.’  ที่ดูเรื่อยๆเรียงๆ แต่กลับซุก ‘ขยะ’  ไว้เกลื่อน จนทำให้กระทรวงศึกษาธิการ ยิ่งไม่น่าพิสมัยสำหรับคนการเมืองไปกันใหญ่ งบประมาณหาเศษหาเลยยาก ยังต้องมาปะผุแก้ไขปัญหาที่‘สีน้ำเงิน’  ทิ้งไว้

หลังมีการแต่งตั้งชูศักดิ์ ศิรินิล เป็น ‘รักษาการ รมว.ศึกษาธิการ’  ก็มีคำสั่งระงับโครงการจัดซื้อจัดจ้างทันที รวมกว่า 2 หมื่นล้านบาท เนื่องจากมีข้อมูลว่าแต่ละโครงการวาง ‘เจ้าภาพ’  ไว้แล้วเป็นเครือข่ายสีน้ำเงิน ทั้งหมด

ตั้งแต่โครงการเช่าคลาวด์ มูลค่า 2,800 ล้านบาท และโครงการจัดซื้อซอฟต์แวร์และพัฒนา Learning Platform เฟส 2 มูลค่า 1,330 ล้านบาท ที่ว่ากันว่า บริษัทชื่อดังในวงการอย่าง ‘Sky’  จะได้ไปทั้ง 2 โครงการ

เช่นเดียวกับโครงการ เรียนได้ทุกที่ทุกเวลา Anywhere Anytime หรือ ‘แจกแท็บเล็ตภาค 2’  งบประมาณผูกพัน 5 ปี 2.9 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ถูกสั่งให้ชะลอในขั้นตอนประกาศร่างทีโออาร์เพื่อรับฟังความเห็นครั้งที่ 2 โดยมีข้อกล่าวหาว่าตั้งราคาแท็บเล็ต รวมไปถึงโน้ตบุ๊ค ที่ ‘ค่ายเขากระโดง’ เติมมาในภายหลัง ‘แพงเกินจริง’ ตกราคาเครื่องละ 2.5 หมื่นบาท

ที่หนักกว่านั้นก็คงเป็นโครงการจ้างพิมพ์แบบเรียนของ ‘องค์การค้าของ สกสค.’ (องค์การค้าของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา)   งบประมาณไม่มากมายราวปีละ 1 พันล้านบาท แต่ก็มีปัญหาร้องเรียน-ฟ้องร้องมาทุกปี แต่ปีการศึกษา 2568 ที่จ้างพิมพ์จำนวน 145 รายการ ‘พิเศษใส่ไข่’ เมื่อบริษัทเอกชนร้องอุทธรณ์ที่ถูก ‘กีดกัน’ โดยร้องไว้ตั้งแต่ออกประกาศทีโออาร์ มาจนถึงประกาศผลการประกวดราคา

จนล่าสุด คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์และข้อร้องเรียน กรมบัญชีกลาง แจ้งผลอุทธรณ์ไปยัง ‘องค์การค้าของ สกสค.’ ระบุว่า ข้อกล่าวหาฟังขึ้น และมีผลต่อการจัดซื้อจัดจ้างอย่างมีนัยสำคัญ จึงมีมติให้หน่วยงานเจ้าของโครงการยกเลิกการจัดซื้อจัดจ้างและดำเนินการใหม่ให้ถูกต้อง

ที่สำคัญหนังสือทั้ง 145 รายการ จำนวน 26.9 ล้านเล่ม ที่ถูกตีว่า ‘โมฆะ’ นั้นได้ตีพิมพ์แล้วเสร็จ และส่งไปยังปลายทางทั้งหมดแล้ว ก็ต้องดูว่าจะมีการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างไร เพราะประธานบอร์ดที่อนุมัติ ‘ร่างทีโออาร์’ ก็คือ เพิ่มพูน รมต.ศึกษาฯ คนก่อน

คงเพราะมีแต่ ‘ขยะสีน้ำเงิน’ แบบนี้ละมั้ง ทำให้ ‘กระทรวงเสมา’ ไม่น่าพิสมัย จนพรรคแกนนำรัฐบาลไม่คิดเอาไว้เอง

รอดูฝีมือ ‘ครูแหม่ม’ ว่า จะจัดการอย่างไรกับเรื่องนี้

<<<<<<>>>>>>

คลื่น 850 MHz คลื่นความถี่ที่ถูกเมิน

ไม่ตอบโจทย์ยุค 4G/5G

กสทช. จัดประมูลคลื่นความถี่เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมาประกอบด้วยคลื่นความถี่850 MHz ,1500 MHz, 2100 MHz และ 2300 MHz   มีผู้เข้าประมูล 2 รายคือ ‘เอไอเอส’  และ ‘ทรู’

ผลปรากฏว่าคลื่น 850 MHz ซึ่งเป็นคลื่นความถี่ต่ำ กลายเป็น ‘คลื่นร้าง’ ที่ถูกเมิน ไม่มีใครประมูลไปใช้งาน

คลื่น850 MHz เคยเป็น ‘พระเอก’ ของยุค 3G  โดย บริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ (NT) ในฐานะเจ้าของสัมปทานเดิม ได้ให้ TrueMove H เช่าใช้งานเพื่อให้บริการ 3G (UMTS/HSPA) ทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่ ‘ชนบท’ และพื้นที่ ‘อาคารหนาแน่น’  ซึ่งการใช้งานจริงพิสูจน์แล้วว่า คลื่นนี้ทะลุทะลวงดี ครอบคลุมพื้นที่กว้าง  เหมาะกับประเทศที่มีโครงสร้างสภาพแวดล้อมหลากหลายอย่างไทย

แต่เมื่อโลกเปลี่ยนไปสู่ 4G และกำลังจะเข้าสู่ 5G เต็มรูปแบบ ‘ความนิยม’ ในคลื่นนี้ก็ลดลง เพราะความเร็วของย่านความถี่ต่ำยังไม่ ‘ตอบโจทย์’ การใช้งานดิจิทัลสมัยใหม่ที่ต้องการ bandwidth สูง เช่น วิดีโอ 4K, AR/VR หรือ edge computing

แม้คลื่น 850 MHz จะมีคุณสมบัติที่หาได้ยาก เช่น ‘ระยะครอบคลุม’ ไกลกว่าคลื่นความถี่สูง ทะลุทะลวงสิ่งกีดขวางได้ดี เหมาะกับงาน IoT ระยะไกล เช่น ฟาร์มอัจฉริยะ, ระบบเซ็นเซอร์แจ้งเตือนภัย ใช้งานได้ใน Public Safety Network (ระบบสื่อสารฉุกเฉิน)

แต่ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่กลับ ‘เมิน’  เพราะต้องบริหารจัดการทรัพยากรความถี่อย่างคุ้มค่าในโลกที่แข่งขันด้วย ‘ความเร็ว’  และ ‘ความจุ’  มากกว่า ‘ความครอบคลุม’

สัญญาเช่าใช้คลื่น 850 MHz ระหว่างทรู กับ NT จะ ‘หมดอายุ’ ในเดือนสิงหาคมที่จะถึงนี้แล้ว   คลื่น 850 MHz จะกลายเป็นทรัพยากรว่าง ซึ่งตามหลัก กสทช. จะต้องนำไปจัดสรรใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการประมูลอีกครั้ง หรือจัดให้องค์กรรัฐใช้เฉพาะกิจ เช่น งานป้องกันภัยพิบัติ สื่อสารฉุกเฉิน หรือโครงการสาธารณูปโภคในชนบท

แทนที่จะปล่อยให้คลื่นดีๆ ว่างเปล่า ควรนำมาใช้ ‘ประโยชน์’ เพื่อสังคมไทยดีกว่าหรือไม่?

เพราะในโลกที่เมืองใหญ่เดินหน้าเข้าสู่ 5G การใช้คลื่น 850 MHz เพื่อปิดจุดอับสัญญาณในพื้นที่ชนบทอาจเป็น ‘ทางรอด’  ที่ดีกว่าการรอใครมาประมูล

คลื่น 850 MHz ไม่ใช่คลื่นที่ล้าสมัย  แต่เป็นคลื่นที่ ‘ไม่สอดคล้อง’ กับตลาดโทรคมนาคมปัจจุบัน ที่ยกระดับไปสู่เทคโนโลยี่ 4 G , 5 G เน้นความเร็วและการใช้ดาต้าปริมาณมาก

เป็น ‘คลื่นดี มีประโยชน์’ แต่ไม่มีคุณค่าทางธุรกิจ จึงถูกเมิน

<<<<<<>>>>>> 

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์