วิกฤตเศรษฐกิจที่เริ่มมาตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดโควิด 19 ต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ทำให้ผู้ประกอบการหาทางออก และทางแก้ปัญหา เพื่อให้ธุรกิจสามารถเดินหน้าต่อได้ แม้สภาพเศรษฐกิจจะย่ำแย่ เช่นเดียวกับ โรงแรมโฆษะ จังหวัดขอนแก่น ที่ผู้ประกอบการได้พยายามปรับตัวและต่อสู้มาตลอด โดยไม่มีนโยบายปลดหรือลดจำนวนพนักงาน


ชาติชาย โฆษะวิสุทธิ์ นายกสมาคมโรงแรมภาคอีสาน และในฐานะเจ้าของโรงแรมโฆษะ จ.ขอนแก่น กล่าวว่าการที่รัฐบาลมีประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ ส่วนตัวมองว่าเป็นการซ้ำเติมเอสเอ็มอี (SME) สัญชาติไทย ในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำกว่าช่วงการระบาดโควิด 19 เช่นนี้
“ต้องการให้รัฐบาลมีความจริงใจที่จะช่วยผู้ประกอบการ ที่สำคัญอย่านำประเด็นการขึ้นค่าแรงมาใช้เป็นการหาเสียงทางการเมือง อยากให้มองประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ด้านการเมือง เพราะการขึ้นค่าแรงในภาวะวิกฤตเศรษฐกิจ เหมือนทุบหม้อข้าวตัวเอง เพราะหากโรงแรมอยู่ไม่ได้ พนักงานที่ทำงานอยู่ก็ตกงานตามมา”

ชาติชาย กล่าวต่อว่า จังหวัดขอนแก่นไม่ใช่เมืองท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรมรายได้ต่อห้องเฉลี่ยไม่เท่ากัน จะเก็บแพงมากก็ไม่ได้ ไม่เหมือนเมืองท่องเที่ยวอย่างภูเก็ตหรือกรุงเทพฯ ที่เก็บค่าบริการได้หลายพันบาทกิจกรรมส่วนใหญ่ที่มีผู้คนเดินทางมาขอนแก่น คือเพื่อประชุมสัมมนาของราชการเป็นหลัก แต่การแพร่ระบาดของโควิด 19 ทำให้การเดินทางมาประชุมสัมมนาน้อยลง ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอตัวลงตั้งแต่ครั้งนั้นต่อเนื่องยาวนาน
“เศรษฐกิจปัจจุบันแย่กว่าช่วงการระบาดของโควิดมาก เพราะประชาชนไม่ออกมาจับจ่าย หน่วยงานราชการงดจัดประชุมตามโรงแรม หันไปประชุมผ่านออนไลน์ ประกอบกับระยะนี้เข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่นแล้ว การประกาศขึ้นค่าแรง 400 บาท ที่มีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2568 จึงเป็นการซ้ำเติมผู้ประกอบการมากขึ้น และยิ่งจะทำให้สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ลง”


ชาติชาย กล่าวอีกว่า “การปรับขึ้นค่าแรงในระยะนี้ ถือว่าเป็นการปรับขึ้นที่ผิดเวลาอย่างยิ่ง ในฐานะนายจ้างแม้ว่าจะอยากให้ลูกจ้างมีรายได้เพิ่ม แต่ในความเป็นจริงต้องพิจารณาตามสถานการณ์เศรษฐกิจแบบนี้เงินฝืดแล้วยังมาขึ้นค่าแรงอีก สุดท้ายทุกอย่างแพงขึ้นไปหมด ที่ผ่านมาทางสมาคมโรงแรมได้ยื่นหนังสือต่อรัฐบาลให้ทบทวนการขึ้นค่าแรง”
“ความรู้สึกตอนนี้ยิ่งกว่าหนักใจ ทั้งเศร้าใจ เสียใจ ประเทศไทยต้องการรัฐบาลที่ดีผู้นำที่ดีมาบริหารประเทศ อีกทั้งการขึ้นค่าแรงรอบนี้ไม่ได้เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่เป็นการทำลาย ‘เอสเอ็มอี’ สัญชาติไทยมากกว่า และธุรกิจอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไม่มีเหตุผลที่จะปรับขึ้นตอนนี้” ชาติชาย กล่าว

ด้าน เข็มชาติ สมใจวงษ์ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้า จ.ขอนแก่น และเจ้าของโรงแรมราชาวดี แอร์พอต ขอนแก่น กล่าวถึงการที่รัฐบาลเปิดแคมเปญ “เที่ยวคนละครึ่ง” เพื่อให้เกิดการกระตุ้นการใช้จ่ายด้านการท่องเที่ยวในประเทศ ว่า แม้จะเป็นนโยบายเพื่อหวังกระตุ้นการท่องเที่ยว แต่พบว่าประชาชนมีกำลังซื้อและภาวะเศรษฐกิจโดยรวมลดลง เชื่อว่านโยบายเที่ยวคนละครึ่งจะกระตุ้นได้บ้าง เพราะโครงการนี้เป็นมาตรการระยะสั้น สิ้นสุดเดือนตุลาคม 2568 เกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจได้บ้าง แต่เมื่อมีนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาท จึงไม่แน่ใจว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างไร
“ทุกวันนี้โรงแรมส่วนใหญ่ถ้ามีพนักงานลาออกจะไม่มีใครจ้างงานเพิ่ม จะปรับใช้พนักงานที่มีอยู่ ทั้งการให้ทำโอที ให้พนักงานแต่ละคนทำหน้าที่ได้หลายด้าน และการจัดจ้างพนักงานแบบพาร์ตไทม์ หลายมาตรการที่ผู้ประกอบการนำมาปรับใช้เพื่อลดต้นทุน ค่าแรงงาน แม้รัฐบาลจะมีแคมเปญท่องเที่ยวคนละครึ่ง เพื่อช่วยผู้ประกอบการ และเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจให้คนออกมาจับจ่าย”


เข็มชาติ กล่าวอีกว่า การประกาศปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทต่อวันในกลุ่มสถานประกอบการด้านบริการและกลุ่มโรงแรมประเภทที่ 2 เชื่อว่าเป้าหมายคือการขึ้นค่าแรงตามที่รัฐบาลได้กำหนดนโยบายหาเสียงไว้ จึงฝากให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ทบทวนการใช้อัตราเดียวกันทุกจังหวัดทั่วประเทศ ในกลุ่มโรงแรมประเภทที่ 2 คือมีห้องพักเกิน 50 ห้องขึ้นไป หรือมีการให้บริการห้องอาหาร เนื่องจากอัตราค่าบริการโรงแรมที่เป็นเมืองท่องเที่ยว กับโรงแรมภูมิภาคอัตราค่าบริการห้องพักไม่เหมือนกัน โรงแรมภูมิภาคหลักร้อยบาท ขณะที่เมืองหลวงหรือเมืองท่องเที่ยวหลักพันบาท
“เมื่อต้นทุนค่าแรงเท่ากันที่ 400 บาท จะมีผลในเรื่องต้นทุนของการบริหารจัดการ เพราะทุกวันนี้ธุรกิจโรงแรมไม่ได้มีอัตราการเข้าพักที่สูงมาก ยกกรณีศึกษาคือขอนแก่น ซึ่ง ธปท.ภาคอีสาน ได้มีการสำรวจแล้วพบว่าธุรกิจโรงแรมมีอัตราการเข้าพักและการดำเนินธุรกิจที่ลดลงเราอาจจะรู้สึกว่าเพิ่มขึ้นช่วงสงกรานต์พอหมดช่วงเทศกาลหรือฤดูกาลหยุดยาว อัตราการเข้าพักก็ลดลงต่ำกว่าปกติ
นอกจากนี้มีคำถามว่าทำไมรัฐบาลถึงมองเฉพาะกลุ่มธุรกิจบริการที่ต้องปรับอัตราค่าแรงตามนโยบายที่รัฐบาลกำหนด ส่วนตัวเห็นว่าไม่ถูกต้อง เพราะเป็นการสวนทางกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการเปรียบเทียบ และไม่มีคำตอบให้แรงงานว่าทำไมธุรกิจอื่นไม่มีการปรับขึ้น” เข็มชาติ กล่าว
ความคิดเห็นของผู้ประกอบการที่สอดคล้องกัน คือ ต้องการให้รัฐบาลแก้ปัญหาเศรษฐกิจโดยภาพรวมก่อน แก้ไขสภาวะเศรษฐกิจทั้งระบบ สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันยังไม่ควรปรับขึ้นค่าแรง เพราะธุรกิจโรงแรมได้รับผลกระทบจากตั้งแต่โควิด 19 ภาวะสงครามจากต่างประเทศ ภาวะเศรฐกิจ ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์ทางการเมืองที่ไม่แน่นอน ทำให้ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบ มีความกังวลว่าการปรับขึ้นค่าแรงในครั้งนี้จะทำให้ผู้ประกอบการถอดใจต้องปิดกิจการ
นโยบายเที่ยวคนละครึ่งที่ออกมา แม้จะกระตุ้นเศรษฐกิจได้ดีในช่วงฤดูฝนแต่ก็ขอให้มองในระยะยาว รวมทั้งมีมาตรการช่วยเหลือผ่อนผันเรื่องต้นทุน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าภาษี และค่าสาธารณูปโภคต่างๆ เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ภาวะปกติจึงทบทวนการขึ้นค่าแรงอีกครั้ง เพราะเมื่อผู้ประกอบการอยู่ได้ ลูกจ้างก็อยู่ได้เช่นกัน

