ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นพ.ตุลย์ สิทธิสมวงศ์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในแกนนำกลุ่มรวมพลังแผ่นดินปกป้องอธิปไตย เข้ายื่นหนังสื่อถึง พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) เพื่อคัดค้านการเลื่อนขั้น พล.ต.ท. นพ.โสภณ สิงหจารุ ผู้ช่วย ผบ.ตร. ขึ้นเป็นรองผบ.ตร. และ พล.ต.ท.นพ. ทวีศิลป์ เวชวิทารณ์ นายแพทย์ใหญ่ โรงพยาบาลตำรวจ ขึ้นเป็นผู้ช่วย ผบ.ตร. ฝ่ายการแพทย์
นพ.ตุลย์ พยายามชี้ให้เห็นว่าทั้งคู่มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ที่ไม่สุจริต เนื่องจาก พล.ต.ท. นพ.โสภณ และ พล.ต.ท. นพ.ทวีศิลป์ ถูกแพทยสภาสั่งลงโทษ เรื่องผิดจริยธรรมทางการแพทย์ กรณีเอื้อประโยชน์ให้ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้พักรักษาตัวที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ กว่า 140 วัน โดยที่ไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าทักษิณป่วยวิกฤตจริง
โดยแพทยสภามีคำสั่งพักใบอนุญาตประกอบวิชาชีพแพทย์ของ พล.ต.ท.นพ.โสภณรัชต์ เป็นเวลา 3 เดือน และของ พล.ต.ท.นพ.ทวีศิลป์ เป็นเวลา 6 เดือน โดยคำสั่งจะเริ่มมีผลตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2568 เป็นต้นไป
นอกจากนี้ พล.ต.ท. นพ.โสภณ และ พล.ต.ท. นพ.ทวีศิลป์ ยังถูก ป.ป.ช. สอบสวนเรื่องการทำผิดคดีอาญา ม.157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่จากกรณีชั้น 14 เช่นกัน ดังนั้นหากมีการเลื่อนตำแหน่ง ในขณะที่ทั้งคู่กำลังถูกสั่งลงโทษ และอยู่ระหว่างการสอบสวน เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือของสำนักงานตำรวจแห่งชาติอย่างร้ายแรง

นพ.ตุลย์ ย้ำว่าการแต่งตั้งโยกย้ายตำแหน่งของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ควรเป็นไปอย่างโปร่งใส และยึดหลักคุณธรรม ไม่ควรปล่อยให้เกิดข้อครหา โดยเฉพาะตอนนี้ ที่ประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) คือ แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี บุตรสาวของทักษิณที่เป็นผู้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง
“คนที่มีมลทิน คนที่ถูกสั่งลงโทษแบบนี้ มีข้อสงสัยอยู่ใน ป.ป.ช. และน่าจะทำผิด พ.ร.บ.ตำรวจ มาตรา 112 (1) ว่าปฏิบัติเพื่อให้คนอื่นได้รับประโยชน์โดยไม่สมควร เพราะฉะนั้นควรนำข้อมูลเหล่านี้ยื่นต่อ ประธาน ก.ตร. ซึ่งบังเอิญเป็นลูกสาวของ ทักษิณ ชินวัตร พอดี เพื่อดำเนินการต่อไป ผมหวังว่าการแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนี้จะมีความโปร่งใส เป็นไปด้วยหลักคุณธรรม ไม่เป็นที่ครหา”
— นพ.ตุลย์ กล่าว

ดังนั้น นพ.ตุลย์ จึงขอเรียกร้องให้ ผบ.ตร. ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง เกี่ยวกับกรณีดังกล่าว และหากพบมูลความผิด ขอให้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยร้ายแรงต่อไป รวมถึงสั่งย้ายข้าราชการตำรวจทั้ง 2 นายออกจากตำแหน่งเดิม ไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับโรงพยาบาลตำรวจ ในระว่างที่มีการตรวจสอบ เพื่อเปิดโอกาสให้บุคลากรในโรงพยาบาลตำรวจที่มีข้อมูลสามารถให้ข้อมูลกับ ป.ป.ช. และศาลได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องเกรงกลัว และให้ข้าราชการตำรวจทั้ง 2 นายทำรายงานชี้แจง กรณีแพทยสภา และ ป.ป.ช. สอบสวน รวมถึงการเป็นพยานในศาลฎีกา เพื่อส่งประกอบการพิจารณาแต่งตั้งโยกย้ายประจำปีของคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ
ทั้งนี้ นพ.ตุลย์ ระบุว่า หลังจากยื่นหนังสือที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอล้ว จะไปยื่นหนังสือต่อที่ศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ทำเนียบรัฐบาล เพื่อป้องกันไม่ให้มีบุคคลที่อยู่ระหว่างการสอบสวน ได้รับการเลื่อนตำแหน่งไปก่อนที่จะพ้นมลทิน
