วิวัฒนาการของป่าช้าเกินไป นักวิจัยเตือนป่าทั่วโลกกำลังวิกฤต เหตุปรับตัวไม่ทันโลกร้อน

9 ก.ค. 2568 - 08:47

  • โลกร้อนเร็ว แต่ป่าไม้ปรับตัวช้า วิวัฒนาการสวนทางครั้งนี้เร่งการล่มสลาย นักวิจัยเสนอให้มนุษย์ช่วยย้ายถิ่นพันธุ์ไม้เพื่อความอยู่รอดของป่า

วิวัฒนาการของป่าช้าเกินไป นักวิจัยเตือนป่าทั่วโลกกำลังวิกฤต เหตุปรับตัวไม่ทันโลกร้อน

งานวิจัยล่าสุดที่เผยแพร่ในวารสาร Science ชี้ชัดป่าไม้ทั่วโลกกำลังประสบปัญหาการปรับตัวไม่ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและรุนแรงเกินกว่าศักยภาพตามธรรมชาติของระบบนิเวศจะรองรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การปรับเปลี่ยนองค์ประกอบของพันธุ์ไม้ในป่าที่อาจต้องใช้เวลานานถึง 100–200 ปี ขณะที่ภาวะโลกร้อนกำลังทวีความรุนแรงขึ้นภายในระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษ

“ในอดีต ก่อนจะมีการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รวดเร็วแบบในศตวรรษที่ผ่านมา ต้นไม้ในซีกโลกเหนือจะค่อยๆ ปรับตัวต่อสภาพอากาศที่เย็นลงหรืออุ่นขึ้นเป็นระยะเวลานับพันปี ในช่วงที่เกิดยุคน้ำแข็ง ต้นไม้จะเคลื่อนตัวลงไปทางใต้เพื่อหาอุณหภูมิที่อุ่นกว่า โดยอาศัยการกระจายพันธุ์ผ่านลมหรือสัตว์ และเมื่ออากาศอุ่นขึ้นอีกครั้ง พวกมันก็จะขยายถิ่นฐานกลับขึ้นไปทางเหนือ”

ศ.เอริน ซอป หนึ่งในทีมวิจัยอธิบาย

หลักฐานจากอดีตบอกเล่าอนาคตของป่าไม้

ทีมนักวิจัยจากหลายมหาวิทยาลัยได้วิเคราะห์ข้อมูลละอองเรณูจากแกนตะกอนใต้ทะเลสาบ ครอบคลุมระยะเวลา 600,000 ปี เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงขององค์ประกอบพันธุ์ไม้ตามสภาพภูมิอากาศในอดีต พบว่าป่าไม้มี “ช่วงเวลาหน่วง” (lag time) ที่นานถึงหนึ่งถึงสองศตวรรษ ก่อนที่ระบบนิเวศจะสามารถเปลี่ยนแปลงเพื่อตอบสนองต่อสภาพอากาศใหม่ได้อย่างสมบูรณ์

“นี่คือครั้งแรกที่เราสามารถระบุช่วงเวลาหน่วงของการเปลี่ยนแปลงป่าไม้ได้อย่างชัดเจน ด้วยระยะเวลา 100–200 ปี ซึ่งใกล้เคียงกับช่วงชีวิตของต้นไม้ใหญ่หนึ่งรุ่น”


David Fastovich นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Syracuse กล่าว

เทคโนโลยีใหม่เปิดมุมมองการเปลี่ยนแปลงในทุกระดับเวลา

การใช้การวิเคราะห์เชิงสเปกตรัม (Spectral Analysis) ทำให้นักวิจัยสามารถติดตามความสัมพันธ์ระหว่างสภาพภูมิอากาศกับโครงสร้างประชากรต้นไม้ได้ทั้งในระดับเวลาแบบทศวรรษ ศตวรรษ และพันปี ซึ่งเผยให้เห็นว่า

◦            ในช่วงเวลาสั้น (10–50 ปี) ป่าไม้มีการเปลี่ยนแปลงน้อยมาก

◦            ระยะยาว (800 ปีขึ้นไป) ป่าไม้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญและเชื่อมโยงกับสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน

“สิ่งนี้ช่วยให้เกิดภาษากลางที่ผู้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของป่า ไม่ว่าจะเป็นนักนิเวศวิทยา นักบรรพชีวินวิทยา หรือผู้ศึกษาซากพืชซากสัตว์ในอดีต สามารถพูดคุยกันได้ในเรื่องเดียวกัน ไม่ว่าพวกเขาจะศึกษาป่าไม้ในระดับปีหรือพันปี”

David Fastovich กล่าว

sustainability-climate-change-outpaces-forest-evolution-scientists-warn-SPACEBAR-Photo01.jpg

อนาคตของป่าอาจต้องพึ่งพามนุษย์

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าศักยภาพตามธรรมชาติของป่าจะปรับตัวได้ทัน นักวิจัยจึงเสนอว่า มนุษย์อาจต้องมีบทบาทเชิงรุกในการช่วยให้ป่าปรับตัวผ่านกระบวนการ “ช่วยย้ายถิ่นพันธุ์” (Assisted Migration) เช่น การปลูกต้นไม้พันธุ์ทนร้อนในพื้นที่ที่เคยมีอากาศหนาวเย็น เพื่อเตรียมป่ารับมือกับอนาคตที่ร้อนขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เราไม่สามารถหวังให้ป่าปรับตัวได้เองอย่างทันเวลาในยุคโลกร้อน หากต้องการรักษาความหลากหลายทางชีวภาพและระบบนิเวศไว้ มนุษย์จำเป็นต้องมีบทบาทในการวางกลยุทธ์ระยะยาว เช่น การเลือกพันธุ์ไม้ การจัดการไฟป่า หรือแม้แต่การออกแบบป่ารุ่นใหม่ที่สอดคล้องกับสภาพภูมิอากาศอนาคต”

Fastovich กล่าวสรุป

การศึกษานี้ตอกย้ำถึงความเปราะบางของระบบนิเวศป่าไม้ภายใต้การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วของโลกยุคใหม่ ขณะที่ธรรมชาติเดินช้า มนุษย์อาจต้องก้าวให้เร็วขึ้น ไม่ใช่เพื่อแทรกแซงธรรมชาติ แต่เพื่อเสริมพลังให้ธรรมชาติยังสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์