ในการประชุมวุฒิสภา ที่มี ‘มงคล สุระสัจจะ’ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม วาระพิจารณาเลือกกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานตามมาตรา 70 แห่งพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการคมนาคม (กสทช.) พ.ศ.2553 'นันทนา นันทวโรภาส' สว. หารือว่า กลุ่มบุคคลที่เรากำลังจะให้ความเห็นชอบจะมาทำหน้าที่ติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของ กสทช. เป็นซูเปอร์บอร์ด จึงถือว่ามีความสำคัญ ท่านภูมิใจหรือที่จะทำหน้าที่เห็นชอบตำแหน่งสำคัญเช่นนี้ ในขณะที่สว.เกินครึ่งสภาถูกแจ้งข้อกล่าวหาในเรื่องที่มามิชอบ แล้วเหตุใดท่านถึงกระเหี้ยนกระหือรือที่จะลงมติให้ได้
ทั้งที่ค้านความรู้สึกของผู้คน ยิ่งท่านลงมติไปมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นการเพิ่มมรดกบาปให้แก่สังคมมากขึ้นเท่านั้น หากสุดทางแล้วพบว่าท่านขาดคุณสมบัติหรือตรงกันข้ามหากท่านบริสุทธิ์ ท่านก็รอจนท่านแก้ข้อกล่าวหาให้สิ้นสงสัยเสียก่อน หรือหลุดพ้นมาเป็นผู้บริสุทธิ์ แล้วค่อนมาลงมติ ก็ไม่สายเกินไป ตำแหน่งเหล่านี้รอได้ จะไม่ยอมให้เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องปกติเด็ดขาด และจะไม่ยอมให้การลงมติของสว.ที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหาเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่เห็นว่าไม่ใช่เรื่องปกติ
นันทนา กล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตาม เรื่องการเห็นชอบบุคคลในองค์กรอิสระและบุคคลในกระบวนการยุติธรรม ซึ่งเคยสื่อสารในสภาหลายครั้งแล้ว รวมถึงเคยโน้มน้าวใจให้ท่านเห็นถึงการขัดกันของผลประโยชน์ ที่ท่านเป็นผู้ถูกกล่าวหาแล้วไปเลือกผู้มาตัดสินคดีของท่าน สิ่งนี้จะเป็นการทำลายหลักนิติธรรมและหลักธรรมาภิบาลทั้งหมด รวมถึงทำให้เห็นถึงการแสดงความไม่พอใจของประชาชน ที่ต้องการให้คดีการฮั้วสว.ถึงที่สุดก่อน ก่อนที่ท่านจะทำหน้าที่ในการลงมติเลือกผู้ดำรงตำแหน่งใดๆ
“หากดึงดันที่จะลงมติในวันนี้ หรือสังคมอาจจะมองว่า ท่านใช้สถานะสว.เพื่อประโยชน์แห่งตัวท่านเองโดยแท้ ท่านอาจจะโต้แย้งเรื่องข้อกฎหมายว่าไม่มีตัวกฎหมายใดให้หยุดปฏิบัติหน้าที่เป็นบางส่วนได้ หรืออาจจะมีคนร้องว่าสว.ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ตามมาตรา 157 ดิฉันต้องยกในสิ่งที่ได้กล่าวมาแล้ว นายจรัญ ภักดีธนากุล อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ แนะนำให้ชะลอการลงมติในเรื่องนี้และชะลอการทำหน้าที่เลือกองค์กรอิสระ ซึ่งเขาเคยบอกว่าแม้กฎหมายไม่ได้เขียนห้ามไว้ก็จริง แต่ประเด็นที่ละเอียดกว่ากฎหมาย สมควรทำหรือไม่ จะฝ่าฝืนจริยธรรมหรือไม่ ต้องระมัดระวังอย่างยิ่ง ไม่เช่นนั้นแล้วที่คิดว่าไม่มีปัญหาจะมีปัญหาใหญ่ทีเดียว เวลาตรวจสอบคนที่ทำหน้าที่สำคัญต้องตรวจสอบทางจริยธรรมว่าเป็นแบบอย่างได้หรือไม่ เมื่อเราตรวจสอบเขา คนตรวจสอบก็ต้องมีมาตรฐานจริยธรรม หากท่านไม่ปิดหูปิดตาตัวเอง ท่านย่อมทราบดีว่าขณะนี้ประชาชนจำนวนมากกล่าวขานถึงสว.ชุดนี้อย่างไร เขาคราแคลงใจที่มาของสว.ชุดนี้อย่างไร ความเป็นสว.ของท่านจะสูงขึ้นหากท่านใช้จิตสำนึกและจริยธรรมของท่านให้มาก ประชาชนจับตาดูอยู่”
— นันทนา กล่าว
ด้าน ‘พิสิษฐ์ อภิวัฒนาพงศ์’ สว. ลุกขึ้นโต้ว่า ประเด็นนี้เราเคยลงมติไปแล้ว ไม่ทราบว่าผู้อภิปรายฟังไม่เข้าใจหรือไม่เคารพประชาธิปไตยเสียงข้างมาก ซึ่งวันนั้นซึ่งที่ตนเห็นคือนันทนาไม่ได้เข้าร่วมและเดินไป วันนี้หากท่านรู้สึกว่าเป็นเช่นนั้น ตนรู้สึกว่าประตูด้านหลังสองบานด้านหลังว่างอยู่ แนะนำให้เดินออกไปได้เลย เพราะวันนี้คงจะต้องมีการลงมติกัน ประเทศนี้เราใช้ระบบประชาธิปไตย รวมถึงอยากให้ประธานควบคุมการประชุมด้วย
ขณะที่มงคล วินิจฉัยว่า ในวันที่ 30 พฤษภาคมที่ผ่านมาที่ประชุมวุฒิสภาได้พิจารณาญัตติของนายเทวฤทธิ์ มณีฉาย สว. เกี่ยวกับการชะลอการทำหน้าที่ให้ความเห็นชอบของวุฒิสภา ซึ่งเราได้อภิปรายกันไปแล้ว คิดว่าในการดำเนินการวันนี้จึงจะเป็นไปตามมติที่ประชุมคือขอให้หยุดเรื่องนี้ได้แล้ว
ทำให้ นันทนา ใช้สิทธิ์พาดพิงว่า “ท่านไม่มีสิทธิ์ไล่ดิฉันออกจากห้องประชุม ดิฉันมีสิทธิ์ที่จะอภิปรายในตรงนี้ในฐานะผู้รับใช้ประชาชน และประชาชนจะเป็นไล่คนที่ไม่มีความเหมาะสม คนที่ไม่ทำหน้าที่เพื่อประชาชน ดิฉันต้องพูดเรื่องนี้ซ้ำเพราะท่านยังทำหน้าที่ตรงอยู่ ซึ่งดิฉันจะไม่ร่วมลงมติตรงนี้แน่นอน และขอเรียกร้องจิตสำนึกที่มีอยู่สูงกว่ากฎหมา่ยว่าท่านมีหรือไม่ ท่านพยายามที่จะรักษาผลประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ หรือท่านกำลังทำเพื่อผลโยชน์ของตัวท่านและกลุ่มของท่าน อย่าใช้วาจาเช่นนี้" จากนั้น มงคลวินิจฉัยให้จบเรื่องนี้ ก่อนจะเข้าสู่วาระการประชุมลับ