ประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งเมียนมาที่ต้องเผชิญทั้งสงครามกลางเมืองและแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ และประเทศแอฟริกันอีกหลายประเทศ คือกลุ่มคู่ค้าที่ต้องเจออัตราภาษีสูงที่สุดจากประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐฯ
นับว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงนโยบายการค้าของสหรัฐฯ ที่มีมายาวนานหลายสิบปีและสุ่มเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดสงครามการค้าโลก เมื่อทรัมป์ประกาศมาตรการภาษีครั้งใหญ่วันพุธที่ผ่านมาตามเวลาท้องถิ่นสหรัฐฯ ซึ่งเจ้าตัวบอกว่าออกแบบมาเพื่อไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ “ถูกโกง” อีกต่อไป
“นี่คือวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่ง ในความเห็นผม ในประวัติศาสตร์อเมริกัน เป็นวันประกาศอิสรภาพทางเศรษฐกิจของเรา”
— โดนัลด์ ทรัมป์
ทรัมป์ยังเรียกวันนี้ว่า “วันปลดแอก” แต่นโยบายภาษีนี้กลับต้องเผชิญเสียงคัดค้านจากบางประเทศที่มีเศรษฐกิจอ่อนแอที่สุด ผู้เชี่ยวชาญรายหนึ่งถึงกับบอกว่า ทรัมป์น่าจะพุ่งเป้าไปที่ประเทศที่ได้รับเงินลงทุนจากจีนมากกว่าจะคำนึงถึงสถานการณ์ในประเทศนั้นๆ
ภาษีศุลกากรครั้งนี้เกิดขึ้นในขณะที่หลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังระส่ำจากการปิดหน่วยงานให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยชนอย่าง USAID
กัมพูชา ซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากร 17.8% อยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน ตามข้อมูลของธนาคารเพื่อการพัฒนาเอเชีย (ADB) คือประเทศที่เจอภาษีหนักสุดในบรรดาประเทศอาเซียนด้วยกัน (49%)
รองลงมาจากกัมพูชาคือ ลาว ที่ถูกสหรัฐฯ ถล่มอย่างหนักในช่วงสงครามเย็น ถูกทรัมป์เรียกเก็บภาษีศุลกากรในอัตรา 48% และจากข้อมูลของ ADB ลาวมีอัตราความยากจนอยู่ที่ 18.3%
ที่ไม่ทิ้งห่างกันมากคือ เวียดนาม ถูกเรียกเก็บ 46% และเมียนมา ถูกเรียกเก็บ 44% ทั้งที่กำลังเผชิญกับแผ่นดินไหวและสงครามกลางเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่หลังรัฐประหารปี 2021
อินโดนีเซีย ประเทศที่เศรษฐกิจใหญ่สุดในอาเซียนเจอภาษีศุลกากรในอัตรา 32% ขณะที่ประเทศไทย ประเทศเศรษฐกิจอันดับ 2 ในภูมิภาค ถูกเรียกเก็บ 36%
คู่แข่งสำคัญและคู้ค่าของสหรัฐฯ อย่างจีนถูกเรียกเก็บภาษีตอบโต้ 34% นอกเหนือจากภาษี 20% ที่ทรัมป์ประกาศมาก่อนหน้านี้
รัสเซียไม่อยู่ในรายชื่อประเทศที่จะถูกเรียกเก็บภาษีของทำเนียบขาว โดย สกอตต์ เบสเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้เหตุผลว่า รัสเซียไม่ได้ทำการค้ากับสหรัฐฯ จีงไม่อยู่ในรายชื่อดังกล่าว
“เราไม่ได้ค้าขายกับรัสเซียและเบลารุส ถูกมั้ย? เพราะพวกเขาถูกคว่ำบาตร” เบสเซ็นต์ระบุ และยอมรับว่าอัตราภาษีของบางประเทศ อาทิ จีน สูงกว่าที่คาดไว้ แต่ก็ระบุว่า อัตราภาษีเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการเจรจา
“คำแนะนำของผมคือ อย่าตอบโต้ นั่งลง แล้วยอมรับมัน แล้วมาดูกันว่ามันจะเป็นอย่างไร เพราะถ้าคุณตอบโต้ สถานการณ์จะยิ่งบานปลาย หากคุณไม่ตอบโต้ นี่คือระดับที่สูงที่สุดแล้ว”
— สกอตต์ เบสเซ็นต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังสหรัฐฯ
ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute ในสิงคโปร์เผยว่า จริงๆ แล้วภาษีศุลกากรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างความเสียหายให้จีน
“สิ่งที่ฝ่ายบริหารคิดคือ การพุ่งเป้าไปที่ประเทศเหล่านี้จะทำให้พวกเขาพุ่งเป้าไปที่การลงทุนของจีนในกัมพูชา ลาว เมียนมา อินโดนีเซีย การพุ่งเป้าไปที่สินค้าของประเทศเหล่านี้อาจกระทบกับการส่งออกและเศรษฐกิจของจีน เป้าหมายที่แท้จริงคือจีน แต่ผลกระทบจริงๆ ต่อประเทศเหล่านี้ค่อนข้างสำคัญ เพราะการลงทุนนี้สร้างงานและรายได้จากการส่งออก”
— ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute
เนการากล่าวว่า การเก็บภาษีศุลกากรจากอินโดนีเซียจะส่งผลเสียต่อสหรัฐฯ และรายละเอียดว่าสหรัฐฯ จะบังคับใช้อย่างไรยังไม่ชัดเจน
Quote “(บริษัท) เสื้อผ้าและรองเท้าบางแห่งเป็นแบรนด์สินค้าของสหรัฐฯ อย่าง Nike หรือ Adidas เป็นแบรนด์สัญชาติอเมริกันที่มีโรงงานในอินโดนีเซีย พวกเขาจะต้องเผชิญกับภาษีศุลกากรแบบเดียวกันนี้ด้วยหรือไม่?” ศิวัศ ธรรมะ เนการา นักวิจัยจากสถาบัน ISEAS-Yusof Ishak Institute
ประเทศอื่นๆ ที่ต้องเจออัตราภาษีสูงๆ คือ บรรดาประเทศในแอฟริกา รวมทั้งเลโซโท ประเทศที่ทรัมป์พูดเมื่อเดือนก่อนว่า “ไม่มีใครเคยได้ยินชื่อมาก่อน” ถูกเรียกเก็บในอัตรา 50% มาดากัสการ์ 47% และบอสวานา 37% ประเทศเลโซโทซึ่งเป็นประเทศเล็กๆ ท่ามกลางหุบเขาที่ล้อมรอบด้วยแอฟริกาใต้ มีอัตราการติดเชื้อเอชไอวีสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก โดยผู้ใหญ่เกือบ 1 ใน 4 มีผลเลือดเป็นบวก
ในเอเชียใต้ ศรีลังกาถูกเรียกเก็บ 44% ในยุโรป เซอร์เบียถูกเรียกเก็บ 37%
นอกเหนือจากภาษีตอบโต้สูงๆ ที่ทรัมป์เรียกเก็บจากบางประเทศแล้ว สหรัฐฯ ยังตั้งอัตราภาษีแบบครอบจักรวาลสำหรับสินค้านำเข้าทุกชนิด 10% ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 เม.ย. ส่วนภาษีตอบโต้จะมีผลในวันที่ 9 เม.ย.นี้
ทรัมป์บอกว่าอัตราภาษีเหล่านี้เป็นการตอบโต้ประเทศที่ “โกง” สหรัฐฯ มายาวนาน และว่าภาษีใหม่นี้จะทำให้การจ้างงานกลับมาที่สหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี นักเศรษฐศาสตร์เตือนว่า การเก็บภาษีแบบหว่านไปทั่วนี้จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น กระทบการจ้างงาน ทำให้เศรษฐกิจเติบโตช้า และแยกสหรัฐฯ ออกจากระบบการค้าโลกที่ตัวเองก่อตั้งขึ้นมา และจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกหลายทศวรรษ
“นี่คือวิธีที่คุณทำลายเครื่องยนต์เศรษฐกิจของโลกในขณะที่อ้างว่ามันกำลังขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจก้าวไปข้างหน้า” ไนเจล กรีน ซีอีโอ deVere Group บริษัทที่ปรึกษาด้านการเงินระดับโลกกล่าว “ความจริงนั้นชัดเจนมาก ภาษีศุลกากรเหล่านี้จะดันให้ราคาสินค้าในชีวิตประจำวันหลายพันรายการสูงขึ้น ตั้งแต่โทรศัพท์ไปจนถึงอาหาร และนั่นจะกระตุ้นให้ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้นในช่วงเวลาที่ภาวะเงินเฟ้อพุ่งสูงอย่างต่อเนื่องจนไม่สบายใจอยู่แล้ว”
Photo by Brendan SMIALOWSKI / AFP