ท่องเที่ยวซบเซา นทท.หาย กระทบธุรกิจปางช้างเชียงใหม่

20 พ.ค. 2568 - 01:00

  • ธุรกิจปางช้างเชียงใหม่รับผลกระทบ นักท่องเที่ยวต่างชาติหาย ทั้งตลาดเอเชีย-ยุโรป

  • สมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตงเผย ปางช้างทั่วประเทศเพิ่มขึ้นพร้อมตัดราคาแต่คุณภาพลดลง แนะปางช้างต้องปรับตัว เน้นคุณภาพ เพิ่มการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยว

  • สมาคมสหพันธ์ช้างไทยชี้ การท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือหนึ่งในการอนุรักษ์ช้าง หากรายได้หายช้างจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย

‘ปางช้าง’ ถือเป็นอีกหนึ่งธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ แต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา การท่องเที่ยวหยุดชะงัก แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะกลับมาปกติแล้ว แต่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่นับว่าเป็นรายได้หลักของธุรกิจนี้กลับลดลง ไม่คึกคักเหมือนแต่ก่อน


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo01.jpg


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo02.jpg

 

กิตติราช ชัยเลิศ นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวแม่แตง เปิดเผยว่า ภายใน อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ มีจำนวนช้างเลี้ยงมากที่สุดในประเทศกว่า 418 เชือก และมีปางช้างทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่อยู่เป็นจำนวนมาก โดยยอมรับว่าในตอนนี้ธุรกิจปางช้างเผชิญกับปัญหานักท่องเที่ยวมาใช้บริการน้อยจริง ซึ่งประเด็นนี้มีที่มาจากหลากหลายปัจจัย การท่องเที่ยวปางช้างหลายปางอาจจะมีลูกค้าน้อยลงเนื่องจากมีจำนวนปางช้างที่เพิ่มมากขึ้นทั่วท้้งประเทศ บางปางช้างอาจจะมีช้างเพียงแค่ 1-2 เชือก บางปางช้าง ทำการตลาดโดยการตัดราคาให้ถูกลงโดยการแลกกับบริการที่ลดคุณภาพลง

 

“อีกปัจจัยที่นักท่องเที่ยวมาเที่ยวปางช้างลดลง เนื่องจากมีการให้ข้อมูลผิดเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างจากบางองค์กรเพื่อหวังผลประโยชน์ให้กับธุรกิจของตนเอง และเรื่องนี้มักจะถูกปล่อยปะละเลยจากเจ้าหน้าที่ในการตรวจสอบอย่างจริงจัง และแก้ไขปัญหานี้อย่างล่าช้าเมื่อเกิดข่าวหรือภาพที่มักจะแอบอ้างว่าเป็นการเลี้ยงช้างแบบผิดๆ ในไทย แต่มักจะใช้รูปช้างพิการจากต่างประเทศมาใช้เป็นเครื่องมือในการรับบริจาค”


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo09.jpg

 

นายกสมาคมสหพันธ์ท่องเที่ยวฯ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันนี้นักท่องเที่ยวจีนที่เคยให้ความสนใจปางช้างมากๆ ก็ลดลง อาจจะเป็นผลจากนโยบายของทางรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้นักท่องเที่ยวจีนเที่ยวในประเทศของตนเองอีกทั้งยังมีข่าวด้านลบที่เกิดกับนักท่องเที่ยวจีน ซึ่งมักจะเป็นข่าวเพียงด้านเดียวที่ทางจีนนำเสนอ และยังรวมไปถึงความล่าช้าในการนำเสนอข่าว หรือการตอบโต้ข่าวด้านลบเหล่านี้อย่างทันทีและถูกต้อง ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อลดผลกระทบในระยะยาวเกี่ยวกับภาพลักษณ์การท่องเที่ยวในหมู่นักท่องเที่ยวชาวจีน


“หากถามว่าหลังจากนี้หลายปางช้างต้องปรับตัวอย่างไรต่อไป ถ้าหลายๆ ปางช้างยังมุ่งเน้นการลดราคาแต่ไม่ได้มุ่งเน้นเรื่องคุณภาพของการบริการให้ดียิ่งขึ้นให้สมกับราคาหรือมูลค่าที่นักท่องเที่ยวจ่ายมา หรืออาจจะต้องมีการปรับปรุงหรือเพิ่มบริการให้ดูน่าดึงดูดมากยิ่งขึ้น ในส่วนของการบริการ อาจจะต้องเพิ่มการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวเข้าไปให้มากยิ่งขึ้น”

 

“ยิ่งไปกว่านั้น ต้องได้รับการสนับสนุนจากทางหน่วยงานภาครัฐ ในการให้ข้อมูลอย่างถูกต้องแก่นักท่องเที่ยวเกี่ยวกับการเลี้ยงช้างในประเทศไทย ให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างช้างบ้านและช้างป่า เช่นเดียวกับต่างชาติที่มีการเลี้ยงม้า”


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo03.jpg


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo07.jpg


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo V01.jpg


ขณะที่ ธีรภัทร ตรังปราการ นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวว่า ปางช้างในจังหวัดเชียงใหม่มีกว่า 200 แห่ง ส่วนใหญ่จะเป็นปางเล็กๆ มีช้างประมาณ 10 เชือก ส่วนที่เกิน 30 เชือก จะมีประมาณ 5 แห่ง ซึ่งปางช้างแม่ตะมานเชียงใหม่ที่พึ่งปิดตัวไปก็คือหนึ่งใน 5 นี้

 

“ส่วนหนึ่งที่ทำให้การท่องเที่ยวเกี่ยวกับช้างในประเทศไทยได้รับความนิยมน้อยลง หรือ ที่หลายคนเรียกว่าขาลงนั้น มาจากการที่ชาวต่างชาติได้รับข้อมูลในเชิงลบว่า นำช้างมาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจการท่องเที่ยว เป็นเรื่องของการเอาเปรียบสัตว์หรือการทารุณกรรม ซึ่งในข้อเท็จจริง การเลี้ยงช้างมีค่าใช้จ่ายจำนวนมาก ดังนั้นการที่นำการท่องเที่ยวเข้ามาเกี่ยวข้องกับช้างก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการที่สามารถสร้างรายได้เพื่อนำมาเลี้ยงช้างต่อไปได้”


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo06.jpg


.jpg-3.jpg

 

นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าวต่อว่า ส่วนตัวมองว่าการท่องเที่ยวมันมีประโยชน์มากในการที่จะทำให้ประเทศไทยอนุรักษ์ช้างได้ แต่ด้วยการตื่นตัวของธุรกิจที่คู่ขนานกับธุรกิจปางช้างก็คือ ธุรกิจที่อ้างการรับบริจาค หรืออ้างอนุรักษ์ ก็จะมีเรื่องราวการสร้างข้อมูลว่าคนไทยใช้ประโยชน์จากช้าง ซึ่งมันจะเป็นผลดีกับฝั่งนั้นแต่ส่งผลเสียกับอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่งจุดนี้เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติได้ โดยยืนยันว่า ถ้าเราสามารถทำให้เกิดการท่องเที่ยวได้มันจะเป็นประโยชน์กับการเลี้ยงและการอนุรักษ์ช้างไทย


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo04.jpg

 

“ช้างไม่ใช่เครื่องมือของการท่องเที่ยว แต่การท่องเที่ยวนับว่าเป็นเครื่องมือหนึ่งของการอนุรักษ์ช้างได้ดี หากเราไม่รักษาการท่องเที่ยวไว้ ช้างส่วนมากของประเทศจะไม่มีรายได้ ที่จะนำมาซื้ออาหารให้ช้างและกินมันก็จะเป็นผลกระทบครั้งใหญ่”

 

“หลังจากนี้ธุรกิจปางช้างก็ต้องเลี้ยงช้างให้อยู่ในสุขภาพที่ดีและอยากให้ปางช้างทุกปางในประเทศไทยเข้ารับการตรวจรับรองโดยสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เพื่อจะได้ใบประกาศนียบัตรรองรับว่าเป็นปางเช้ามาตรฐานก็จะได้บอกกับชาวต่างชาติได้ว่าปางช้างของเราได้รับการรับรองมาตรฐาน และเป็นเครื่องยืนยันว่าเราใช้ช้างผลหลักของสวัสดิภาพสัตว์และมีคุณภาพชีวิตที่ดีของช้างมีความพอดีกับการใช้งานเพื่อหารายได้และการเลี้ยงดูสุขภาพช้าง” นายกสมาคมสหพันธ์ช้างไทย กล่าว


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo10-1.jpg


Thai-tourism-is-sluggish-tourists-are-gone-affecting-the-business-of-Chiang Mai-elephant-camps-SPACEBAR-Photo05.jpg

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์