นายกฯ ออกแถลงรับมือ‘กำแพงภาษี’สหรัฐฯ ส่ง รมว.คลัง บินเจรจาสัปดาห์หน้า

6 เม.ย. 2568 - 02:36

  • ‘นายกฯ’ แถลงการณ์ รับมือกำแพงภาษีทรัมป์ ส่ง ‘พิชัย’ เตรียมบินสหรัฐฯ เจรจาสัปดาห์หน้า

  • เสนอแนวทาง เพิ่มนำเข้า -ลดเงื่อนไข สินค้าพลังงาน -เกษตร มั่นใจบรรลุผล เป็นคู่ค้าเป็นมิตรต่อกัน

The_Prime_Minister_issued_a_statement_on_US_taxes_SPACEBAR_Hero_ffcc7eb4bd.jpg

สำหรับความเคลื่อนไหวต่อกรณี การเกาะติดสถานการณ์ภาษีสหรัฐฯ หลังจากที่รัฐบาลจัดตั้งคณะทำงานชุดดังกล่าว นำโดย ‘นายกรัฐมนตรี’ ล่าสุดวันนี้ (6 เมษยายน 2568) ‘แพทองธาร ชินวัตร’ นายกรัฐมนตรี แถลงการณ์ท่าทีของประเทศไทยกับนโยบายการค้าของสหรัฐอเมริกา ว่า เรียนพี่น้องประชาชน ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ประเทศไทยของเราได้เผชิญกับเหตุการณ์หลายอย่างที่ไม่คาดคิด ทั้งเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อชีวิตทรัพย์สิน และสภาพจิตใจของคนไทย   รัฐบาลได้ตระหนักถึงเหตุการณ์ดังกล่าวและได้ดำเนินการอย่างเต็มที่ในทุกมิติ เพื่อให้การช่วยเหลือและเยียวยาความเสียหายที่เกิดขึ้น  ทั้งนี้เราเคยผ่านวิกฤตของประเทศมาแล้วหลายครั้งและด้วยความสามัคคีความช่วยเหลือเกื้อกูลและความเอื้ออารีต่อกันของคนในชาติ  ทำให้ดิฉันเชื่อมั่นว่าเราจะสามารถก้าวผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปได้ 

วันนี้ประเทศไทย กำลังเผชิญกับมาตรการในการขึ้นภาษีสินค้าของไทยที่ส่งไปขายในสหรัฐอเมริกาในอัตราร้อยละ 36  อีกทั้งหลายประเทศก็ได้ตกอยู่ใสถานการณ์เดียวกันกับประเทศไทยและก็ต่างเตรียมมาตรการรับมือ ซึ่งเราเชื่อว่าทั่วโลกกำลังจะเห็นการตอบโต้กันอย่างหนักหน่วงผ่านเครื่องมือทางภาษี และหลายประเทศก็ตัดสินใจไปเจรจาพูดคุยกับรัฐบาลสหรัฐฯ แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีใครได้ข้อสรุปของการเจรจาแต่อย่างใด   ในส่วนของประเทศไทยมาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการส่งออกสินค้าของเราโดยเฉพาะสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ อาหารแปรรูป และสินค้าเกษตร 

รัฐบาลได้ตั้งคณะทำงานในเรื่องนี้ขึ้นมา  ตั้งแต่เมื่อวันที่ 6 มกราคมปีนี้ และมีการหารือกับภาคเอกชนรวมทั้งตัวแทนของสหรัฐฯถึงข้อเสนออย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มาโดยตลอด  และในสัปดาห์หน้านี้ 'พิชัย ชุณหวชิร' รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะเดินทางไปหารือ กับหลายภาคส่วนในสหรัฐฯ ทั้งภาครัฐ เอกชนและผู้ที่มีส่วนได้เสีย จากการเปลี่ยนแปลงการค้าที่สำคัญ ของรัฐบาลสหรัฐฯในครั้งนี้  สำหรับสิ่งที่เราจะสื่อสารกับรัฐบาลสหรัฐฯ ก็คือ  ประเทศไทยไม่ใช่แค่ผู้ส่งออกเท่านั้น  แต่เราคือพันธมิตรและหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่สหรัฐฯเชื่อถือได้ในระยะยาว 

โดยขณะนี้ รัฐบาลได้สรุปข้อเสนอเชิงนโยบายต่างๆ เช่นการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ ในด้านพลังงาน อากาศยาน และ สินค้าเกษตร โดยประเทศไทยมีแผนที่จะสร้างความร่วมมือกับภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และกลุ่มอื่นๆ ที่มีส่วนได้เสียสำคัญในระบอบประชาธิปไตยของสหรัฐฯ ซึ่งมีรายละเอียดในนโยบายอีกมาก โดยขอให้มั่นใจว่าข้อเสนอเหล่านี้ ล้วนแต่คำนึงถึงประโยชน์ของประเทศไทยเหนือสิ่งอื่นใด  นอกจากนี้ประเทศไทย จะมีการเจรจา เรื่องการส่งเสริมการลงทุนของไทยในสหรัฐฯและลดเงื่อนไขการนำเข้าที่เป็นอุปสรรครวมไปถึงการปราบปราม การสวมสิทธิถิ่นกำเนิดสินค้าที่ใช้ประเทศไทยเป็นทางผ่านไปยังสหรัฐฯ

ดิฉันมั่นใจว่า ข้อเสนอข้างต้นนี้ จะทำให้การเจรจากับสหรัฐฯ บรรลุผลเพื่อให้ประเทศไทยและสหรัฐ ฯ ยังคงเป็นพันธมิตรและคู่ค้าที่เป็นมิตรต่อกัน นอกจากนี้รัฐบาลยังมีอีกหลายมาตรการที่พร้อมจะรับฟังและพูดคุยเพิ่มเติมกับสหรัฐฯ  และขอให้ความมั่นใจว่าข้อเสนอที่รัฐบาลเตรียมไว้ ล้วนคำนึงถึงประชาชนและผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญและเพื่อประโยชน์ของผู้ประกอบธุรกิจของเราและคนที่อยู่ในระบบเศรษฐกิจไทยทุกท่าน

ดิฉันขอให้คำมั่นว่า ทุกท่านไม่ได้โดดเดี่ยว ไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง รัฐบาลจะมีมาตรการเยียวยาเร่งด่วนในระยะสั้น และระยะยาวเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการทั้ง SME และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่ได้รับผลกระทบ โดยการเร่งขยายตลาดส่งออกใหม่ๆ อีกทั้งยังจะเป็นการกระจายความเสี่ยงของภาคธุรกิจไทย ที่เรามุ่งมั่นที่จะเจรจาการค้า ในการเปิดตลาดใหม่ๆ ในตะวันออกกลาง ยุโรป และ อินเดีย โดยจะเร่งเจรจาการค้า FTA ให้เร็วยิ่งขึ้น 

ท้ายนี้ ดิฉันขอเรียนว่าในวันอังคารที่ 8 เมษายนนี้ หลังจากประชุมสรุปกับคณะกรรมการและทุกหน่วยงานอีกครั้งหนึ่ง จะสรุปแนวทางเพื่อผลประโยชน์ของประเทศไทยเป็นสำคัญ  และขอเรียนย้ำอีกครั้ง ว่ารัฐบาลจะทำทุกวิถีทางเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศชาติ  เพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจไทยให้มั่นคง แข็งแรง และเท่าทันโลก และเพื่อให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างมีศักดิ์ศรีเพื่อประเทศไทยของเรา

อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์