จดหมายที่ใช้ถ้อยคำสุภาพชุดแรกถูกส่งไปยังญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย อินโดนีเซีย รวมถึงประเทศไทย และประเทศอื่นๆ แจ้งอัตราภาษี หลังไม่สามารถบรรลุข้อตกลงทางการค้ากับประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ก่อนกำหนดเส้นตาย 9 ก.ค.
เริ่มจากพันธมิตรในเอเชียตะวันออกอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ว่าสหรัฐฯ จะเก็บภาษีศุลกากร 25% โดยจะมีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค.นี้ หลังจากนั้นไม่นานก็ถึงคิวของประเทศในอาเซียน
สำหรับมาเลเซียและอินโดนีเซีย ซึ่งพยายามเจรจากับสหรัฐฯ อย่างเข้มข้นเพื่อให้บรรลุข้อตกลง ทรัมป์แจ้งว่าจะเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 25% และ 32% ตามลำดับ ไทย 36% ลาวและเมียนมา 40% ซึ่งสอดคล้องกับประกาศเมื่อเดือน เม.ย. ที่ทรัมป์เก็บภาษีหลายชาติในอาเซียนในอัตราสูงที่สุด
อัตราภาษีใหม่ของมาเลเซียและญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นนิดหน่อยจากเดิม 24% เป็น 25% ส่วนลาวและเมียนมาลดลงมาจากเดิม 48% และ 44% ตามลำดับ แต่จะเปลี่ยนแปลงจากสาเหตุใดทรัมป์ไม่ได้แจงรายละเอียดไว้
ที่เซอร์ไพรส์คือ กัมพูชา ที่สหรัฐฯ ตั้งกำแพงภาษีศุลกากร 36% ต่ำกว่าอัตราภาษีที่ประกาศรอบแรกซึ่งสูงถึง 49%
ส่วนสิงคโปร์ อินเดีย ไต้หวัน และอีกหลายๆ ประเทศยังไม่ได้รับจดหมายจากสหรัฐฯ
ตัวจดหมายซึ่งเนื้อความเหมือนกันทุกฉบับต่างกันเพียงชื่อประเทศและอัตราภาษีศุลกากร ยังระบุว่า พันธมิตรทางการค้าของสหรัฐฯ จะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรเฉพาะสินค้า (sectoral tariffs) เช่น รถยนต์ (25%) และเหล็กและอะลูมิเนียม (50%) ซึ่งจะกระทบกระเทือนต่อมหาอำนาจการผลิต เช่น จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ อย่างหนัก
นอกจากนี้ ยังเอ่ยถึงการเก็บภาษีศุลกากรในอัตราสูงขึ้นจากสินค้าจีนที่ส่งผ่านประเทศที่สามเข้าสหรัฐฯ เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีศุลกากร แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขที่แน่ชัด และยังสำทับว่าหากประเทศใดขึ้นภาษีศุลกากรหรือเก็บภาษีศุลกากรตอบโต้ในอัตราที่ถูกสหรัฐฯ เรียกเก็บ จากสินค้าของสหรัฐฯ สหรัฐฯ จะตอบโต้ด้วยภาษีศุลกากรในอัตราเดียวกัน
แม้ว่าทรัมป์จะเริ่มต้นจดหมายด้วยการเอ่ยถึงจุดแข็งของความสัมพันธ์ทางการค้า แต่ก็พูดถึงความไม่พอใจที่สหรัฐฯ ต้องเสียดุลการค้ามหาศาลติดต่อกันด้วย

ข้อความที่ทรัมป์ส่งถึงประเทศผู้รับ และประเทศที่ยังไม่ได้รับจดหมาย ชัดเจนมาก นั่นคือ คุณมีเวลา 3 สัปดาห์ในการบรรลุข้อตกลงก่อนที่อัตราภาษีศุลกากรที่สูงขึ้นจะบังคับใช้
แต่สไตล์การเจรจาต่อรองที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ก็ทำให้ทำเนียบขาวต้องแบกรับปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ เส้นตายต่อไปคือ วันที่ 1 ส.ค. จะถูกเลื่อนออกไปอีกหรือไม่?
วิลเลียม อลัน ไรน์ช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์และธุรกิจระหว่างประเทศจาก CSIS เผยกับ The Straits Times ว่า “นี่คือการฉายซ้ำ ทำให้เห็นถึงภัยคุกคาม ขยายเส้นตาย และหวังว่านั่นจะนำมาสู่ข้อตกลง”
ไรน์ชเผยอีกว่า นี่เป็นความพยายามผลักดันให้ประเทศต่างๆ ยอมอ่อนข้อให้มากขึ้น เนื่องจากสหรัฐฯ มองว่าจนถึงตอนนี้ประเทศเหล่านี้ยังอ่อนข้อให้สหรัฐฯ ไม่มากพอ
“คำถามที่ชัดเจนคือ วันที่ 1 ส.ค.ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ และยังไม่มีข้อตกลง ทรัมป์จะขยายเส้นตายอีกครั้งหรือไม่ และอาจจะเพิ่มภาษีศุลกากร หรือจะบังคับใช้ภาษีศุลกากรจริงจัง” ไรน์ชเผย
Photo by Brendan SMIALOWSKI / POOL / AFP