เสียงสะท้อนคนเชียงใหม่ กับการรื้อฝายโบราณแก้น้ำท่วมเมือง

6 เม.ย. 2568 - 01:00

  • เชียงใหม่เร่งดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำปิงแก้ปัญหาน้ำท่วม เตรียมรื้อ 3 ฝายโบราณ

  • กลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ เรียกร้องทางการทำข้อตกลงเรื่องน้ำใช้ในพื้นที่ทำการเกษตรหากต้องรื้อทิ้งฝายดั้งเดิม

Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Hero_500bd627ff.jpg

หลังจากจังหวัดเชียงใหม่ต้องเผชิญอุทกภัยใหญ่ถึง 2 ครั้ง ในปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการป้องกันน้ำท่วมระยะเร่งด่วน ด้วยการขุดลอกแม่น้ำปิง โดยเสนอของบประมาณจากรัฐบาลในการประชุม ครม.สัญจร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 จำนวน 171 ล้านบาท

ล่าสุด นิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวรผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้ จังหวัดเชียงใหม่ได้ทำการสำรวจแนวพื้นที่แล้ว พบว่า มีพื้นที่ที่ต้องดำเนินการขุดลอกขยายลำน้ำเป็นระยะทางรวมทั้งสิ้น 41 กิโลเมตร แบ่งเป็นตอนบน 13 กิโลเมตร ตอนกลางซึ่งเป็นเขตพื้นที่ตัวเมือง 20 กิโลเมตร และตอนล่าง 8 กิโลเมตร 

“แต่ด้วยงบประมาณที่ได้มาในเบื้องต้นนั้นมีจำกัด ยังไม่เพียงพอต่อการดำเนินการทั้งระบบ ดังนั้น จึงต้องเลือกดำเนินการขุดลอกในส่วนที่สำคัญก่อน คือ เขตพื้นที่ตัวเมือง เพื่อป้องกันเขตพื้นที่เศรษฐกิจและเขตเมืองที่มีประชากรอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก”

สำหรับวิธีการขุดลอกขยายลำน้ำ เบื้องต้นจะต้องขุดลอกลงไปลึกประมาณ 2 เมตร และมีความกว้างประมาณ 40 เมตร โดยจะใช้เรือดูดตะกอนทรายขึ้นมาไว้บนตลิ่ง แต่หากจุดขึ้นดินอยู่ไกลจะต้องดูดตะกอนทรายใส่เรือลำเลียงก่อน แล้วลำเลียงตะกอนขึ้นไปไว้บนตลิ่ง จากนั้นจะใช้รถแบคโฮลขุดตักใส่รถบรรทุก 6 ล้อ เพื่อขนย้ายออกไปทิ้งไว้ยังพื้นที่ที่กำหนด 

“ขณะเดียวกันอาจจะต้องทำการรื้อสิ่งที่รุกล้ำลำน้ำออกจากพื้นที่ รวมถึงรื้อฝายหินทิ้ง 3 แห่งในน้ำปิงที่อยู่บริเวณเขตพื้นที่ตัวเมืองออก ซึ่งประกอบด้วย ฝายพญาคำ ฝ่ายหนองผึ้ง และฝายท่าวังตาล เนื่องจากเป็นส่วนที่ขวางลำน้ำ ทำให้น้ำยกระดับสูงขึ้นมากกว่าปกติเมื่อเกิดเหตุน้ำท่วม”

Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo02_53d92fcc67.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo04_231173ea0e.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo05_34c4aefd91.jpg

เรืองวิทย์ ว่องไว ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นทางกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทราบเรื่องการรื้อฝาย ทั้ง 3 ฝาย พร้อมกันในช่วงเดือนธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงได้มีการประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ เรื่องการตัดสินใจว่าจะให้รื้อฝาย หรือไม่ โดยการประชุมผู้ใช้น้ำกลุ่มใหญ่จะต้องให้ทางจังหวัดเป็นผู้จัดประชุม กลุ่มผู้ใช้น้ำก็ได้เสนอไปแล้ว แต่ปัจจุบันก็ยังเงียบ และการประชุมของจังหวัดช่วงหลังกลุ่มผู้ใช้น้ำก็ไม่ได้ถูกเชิญให้เข้าประชุมแล้ว

“โดยข้อกังวลของกลุ่มผู้ใช้น้ำก็คือ ฝายดั้งเดิมนั้นเป็นฝายที่ชาวบ้านร่วมแรงร่วมใจ และร่วมทุนทรัพย์ สร้างขึ้น ซึ่งถือว่าเป็นฝายแห่งจิตวิญญาณ กั้นเพื่อให้น้ำเข้าปากลำเหมือง แล้วมาหล่อเลี้ยงหลายตำบล ของจังหวัดเชียงใหม่”

“แต่ก็ยังมีความเชื่อว่าที่น้ำเข้าลำเหมือง เป็นผลมาจากฝายโบราณที่ชาวบ้านสร้างขึ้น กลุ่มผู้ใช้น้ำจึงอยากได้ความมั่นใจว่า ถ้าหากมีการรื้อฝายแล้ว ชาวบ้านที่ทำการเกษตรหลาย 1,000 ไร่ จะได้ใช้น้ำเหมือนเดิม ซึ่งจะต้องมีข้อยืนยันตกลงเป็นหนังสือที่มีลายลักษณ์อักษร”

ประธานกลุ่มผู้ใช้น้ำฝายพญาคำ กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมากลุ่มผู้ใช้น้ำเป็นเพียงเกษตรกรส่วนน้อย ถ้าเทียบกับชุมชนเมือง ก็ยังมีข้อกังวลเรื่องการเรียกร้องว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่ ราชการจะเห็นความสำคัญของประชาชนหรือไม่ เพราะลำเหมืองนั้น เป็นหัวใจสำคัญในการหล่อเลี้ยงเกษตรกร แต่น้ำหลาก ก็สำคัญกับชุมชนเมืองที่จะต้องแก้ไข ซึ่งหากจะเป็นการแก้ไข และตอบคำถามว่ารื้อ หรือไม่รื้อ ก็ต้องมีการจัดเวทีใหญ่ ให้ชาวบ้านได้ตัดสินใจและต้องฟังความเห็นของชาวบ้านด้วย

Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo01_811d082aba.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo09_57da7e0614.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo10_801f1caea7.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo11_324784a5a7.jpg

ด้าน รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนด้านการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดเผยว่า สำหรับงบประมาณจะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือการขุดลอกแม่น้ำปิง ส่วนที่สองคือการปรับปรุงสภาพฝายหินทิ้ง ทั้ง 3 ฝาย เบื้องต้นได้มีการหารือกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ บางส่วนแล้ว โดยการทำงานอยากให้เกิดประโยชน์ทุกฝ่าย ทั้งผู้ประสบภัยน้ำท่วม และผู้ใช้น้ำจากเหมืองฝายเดิม 

“โดยฝายหินทั้ง 3 ฝาย ที่จะปรับปรุง หรือรื้อออก ทางจังหวัดเชียงใหม่ได้ให้ความมั่นใจกับชาวบ้าน จะยังคงมีน้ำใช้ไม่น้อยกว่าเดิม เพราะประตูน้ำท่าวังตาล สามารถทดน้ำเข้ามาถึงฝายพญาคำได้อยู่แล้ว แต่เพื่อความมั่นใจ จังหวัดเชียงใหม่ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งกรมชลประทาน ปภ.เชียงใหม่ เตรียมเครื่องสูบน้ำ อาจจะกั้นน้ำชั่วคราวเพื่อสูบน้ำเข้าลำเหมือง”

“สำหรับฝายโบราณทั้ง 3 ฝาย ในอดีตเป็นฝายไม้ไผ่ หากถูกน้ำพัดก็จะพังไป แล้วก็มาเริ่มทำกันใหม่ แต่ปัจจุบันกลายเป็นฝ่ายหินทิ้ง ซึ่งถือว่าเป็นฝ่ายกึ่งถาวร ทำให้ระดับน้ำมีการยกตัวขึ้นจริง เพราะมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์แล้วว่าระดับฝายสูงเท่าไหร่น้ำจะยกสูงเหนือตัวฝาย จนทำให้น้ำเอ่อล้นเข้าเขตเมือง ถ้ามีการขุดลอกเฉพาะขุดตะกอนออก แต่ไม่มีการรื้อฝายทั้งสามฝายออก ก็จะทำให้ปริมาณน้ำยกสูงเท่าเดิมเพราะฝายเป็นตัวยก” รศ.ชูโชค กล่าว

รศ.ชูโชค กล่าวด้วยว่า ในช่วงหลังเทศกาลสงกรานต์ จะมีการจัดประชุมร่วมกับกลุ่มผู้ใช้น้ำ ทั้ง 3 ฝาย โดยยืนยันว่าจะ ไม่ให้ประชาชนเสียประโยชน์ด้านการใช้น้ำ และจะมีการลงนาม MOU ร่วมกัน โดยยืนยันว่าจะมีการผลักดันน้ำเข้าสู่ลำเมืองฝายได้เหมือนเดิม 

“ส่วนเรื่องความเชื่อ วัฒนธรรมประเพณี จังหวัดเชียงใหม่จะไม่ละเลย ซึ่งก็จะมีการพูดคุยกัน ในการทำหอวัฒนธรรม หรือสิ่งที่ชาวบ้านต้องการนำเสนอมา ก็จะมีการประสานร่วมกับพระ และเอกชนในการดำเนินการอีกครั้ง”

Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo03_0793ec6743.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo06_2b4acd7c0c.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo07_e6474db54f.jpg
Solving_the_flooding_problem_in_Chiang_Mai_Is_it_necessary_to_dismantle_the_original_weir_SPACEBAR_Photo08_21492576d3.jpg
อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์