ครั้งแรกของโลก! ปฏิวัติวงการสำรวจป่าไม้ด้วยเรดาร์ ‘ชั่งน้ำหนักป่า’ 1.5 ล้านล้านต้นทั่วโลก

6 พ.ค. 2568 - 08:36

  • ต้นไม้ทั่วโลกกว่า 1.5 ล้านล้านต้นกำลังจะถูกสแกน โลกจับตา ESA ปล่อยดาวเทียม “ชั่งน้ำหนัก” ป่าทั้งโลกจากอวกาศ ภารกิจศึกษาพืชพรรณทั้งดาวเคราะห์ พร้อมวัดการดูดซับคาร์บอนฯ

  • ข้อมูลจากดาวเทียมนี้สามารถใช้สนับสนุนนโยบายด้านสภาพภูมิอากาศ เช่น การประเมินความคืบหน้าของการลดก๊าซเรือนกระจก การจัดการป่าไม้แบบยั่งยืน การตรวจจับการตัดไม้ทำลายป่าแบบเรียลไทม์

Sustainability_first_ever_space_mission_to_weigh_forests_takes_off_SPACEBAR_Hero_6064d5fcc6.jpg

นับเป็นอีกก้าวของการพัฒนาด้านเทคโนโลยีแบบก้าวกระโดด เมื่อองค์การอวกาศยุโรป (European Space Agency : ESA) ปล่อยดาวเทียมดวงใหม่ ในชื่อ “Biomass” ดาวเทียมดวงแรกของโลกที่ถูกออกแบบมาเพื่อ “ชั่งน้ำหนัก” ป่าไม้ทั่วโลกจากอวกาศ ซึ่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา โดยใช้เทคโนโลยีเรดาร์แบบพิเศษที่สามารถมองทะลุยอดไม้ลงไปยังแก่นกลางของต้นไม้ และประเมินว่าต้นไม้เหล่านี้กักเก็บคาร์บอนมากน้อยเพียงใด

Biomass ถูกส่งขึ้นสู่วงโคจรด้วยจรวด Vega-C จากฐานปล่อยจรวดของยุโรป ในเฟรนช์เกียนา และกลายเป็นสมาชิกใหม่ล่าสุดในตระกูล Earth Explorers ของ ESA เพื่อปฏิบัติภารกิจด้านสิ่งแวดล้อมที่ออกแบบมาเพื่อศึกษาโลกอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะในด้านที่มนุษย์ยังมีข้อมูลไม่เพียงพอ

เพราะป่าไม้...คือบัญชีธนาคารของคาร์บอน

แม้เราจะมองว่าป่าไม้คือความสวยงามของธรรมชาติ แต่ในมุมวิทยาศาสตร์ ป่าไม้คือแหล่งดูดซับคาร์บอนที่สำคัญที่สุดของโลก ESA ระบุว่า ป่าบนโลกสามารถดูดซับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้รวมกันประมาณ 8 พันล้านตันต่อปี ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยควบคุมอุณหภูมิของโลก อย่างไรก็ตาม การตัดไม้ทำลายป่าและการเสื่อมโทรมของป่า โดยเฉพาะในเขตร้อน ส่งผลให้คาร์บอนที่เคยถูกกักเก็บถูกปล่อยกลับสู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ESA ยังระบุว่า ขณะนี้ยังขาดข้อมูลที่แม่นยำว่าต้นไม้ประมาณ 1.5 ล้านล้านต้นบนโลกกักเก็บคาร์บอนได้มากแค่ไหน และกิจกรรมของมนุษย์มีผลกระทบต่อการกักเก็บคาร์บอนนี้เพียงใด

เรดาร์ที่มองทะลุป่า ไม่ใช่แค่นับจำนวนต้นไม้ แต่สแกนลึกถึงเนื้อใน

ปฏิบัติการครั้งนี้ใช้เทคโนโลยีหลักคือ เรดาร์ P-band Synthetic Aperture Radar (SAR) ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่เรดาร์ชนิดนี้ถูกนำมาใช้ในดาวเทียม โดยมีความยาวคลื่นพิเศษที่สามารถเจาะทะลุยอดของต้นไม้ลงไปถึงเนื้อไม้ที่อยู่ภายใน ไม่ว่าจะเป็นลำต้น กิ่ง หรือก้าน ซึ่งเป็นส่วนที่มีการกักเก็บคาร์บอนไว้มากที่สุด ด้วยความละเอียดระดับ 50 เมตร โดยดาวเทียมสามารถสร้างภาพแผนที่สามมิติของ “มวลชีวภาพ” ของป่าไม้ทั่วโลก

“ดาวเทียมดวงนี้ไม่เพียงแต่มองเห็นป่าไม้ แต่มัน มองทะลุป่าไม้ได้จริง”

ศาสตราจารย์ Shaun Queganจากมหาวิทยาลัย Sheffield กล่าว

Sustainability_first_ever_space_mission_to_weigh_forests_takes_off_SPACEBAR_Photo01_3415ee4c97.jpg
CREDIT ESA/ATG medialab, CC BY-SA 3.0 IGO

หลังจากขึ้นสู่วงโคจร ดาวเทียมขนาด 1.2 ตันดวงนี้ได้ส่งสัญญาณแรกกลับมายังศูนย์ควบคุมของ ESA อย่างราบรื่น โดยจะมีการกางเสาอากาศตาข่ายขนาดใหญ่ 12 เมตร ยึดด้วยแขนกลความยาว 7.5 เมตร เพื่อเริ่มการเก็บข้อมูลเต็มรูปแบบ จากความสูง 666 กิโลเมตรเหนือพื้นโลก Biomass จะเริ่มทำการวัดแบบต่อเนื่องไปทั่วโลก และคาดว่าจะสามารถผลิตแผนที่มวลชีวภาพชุดแรกภายในไม่กี่เดือนข้างหน้า ก่อนที่จะเก็บข้อมูลต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 5 ปี

ไม่ใช่แค่ป่าไม้เท่านั้น Biomass ยังสามารถใช้สร้างแผนที่ธรณีวิทยาใต้พื้นทะเลทราย โครงสร้างน้ำแข็งขั้วโลก และภูมิประเทศที่ซ่อนอยู่ภายใต้ยอดไม้ที่หนาแน่น

“เราจะได้ข้อมูลใหม่ที่สำคัญเกี่ยวกับปริมาณคาร์บอนที่กักเก็บอยู่ในป่าทั่วโลก ซึ่งจะช่วยเติมเต็มช่องว่างสำคัญในความรู้ของเราว่าด้วยวัฏจักรคาร์บอน และในระบบภูมิอากาศของโลก” Simonetta Cheli ผู้อำนวยการโครงการสังเกตการณ์โลกของ ESA กล่าว

จากแนวคิดเล็กๆ สู่ภารกิจใหญ่ของโลก

แนวคิดของ Biomass เริ่มต้นขึ้นเกือบ 20 ปีที่แล้ว โดยศาสตราจารย์ Lars Ulander จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยี Chalmers และศาสตราจารย์ Shaun Quegan ทีมงานต้องใช้เวลาหลายปีในการแก้ปัญหาทางวิศวกรรมที่ซับซ้อน เพื่อสร้างดาวเทียมที่สามารถ “ชั่งน้ำหนักของคาร์บอน” ได้จากอวกาศ วันนี้ความพยายามเหล่านั้นได้เดินทางมาถึงอวกาศแล้ว และกำลังจะตอบคำถามสำคัญของโลก

Biomass ไม่ใช่แค่ดาวเทียมสำหรับภารกิจวิทยาศาสตร์ แต่มันคือสัญลักษณ์ของความพยายามของมนุษย์ในการเข้าใจโลกให้ลึกขึ้น เพื่อวางรากฐานสำหรับอนาคตที่ยั่งยืน

ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เราจะได้เห็นแผนที่คาร์บอนของป่าฝนที่เคยเข้าถึงยากอย่างไม่เคยมีมาก่อน ในอีก 5 ปีข้างหน้า ข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และนี่อาจมีบทบาทสำคัญต่อการประเมิน “คาร์บอนเครดิต” ในอนาคต

CREDIT : ESA/ATG medialab

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์