‘ออนซอนอีสาน’ รถไฟขบวนพิเศษ ‘SRT Royal Blossom’ หนุนเศรษฐกิจชุมชน

30 มี.ค. 2568 - 04:05

  • รถไฟขบวนพิเศษ ‘SRT Royal Blossom’ พาท่องเที่ยวอีสานตอนบน ภายใต้แนวคิด “ออนซอนอีสาน สำราญวิถี”

  • นำนักท่องเที่ยวเข้ากราบไหว้สักการะหลวงพ่อพระใส พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองหนองคาย

  • พร้อมชมความสวยงามทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขง ที่ตลาดท่าเสด็จ เลือกชิม และช้อปของที่ระลึกช่วยเศรษฐกิจชุมชน

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Hero_5d35ba274c.jpg

รถไฟขบวนพิเศษ ‘SRT Royal Blossom’ ขอนแก่น-หนองคาย  รถไฟเพื่อการท่องเที่ยวอีสานตอนบน ภายใต้แนวคิด “ออนซอนอีสาน สำราญวิถี”  เริ่มต้นรับผู้โดยสารที่จังหวัดขอนแก่น เดินทางไปลงที่สถานีรถไฟห้วยสามพาด นั่งเรือเที่ยวชมทะเลบัวแดง อำเภอกุมภวาปี จังหวัดอุดรธานี  หนึ่งใน Unseen Thailand 

จากนั้นเดินทางต่อไปที่สถานีปลายทาง จังหวัดหนองคาย นำนักท่องเที่ยวเข้ากราบไหว้สักการะหลวงพ่อพระใส ที่วัดโพธิ์ชัย พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์คู่บ้านคู่เมืองของชาวหนองคายเพื่อความเป็นสิริมงคล พร้อมชมความสวยงามของทิวทัศน์ริมแม่น้ำโขง ที่ตลาดท่าเสด็จ อำเภอเมืองหนองคาย เลือกชิม และช้อป ของที่ระลึกจากชุมชนก่อนเดินทางกลับ

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo04_260ab16dfb.jpg
Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo08_b26142bf0b.jpg

ศ.ดร.นพพร ลีปรีชานนท์ รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)  กล่าวว่า การท่องเที่ยวในภูมิภาคอีสานด้วยรถไฟขบวน SRT Royal Blossom นี้ เป็นหนึ่งในโครงการงานวิจัยการท่องเที่ยวโดยรถไฟสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์และส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม โดย สกสว. ซึ่งมีหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ  เป็นผู้สนับสนุนด้านทุนวิจัย 

“แนวคิดการท่องเที่ยวทางรถไฟนี้มีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ ทั้งด้านเศรษฐกิจ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการสร้างเครือข่ายทั้งองค์กรรัฐและเอกชน โดยโมเดลนี้ได้ดำเนินการไปแล้วในภาคเหนือ และภาคใต้ กระทั่งมาต่อที่เส้นทางภาคอีสาน ถือว่าได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างมาก”

“ในแง่ของการกระตุ้นเศรษฐกิจเชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยว เพราะเทรนด์ด้านการท่องเที่ยววิถีชีวิต เรียนรู้ชุมชนได้รับความสนใจมากขึ้น จึงเชื่อมไปยังวิธีคิดเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ เน้นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการหาประสบการณ์การท่องเที่ยวเกี่ยวกับวิถีชีวิตในชุมชม มีการเดินทางที่ปลอดภัย ทันสมัย และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม”

“ขณะที่ทางทีมวิจัยมีการเชื่อมโยงแนวความคิดเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งสอดรับกับนโยบายหนึ่งของรัฐบาล และตรงกับแผนงานหนุนเสริมการท่องเที่ยวสร้างสรรค์เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจลงสู่ชุมชน” ศ.ดร.นพพร กล่าว

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo02_994e60cdaa.jpg
Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo07_b88b17db59.jpg

การจับมือกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งการรถไฟแห่งประเทศไทย นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม  พร้อมทั้ง 25 ภาคีเครือข่าย ที่เข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัย ร่วมขับเคลื่อนพัฒนาเส้นทางและผลิตภัณฑ์ทางการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสาน ด้วยขบวนรถไฟพิเศษ SRT Royal Blossom นี้

ศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ แข็งแรง รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า สำหรับเส้นทางการท่อเที่ยวสายอีสานนี้ นักวิจัยได้ดำเนินการใน 2 เส้นทาง คืออีสานตอนบน จังหวัดอุดรธานี และหนองคาย ภายใต้แคมเปน “ออนซอนอีสานสำราญวิถี”  และอีสานตอนล่างภายใต้แนวคิด “ศรัทธา มนตราอีสาน” เส้นทางท่องเที่ยวใน 3 จังหวัดใหญ่ คือ อุบลราชธานี  บุรีรัมย์ และนครราชสีมา 

“โดยทุกเส้นทางมีจุดมุ่งหมายในการสนับสนุนการท่องเที่ยวในภูมิภาคอีสาน ด้วยการเชื่อมโยงประสบการณ์การเดินทางที่ทันสมัย สะดวกสบาย ปลอดภัยได้สัมผัสเสน่ห์ของวัฒนธรรมอีสาน ซึ่งการพัฒนาการท่องเที่ยวโดยรถไฟสายอีสานนี้ เชื่อว่าจะสามารถต่อยอดเส้นทางรถไฟท้องถิ่นสู่เส้นทางท่องเที่ยวที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและอนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานไปพร้อมกันด้วย”

ศ.ดร.อนงค์ฤทธิ์ กล่าวด้วยว่า นักวิจัยนำองค์ความรู้ทางวิชาการด้านการบริหารจัดการการท่องเที่ยว มาสร้างประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางให้กับนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ได้สัมผัสประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชาวอีสานบนเส้นทางรถไฟ 

“นอกจากนี้การเดินทางโดยรถไฟช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก อีกทั้งสอดคล้องกับนโยบายการปรับปรุงการบริการและเพิ่มจำนวนผู้โดยสารของการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยมุ่งพัฒนาเส้นทางท่องเที่ยวทางรถไฟให้ครอบคลุมทุกภูมิภาค พร้อมทั้งเชื่อมโยงจากเมืองหลักสู่เมืองรอง เกิดการกระจายรายได้อย่างทั่วถึงและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างแท้จริง พร้อมกับตั้งเป้าในอนาคตมีแผนเชื่อมเส้นทางการท่องเที่ยวทั้ง 3 ภาคด้วยกัน คือ เหนือ อีสาน และใต้ ให้ครอบคลุมทั้งประเทศ”

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo03_09a3c76a33.jpg
Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo10_36b991922b.jpg

ด้าน เชฟคำนาง-ณัฏฐภรณ์ คมจิต ชาวขอนแก่นที่ได้ร่วมเดินทางไปในทริปนี้ มองว่า คนไทยคุ้นเคยกับการเดินทางด้วยรถไฟมานานแล้ว เพราะราคาประหยัด เมื่อการรถไฟพลิกโฉมออกแบบให้รถไฟขบวนพิเศษทำให้มีความแปลกใหม่ด้านการท่องเที่ยวมากขึ้น เชื่อว่านักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวที่สัมผัสวิถีชีวิต จะได้เห็นมุมมองในอีกรูปแบบของชาวอีสาน ของดี ผลิตภัณฑ์ที่ชาวบ้านในชุมชนสร้างสรรค์ขึ้น เชื่อว่าการท่องเที่ยวนี้จะรองรับเทรนด์การท่องเที่ยวชุมชนได้เป็นอย่างดี

“ที่สำคัญชาวบ้านเองได้พัฒนาศักยภาพของตัวเอง เปิดรับการท่องเที่ยวในอีกรูปแบบหนึ่ง ทำให้เกิดการเรียนรู้ มีการสร้างสรรค์ผลงาน ผลิตภัณฑ์ได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพ ตรงกับความสามารถของชาวบ้าน และตรงกับความต้องการของนักท่องเที่ยว เป็นขบวนที่มีการปรับโฉมอย่างแท้จริงเหมาะกับการเดินทางท่องเที่ยว เพราะได้รับความสะดวกสบาย ความปลอดภัยจากการเดินทาง ซึ่งมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ”

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo01_685f66ce46.jpg
Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo06_3c01ad9c42.jpg

สำหรับความเป็นมาของรถไฟขบวนพิเศษนี้ สัญลักษณ์ดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำรัชกาลที่ 10 ต้องการสื่อให้เห็นถึงยุคเบ่งบานของการรถไฟ เป็นที่มาของชื่อขบวนรถไฟพิเศษ SRT Royal Blossom ซึ่งได้รับการพัฒนาจาก JR-Hamanasu เมืองฮอกไกโด ประเทศญี่ปุ่น 

โดยการรถไฟแห่งประเทศไทย ร่วมกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบต่อยอดใหม่ จากเดิมที่มีความหมายว่า “กุหลาบป่า” แปลงโฉมเป็นดอกชัยพฤกษ์ โดยการรถไฟออกแบบโลโก้ STATE RAILWAY OF THAILAND ROYAL BLOSSOM SINCE – 2022 คู่กับดอกราชพฤกษ์ วางบนหน้าปัดนาฬิกา ตัวเลขโรมัน และเข็มนาฬิกาชี้ไปที่ตัวเลข 13 เป็นการเปรียบเทียบถึงการเดินทางครั้งใหม่ของ Hamanasu จนเป็น SRT Royal Blossom   ขบวนรถไฟท่องเที่ยว ในธีมธรรมชาติ ให้ผู้โดยสารได้ชื่นชมกับวิวธรรมชาติ ป่า เขาระหว่างเดินทาง 

เอกลักษณ์เฉพาะของขบวนรถไฟท่องเที่ยว SRT Royal Blossom ถูกออกแบบปรับโฉมใหม่ ภายนอกโบกี้แต่งแต้มด้วยสีแดงเชอรี่คาดทอง เป็นสีของกลีบดอกไม้ ที่มีความสวยงาม ส่วนด้านหน้าและด้านข้างตัวรถจะมีสัญลักษณ์โลโก้ประจำรถ SRT Royal Blossom

การตกแต่งภายในตัวรถ ทำด้วยความพิถีพิถัน โดยทำเบาะหุ้มที่นั่งใหม่เป็นเบาะกำมะหยี่ เปลี่ยนผ้าม่านที่สามารถปรับระดับได้ เปลี่ยนหลอดไฟให้เป็นหลอด LED รวมถึงส่วนประกอบหลักของงานตกแต่งที่ทำจากไม้สนซีดาร์ เป็นเนื้อไม้ที่มีความสวยงามและทนทานต่อการใช้งาน การติดตั้งบันไดทางขึ้น-ลง ที่ใช้สำหรับรองรับชานชาลาสูงและต่ำ โดยใช้วัสดุจากไม้สักและขลิบด้วยทองเหลืองแท้ที่พับเก็บได้ ตลอดจนการออกแบบหน้าต่างพร้อมกรอบโลหะสีทอง ที่มีขนาดความกว้างพิเศษ สามารถชมวิวทิวทัศน์ได้กว้างกว่ารถโดยสารทั่วไป และยังติดตั้งเครื่องฟอกอากาศทุกตู้

มีห้องโดยสารประกอบด้วย ห้องโดยสารแบบกลุ่มส่วนตัว 4 ห้อง รองรับได้ห้องละ 4-6 คน ห้องโดยสารแบบรวม มีทั้งหมด 48 ที่นั่ง และรถเสบียง สำหรับให้บริการอาหารและเครื่องดื่ม เปลี่ยนห้องสุขาให้เป็นระบบสุญญากาศระบบเดียวกับเครื่องบิน เปลี่ยนถังเก็บน้ำให้มีขนาดใหญ่กว่าเดิม รวมถึงเปลี่ยนชุดหัวสูบถ่ายจากถังเก็บสิ่งปฏิกูลที่สามารถใช้ร่วมกับรถโดยสารอื่นได้

ที่ผ่านมาทางการรถไฟแห่งประเทศไทยได้ทดสอบเส้นทางระยะสั้น แบบวันเดย์ทริป-พักค้างคืน ในเส้นทางยอดนิยม เช่น กาญจนบุรี หัวหิน ฉะเชิงเทรา และ เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ รวมถึงให้บริการในช่วงเทศกาลสำคัญ หรือให้บริการเช่าเหมาขบวน แล้ว 

ประชาชนที่สนใจสามารถสอบถามเส้นทาง ตรวจสอบราคาค่าโดยสารได้ผ่านทางเว็บไซต์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย

Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo05_c3f98aace8.jpg
Touring_the_Northeast_with_the_SRT_Royal_Blossom_Special_Train_to_Support_Community_Economy_SPACEBAR_Photo09_d585c70e66.jpg
อ้างอิง

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์