เจาะที่มา ‘Tung Tung Tung Sahur มีมติดฮาจากแก๊ง Italian Brainrot ที่เชื่อมโยงกับศาสนาอิสลาม

17 พ.ค. 2568 - 08:01

  • ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีนาฬิกาไว้บอกเวลาชาวมุสลิมจะใช้วิธีการรัวกลอง เบดุก (Bedug) แล้วตะโกนว่า ‘ซะฮูร์’ เพื่อให้ทุกคนตื่นขึ้นมารับประทานอาหารก่อนที่จะเข้าช่วงถือศีลอด

  • เจ้า ‘Tung Tung Tung Sahur’ ปรากฏตัวครั้งแรกบน TikTok เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ในคลิปที่สร้างโดย @noxaasht

ใครที่เล่น TikTok คงเคยได้ยินเสียงร้องที่ว่า “ทุง ทุง ทุง ซะฮูร์” ที่มาพร้อมกับภาพของเจ้าขอนไม้ที่มีใบหน้าคล้ายกับคน มีแขนขาและในมือถือไม้เบสบอลไว้ มันอาจจะดูตลก ดูเป็นมีมฮา แต่จริงๆ แล้วเจ้าตัวนี้มีความหมายที่สอดคล้องกับศาสนาอิสลาม 

ในทุกๆ ปีชาวมุสลิมจะมีประเพณีถือศีลอดในช่วงเดือนรอมฎอน โดยในขณะที่ถือศีลอดนั้นจะกินอาหารได้หลังจากที่พระอาทิตย์ตกดินแล้วเท่านั้น และมื้อสุดท้ายก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงอดอาหารในแต่ละวันเรียกว่า ‘ซะฮูร์’ หรือมื้ออาหารก่อนรุ่งสางนั่นเอง 

ในสมัยก่อนที่ยังไม่มีนาฬิกาไว้บอกเวลาชาวมุสลิมจะใช้วิธีการรัวกลอง เบดุก (bedug) แล้วตะโกนว่า ‘ซะฮูร์’ เพื่อให้ทุกคนตื่นขึ้นมารับประทานอาหารก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงถือศีลอด 

ตอนนี้เราก็ทราบที่มาของเสียง “ทุง ทุง ทุง ซะฮูร์” จากที่ได้ยินในโลกโซเชียลกันแล้ว เพิ่มเติมอีกนิดว่าประโยคนี้เป็นภาษาอินโดนีเซียหรือมลายู 

เจ้า ‘Tung Tung Tung Sahur’ ปรากฏตัวครั้งแรกบน TikTok เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2025 ในคลิปที่สร้างโดย @noxaasht ซึ่งใช้ภาพ AI ของเจ้าขอนไม้กลมๆ ดวงตากลมโต ในมือถือไม้เบสบอลพร้อมเสียงพากย์ภาษามลายูที่กล่าวคำว่า “Tung tung tung sahur…” ตามด้วยเส้นเรื่องว่าหากใครถูกเรียกสามครั้งแล้วยังไม่ยอมตื่นเจ้าขอนไม้นี้จะตามไปหาถึงบ้านทันที ปัจจุบันคลิปนี้มียอดวิวกว่า 88 ล้านครั้งและยังทำให้เกิดกระแส Brainrot บนโซเชียลมีเดียอย่างรวดเร็วด้วย 

จากวิถีปฏิบัติของชาวมุสลิมผสมผสานกับความหลอนเล็กๆ กลายเป็นมีมขำๆ ที่เชื่อมโยงกับวัฒนธรรมอิสลาม ความสนุกอีกอย่างคือหลายคนหยิบเสียงต้นฉบับไปรีมิกซ์เป็นจังหวะต่างๆ หรือดัดแปลงเป็นแผ่นเสียงตลกๆ ใน Instagram และ TikTok กันมากมาย 

นอกจากคลิปสั้นและแผ่นเสียงที่นำไปเล่นในโซเชียลฯ แล้วยังมีการสร้างสรรค์เนื้อหาใหม่ๆ ให้เจ้าขอนไม้นี้ในรูปแบบเกมมือถือ “Hantu Tung Tung Tung Sahur 3D” บน Google Play ซึ่งผู้เล่นต้องพยายามตื่นมาให้ทันซะฮูร์เพื่อจะได้ไม่ถูกตามล่าในฝัน และมีการสร้างสติกเกอร์รวมไปถึงฟิลเตอร์ให้ผู้เล่นใช้ตกแต่งใบหน้ากับกราฟิกของเจ้าขอนไม้จนกลายเป็นมีมที่แมสมากๆ ในกลุ่มคนรุ่นใหม่ 

หากมองให้ลึกลงไป ‘Tung Tung Tung Sahur’ ไม่ได้เป็นแค่มีมตลกขำขันแต่ยังสะท้อนถึงการผสมผสานระหว่างประเพณีรอมฎอนกับกระแส AI Meme ของคน Gen Z ได้อย่างลงตัว แม้จะเป็นการหยิบยกมาสร้างสีสันแต่ก็ยังรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรมไว้ได้้ จึงไม่แปลกที่กระแสนี้จะยืนยาวและขยายตัวไปสู่แฟนอาร์ตหรือแม้แต่สินค้าลิมิเต็ดอิดิชันที่วางขายในโซเชียลมีเดียต่างๆ  

เรื่องเด่นประจำสัปดาห์